‘นิรุตต์ ท้าวโกษา’ นักอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ผู้ปวารณาตัวขอเป็นเด็กรักษ์ทุ่งจนวันตาย

‘นิรุตต์ ท้าวโกษา’ นักอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ผู้ปวารณาตัวขอเป็นเด็กรักษ์ทุ่งจนวันตาย

หากเปรียบงานวิชาการคือหัวใจขององค์ความรู้ กิจกรรมก็ถือเป็นงานที่ต้องลงมือลงแรงทำ เพื่อบ่มเพาะให้เกิดความเข้าใจหลักปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง ในสถาบันการศึกษามักจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน’ แตกแขนงออกมาเป็นชมรมต่าง ๆ ภายใต้เนื้อหาที่ผู้เรียนสนใจ 

ชมรมหรือกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงถูกตั้งขึ้น เพื่อสอดรับและผลักดันให้ผู้ที่มีความชื่นชอบเฉพาะด้านเข้ามาทำกิจกรรม ซึ่งกลายเป็นพื้นที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชั้นเลิศของนักอนุรักษ์ขั้นเริ่มต้น โดยชมรมเหล่านี้มักกระจายตัวอยู่ตามโรงเรียน สถาบันอาชีพ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย   

เด็กรักษ์ทุ่ง’ เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติท้องถิ่นในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เปรียบเสมือนแหล่งบ่มเพาะเยาวชน ที่สนใจศาสตร์แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบทบาทในการดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดมาเป็นเวลาร่วม 25 ปี  ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในลักษณะที่กลมเกลียวเสมือนพี่สอนน้อง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวน ‘นิรุตต์ ท้าวโกษา’ นักอนุรักษ์แห่งเมืองสามอ่าววัย 42 ปี มาสนทนาเรื่องราวของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยาการธรรมชาติท้องถิ่นในฐานะซีเนีย และความผูกพันอันโรแมนติกของเขากับระบบนิเวศในภูมิลำเนา จนปวารณาตัวขอเป็นเด็กรักษ์ทุ่งตลอดชีวิต

 

 

เด็กรักษ์ทุ่งคืออะไร

‘เด็กรักษ์ทุ่ง’ คือการรวมตัวของนักเรียนในโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ที่สนใจศึกษาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในอำเภอสามร้อยยอด ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เราได้ตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาในช่วงปี 2539 มีลักษณะเป็นชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่น โดยกลุ่มของเราจะมีสัญลักษณ์เป็นนกกระเต็นปักหลัก ซึ่งเป็นนกที่สื่อถึงการเรียนรู้ระบบนิเวศเฉพาะถิ่น เดิมทีก็มาจากการรวมกลุ่มดูนกของเด็กนักเรียน หลัง ๆ มันก็ขยายตัวขึ้นตามยุคสมัย เดี๋ยวนี้เราก็มีทั้งการเผยแพร่ความรู้เรื่องระบบนิเวศ  บางขณะเราก็มีหน้าที่เป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

อะไรคือประตูบานแรกที่ทำให้คุณได้เปิดเข้ามาทำความรู้จักกับเด็กรักษ์ทุ่ง

ย้อนกลับไปสมัยเข้าชมรมใหม่ ๆ ตอนนั้นอายุประมาณ 17 ปี ผมทำงานเป็นคนรับจ้างทั่วไป ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ช่วงนั้นพอทำงานเสร็จตอนเย็นก็มาเล่นกีฬาในโรงเรียนตามวิถีเด็กต่างจังหวัดทั่วไป แล้วอาจารย์ในโรงเรียนก็ชวนไปช่วยซ่อมจักรยานให้เด็ก ๆ ในกิจกรรมปั่นด้วยรักพิทักษ์ทุ่งสามร้อยยอด ผมเหมือนเป็นพี่เลี้ยง รถใครพังก็จะไปซ่อมให้ 

ต่อมาเมื่อผมก็เริ่มคลุกคลีกับเด็กนักเรียนโดยเริ่มต้นจากการดูนก เพราะน้อง ๆ ในชมรมชวนเราหัดดู ตอนนั้นเวลาเด็ก ๆ ไปดูนกแล้วไม่รู้จักก็จะมาถามอาจารย์ อาจารย์ก็จะบอกและขยายความให้ ซึ่งผมก็คิดว่าอาจารย์เท่มาก ใครถามก็ตอบได้ เลยไปขอความรู้กับแก ก็ได้หนังสือเล่มสีแดงเป็นคู่มือดูนกที่เขียนโดยรุ่งโรจน์ จุกมงคล

พอเริ่มเปิดหนังสือก็ได้เห็นนกป่าที่ไม่เคยเห็นมากมาย ผมก็รู้สึกแปลกใจว่า ไอ้นกพวกนี้ทำไมมันมีสีสันสวยจัง ในนี้โลกมีนกสีสวยขนาดนี้เลยเหรอ อาจารย์ก็ถามว่าชอบตัวไหนที่สุด ตอนนั้นตอบไปสองตัวคือ นกเขียวคราม กับนกพญาไฟ เพราะมันเป็นนกที่อยู่บนหน้าปกหนังสือ อาจารย์เขาก็เลยชวนไปช่วยทำค่ายดูนกที่บ้านกร่าง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ผมเลยตอบตกลงตรงนั้น เพราะอยากเห็นนกสองตัวนี้ 

