มองสัตว์ป่าด้วยตา โดยผ่านหัวใจ : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

มองสัตว์ป่าด้วยตา โดยผ่านหัวใจ : ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

บ่ายวันที่ 30 สิงหาคม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ใบไม้เต้นรำท่ามกลางสายฝน

เราหลบความเปียกจากฟ้าอยู่ในอาคารมรดกโลก ห้องจัดแสดงเรื่องราวความสำคัญของผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย กับพี่เชน ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ชายวัยกลางคนผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของสัตว์ป่าผ่านเลนส์มากว่า 20 ปี

เรานัดให้พี่เชนช่วยบรรยายเรื่องความสำคัญของสัตว์ป่าต่อระบบนิเวศ และประสบการณ์ของการเป็นช่างภาพสัตว์ป่าแก่กลุ่มอาสาสมัครช่วยงานรำลึก 24 ปี สืบ นาคะเสถียร จากนิตยสาร a day

ก่อนการสนทนาจะเริ่ม พี่เชนออกตัวว่าเป็นคนคุยไม่เก่ง… “ถ้าผมรู้ว่าทำอาชีพนี้แล้วต้องมาบรรยายต่อหน้าคนเยอะๆ ผมคงไม่มาทำแน่ๆ”

แต่เมื่อถึงเวลาต้องพูด พี่เชนกลับเป็นคนที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุก ทุกเรื่องเล่าแฝงด้วยแง่คิด และความจริงใจต่อหน้าที่การงาน ยิ่งเมื่อพูดถึงสัตว์ป่า พี่เชนดูจะจริงจังเป็นพิเศษ

“ผมทำงานมา 20 กว่าปี เดินทางไปในหลายๆ พื้นที่อนุรักษ์ มันทำให้ผมรู้สึกว่าได้เป็นพวกเดียวกับสัตว์ป่า”

ช่วงภาพสัตว์ป่าบอกว่าเขารู้สึกอย่างนั้น…

 

 

วัตรปฏิบัติของช่างภาพสัตว์ป่า

 

“ในทุกวันผมจะตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ออกเดินเท้าจากแคมป์ประมาณ 40 นาทีไปยังจุดบังไพร แล้วก็รอถ่ายภาพสัตว์จนค่ำแล้วค่อยกลับไปที่แคมป์”

“ระหว่างที่รอเราต้องไม่ให้สัตว์ป่าเห็นตัวของเรา ต้องทำให้เขาไม่รู้ว่าเราอยู่ที่นั่น ถึงแม้ว่าเราจะบังตัวเองแล้ว แต่เราก็ต้องระวังเรื่องกลิ่น เพราะสัตว์ป่าทุกชนิดจะใช้จมูกในการระวังภัย”

“สิ่งสำคัญในการซ่อนตัวไม่ใช่แค่ให้ถ่ายภาพได้ แต่ต้องให้สัตว์ป่าได้ใช้ชีวิตตามแบบของเขา ถ้าเราทำให้เขาตื่นตกใจระหว่างเดินลงมากินโป่งจนเขาวิ่งหนีเรา มันไม่ใช่แค่ว่าเราถ่ายภาพไม่ได้ แต่ยังหมายความว่าเขาจะไม่ได้กินอาหารเช่นกัน”

“ความยากของการเป็นช่างภาพสัตว์ป่ามันอยู่ที่เราไม่สามารถจัดท่าทางของสัตว์ป่าได้ เราไม่สามารถบอกให้สัตว์ป่าหันมาทางนี้นะ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะยากไปเสียทั้งหมด สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักเรียนรู้ชีวิตของสัตว์ป่า ต้องเข้าใจในรูปแบบการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าแต่ละชนิดเสียก่อน”

“อีกอย่างคือต้องอยู่ในป่าให้ได้ ต้องทนยุง ทนทาก จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความต้องทน แต่มันเป็นอาชีพที่เราทำ ชีวิตผมก็เหมือนกับคนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในเมือง ต่างก็เพียงแต่ว่าห้องที่ผมใช้ทำงานมันกว้างกว่าเท่านั้นเอง ห้องน้ำก็กว้างกว่า อยู่ในป่ารถก็ติดเหมือนกัน (หมายถึงการติดหล่มโคลน) รถเสียต้องเดินแบกอะไหล่มาซ่อม ไม่ได้สบายกว่าคนกรุงเทพ ดูเหมือนว่าเราจะอิสระแต่จริงๆ ไม่ใช่หรอก”

“ระหว่างที่เรานั่งอยู่ในบรายแคบๆ มันทำให้ตัวกับใจของเราอยู่ด้วยกัน คุณจะไม่สามารถนั่งอยู่ในบรายแคบๆ ได้ ถ้ากายกับใจของคุณไม่อยู่ด้วยกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่การทำงานแบบผม ไม่ว่าทำอะไรก็ควรมีสมาธิกับสิ่งที่ตัวเองทำ คือตัวกับใจต้องอยู่ด้วยกัน”

 

การรอคอย

 

“ในแต่ละนาทีเราคาดไม่ได้หรอกว่า สัตว์ป่าตัวไหนจะโผล่มาทางไหน บางทีผ่านมาสองสามสัปดาห์ผมถ่ายอะไรไม่ได้เลยก็มี”

“ถ้าวันนี้ถ่ายรูปไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร กะเหรี่ยงที่เป็นคู่หูของผมในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรบอกผมว่า ถ้าวันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าเดือนนี้ผมถ่ายไม่ได้ ผมก็คิดว่าเดือนหน้าคงถ่ายได้”

“ถามว่าเสียดายกับเวลาที่เสียไประหว่างรอไหม ผมคิดว่าผมคงเสียดายมากกว่าถ้าไม่ได้ไปรอ มันคือโอกาสที่เราจะเสียไป”

“ครั้งที่ผมรอนานที่สุด คือตอนตามถ่ายควายป่าที่ห้วยขาแข้ง ผมใช้เวลาเกือบเดือนในการรอ รอตั้งแต่ต้นไผ่ยังไม่มีใบจนมีใบเขียวเต็มต้น แต่มันก็คุ้มค่ากับการรอ เพราะผมได้ภาพควายป่าเดินแถวลงมา และยังมีเสือโคร่งตามมาอีก”

“บางคนอาจคิดว่าผมใช้เวลาทำงานนาน มันก็จะนานถ้าเรามัวไปคิดว่าเมื่อไหร่มันจะค่ำหรือเมื่อไหร่จะเจอสัตว์ที่จะถ่าย ผมเลยคิดแค่ว่า อีก 5 นาทีข้างหน้าจะมีอะไรมา เหมือนเราขับรถไปแม่ฮ่องสอน ถ้าเริ่มดูป้ายแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ออกตัวก็จะเห็นว่าระยะทางมันตั้งกว่า 900 กิโลเมตร เราจะรู้สึกว่ามันไกลมาก แต่ถ้าดูแค่รังสิตก่อน มันแค่ 20 กิโลเมตรเอง แล้วก็ค่อยๆ ไป เดี๋ยวมันก็ถึง ถ้าไปนึกถึงเป้าหมายตั้งแต่ทีแรก จะรู้สึกว่ามันนานมาก ผมเลยนึกถึงที่ใกล้ๆ ก่อน”

 

กล้องฟิล์มกับกล้องดิจิตัล

 

“ทุกวันนี้เราถ่ายรูปเก่งหมด ความต่างของช่างภาพมันอยู่ที่มุมมอง ใครๆ ก็ถ่ายรูปสวย เอาโทรศัพท์มาถ่ายก็สวย”

“ผมเพิ่งเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิตัลเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่ใช่คนต่อต้านเทคโนโลยีอะไรทั้งนั้น แต่ผมว่ามันเป็นยุคของคน คนที่เกิดมาก็ต้องคิดว่ายุคของตัวเองมันดีที่สุด ผมเกิดมาในยุคของการใช้กล้องฟิล์มซึ่งมันพัฒนาไปจนจุดสุดยอด คุณภาพมันดีมากๆ แล้วจู่ๆ ระบบดิจิตัลก็เข้ามาทำร้ายจนผมจนมุมเพราะกระบวนการมันเป็นดิจิตัลหมดแล้ว ถ้าผมยังดันทุรังมาใช้ฟิล์มอยู่ก็จะไม่มีใครเขารับงานผม”

“การใช้กล้องฟิล์มก่อนที่คุณจะกดชัตเตอร์ คุณต้องแน่ใจทุกอย่างว่ามันเป็นภาพที่เราต้องการ แต่พอถ่ายด้วยกล้องดิจิตัล ถ้าภาพออกมาไม่ดีก็ลบแล้วถ่ายใหม่หรือเอาบางคนก็เอาไปแก้ในคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้มันทำให้ความเป็นช่างภาพมันหายไป”

“ทุกวันนี้ผมยังใช้โหมดแมนนวลอยู่ เพราะมันจำเป็นสำหรับคนที่จะเดินทางมาสายนี้ ผมยังเป็นคนใช้กล้องอยู่ ไม่ให้กล้องใช้ผม”

“ที่สุดแล้วผมอยากบอกว่า ไม่ว่าคุณใช้กล้องดิจิตัลหรือกล้องฟิล์ม กล้องเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่สาระสำคัญ เราไปยึดติดไม่ได้หรอก เพราะสาระมันอยู่ในสิ่งที่คุณถ่ายทอดออกมาต่างหาก”

 

คนกับสัตว์

 

“สิ่งที่ผมพยายามบอกผ่านภาพถ่าย คือ เราควรได้เห็นว่าสัตว์ป่ามีหน้าที่อะไร คนควรได้รู้จักสัตว์ป่าอย่างที่พวกเขาเป็น”

“มันไม่เหมือนเวลาเราไปสวนสัตว์ เราไม่รู้หรอกว่าเสือโคร่งทำหน้าที่อะไร นอกจากเห็นเขาเดินไปเดินมาอยู่ในกรง เราเห็นแค่การมีชีวิตของเสือ แต่เราไม่ได้เห็นการใช้ชีวิตของเสือ เราจะไม่รู้เลยว่าเสือมีหน้าที่อะไรในระบบนิเวศ”

“สัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลกับชีวิตของคนเมือง การรู้จักสัตว์ป่ามันเป็นสิ่งจำเป็น เพราะชีวิตสัตว์ป่าเป็นเรื่องเดียวกับชีวิตคน เพียงแต่สัตว์ป่าอยู่ในอีกสถานภาพหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับเราไปเจอคนต่างชาติต่างภาษาที่แตกต่างกับเรา เขาเป็นแบบหนึ่งเราเป็นอีกแบบหนึ่ง เราทั้งหมดต่างอยู่ในโลกเดียวกัน ไม่ได้อยู่คนละมิติ ไม่ได้อยู่คนละโลก สัตว์ป่าใช้น้ำใช้อากาศเหมือนกับมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์ทำก็มีผลต่อสัตว์ป่า”

 

คนใจสัตว์

 

“ผมทำงานมา 20 กว่าปี เดินทางไปในหลายๆ พื้นที่อนุรักษ์ มันทำให้ผมรู้สึกว่าได้เป็นพวกเดียวกับสัตว์ป่า” หลังพูดจบพี่เชนโชว์ภาพเสือโคร่งขึ้นบนสไลด์

“ผมอยากให้ลองดูเสือตัวนี้ดีๆ ลองมองไปที่ตาของเสือตัวนี้สิครับว่าทุกคนรู้สึกอย่างไรกับมัน …”

“เขากำลังมองมาที่เรา …”

“สัตว์ป่าพูดไม่ได้ แต่สื่อสารได้ด้วยแววตา ถ้าเรามองเข้าไปในแววตาเขาดีๆ เราจะเห็นว่ามันไม่ใช่เสือที่ทุกคนบอกว่ามันเป็นสัตว์ดุร้าย ดูตาเสือตัวนี้สิว่ามันจริงอย่างนั้นหรือ… มันจริงอย่างนั้นหรือ” เขาเน้นคำหนักแน่นในประโยคซ้ำสอง

“ในแววตาของเสือตัวนี้มันเป็นสัตว์ที่น่าสงสารมาก ถ้าเราใช้ใจมองให้ลึก เราจะรู้สึกว่ามันกำลังบอกเราว่า ช่วยผมด้วย ผมไม่มีกวางจะกิน ผมไม่มีบ้านจะอยู่”

“ตอนที่เรามองด้วยตาโดยผ่านหัวใจ เราจะเห็นทุกอย่าง”

 


สัมภาษณ์ ธารริน อดุลยานนท์
เรียบเรียง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
ภาพถ่าย วิศรุต ศรีอนุชิต