 

เล่าประสบการณ์การออกทริปแรกที่ไปในฐานะนักศึกษาธรรมชาติให้ฟังหน่อย

เมื่อผมได้เดินทางไปบ้านกร่างแล้วต้องรอเวลาขึ้นตามระเบียบ พวกเราไปถึงกันเร็วต้องรอกันนานพอสมควรไม่รู้จะทำอะไร เด็กในชมรมก็เลยไปเอากล้องเทเลสโคป (Telescope) มาส่องกัน ด้วยความที่ผมเป็นนักล่าเก่า (มือหนังสติ๊ก) ผมจึงตาไวกับสิ่งมีชีวิต ก็เห็นนกดำ ๆ บินผ่านแว๊บไป จึงบอกให้น้อง ๆ ตั้งกล้อง เพราะผมใช้ไม่เป็นแต่รู้พิกัด พอมองส่องกล้องเข้าไปก็ตื่นเต้นมาก เฮ้ยนี่มันนกที่กูอยากเจอนี่หว่า ใช่ครับผมส่องนกครั้งแรก ผมเจอนกเขียวคราม และโชคดีมากที่วันสุดท้ายของทริป ผมก็ได้เจอนกพญาไฟ กลายเป็นภารกิจดูนกของผมลุล่วง 

อีกอย่างที่อยากพูดถึงคือความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ สมัยนั้นบ้านกร่างเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีทั้งนกนา ๆ ชนิด ต้นไม้ก็เยอะ ผมก็ไปเจอต้นไม้อีกกลุ่มที่ชอบมากคือกล้วยป่า ตอนนั้นเยอะมาก ปัจจุบันหายหมดแล้ว (หัวเราะ) 

 

พูดได้ว่าสิ่งที่ดึงดูดให้คุณเข้ามาเป็นเด็กในชมรมก็คือการดูนก

ใช่ครับ ซึ่งพอกลับจากป่าแก่งกระจาน เด็ก ๆ ในชมรมก็อินกับกิจกรรมดูนกมาก จึงเริ่มมีการวาดภาพนกมาอวดกัน ไอ้เรามันก็ไม่ได้เป็นเด็กนักเรียนแต่ก็อยากวาดได้อย่างเขา ก็ต้องมานั่งวาด ซ้ำ ๆ นกแบบเดิมวาดแบบเดิม ผมวาดเป็นสิบรอบ ภาพแรกตั้งใจจะวาดนกเขียวคราม แต่วาดออกมาเหมือนกล้วยโดนรถเหยียบ (หัวเราะ)  มันแบน ๆ ไม่มีมิติ ไม่มีองศา คิดในใจโอโห้ทำไมกูกระจอกขนาดนี้วะ แต่พอทำบ่อย ๆ ก็มีพัฒนาการขึ้น จากการทำซ้ำไปซ้ำมา เพราะผมมีเวลาว่างเยอะ สมัยนั้นบ้านผมไม่มีโทรทัศน์ ถ้าจะดูต้องไปบ้านเพื่อนก็เลยใช้เวลาตรงนั้นมานั่งวาดรูปนกกับน้อง ๆ ในชมรม หลัง ๆ เราก็เป็น จนวันนี้ก็ปั้นเป็นตัวได้แล้ว (ปัจจุบันนิรุตต์ได้สร้างประติมากรรมปูนปั้นรูปนกกระเต็นปักหลัก เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน)

 

แล้วทุ่งสามร้อยยอดมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่งอย่างไร

อย่างที่เล่า กลุ่มของเรามีทั้งกิจกรรมดูนกและวาดรูป ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ไปคือทุ่งสามร้อยยอดเพราะมันใกล้บ้าน มันคือแหล่งศึกษาธรรมชาติที่ใกล้ตัวมากที่สุด ชีวิตของพวกเราส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมค่ายธรรมชาติศึกษา หรือการเที่ยวเล่นทั่วไปก็อยู่ในทุ่งสามร้อยยอด ยิ่งช่วงหลังฝนตกนะ ทุก ๆ คนก็อยากจะไปทุ่งมาก เพราะน้ำจะท่วมทุ่ง พวกเราก็จะปั่นจักรยานเล่นกัน 

 

อะไรคือความสำคัญของทุ่งสามร้อยยอดในเชิงระบบนิเวศ 

ทุ่งสามร้อยยอดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืชมากมาย ในอดีตถูกเรียกว่าเป็นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันการดำรงชีพของผู้คนมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สภาพการเป็นทุ่งที่ต้องมีน้ำขึ้นน้ำลงตามฤดูกาล (ซึ่งมีน้ำแห้งบ้างในบางช่วง) ก็กลายเป็นสภาพบึงน้ำจืดที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งเกิดจากการปรับพื้นที่ตามเจตนาที่อยากพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่เปลี่ยนไป  ก็มีพืชสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่ ชนิดพันธุ์สัตว์ก็มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ปลาที่มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำ และชนิดพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว 

 

ระบบนิเวศยังมีการเปลี่ยนแปลงไป แล้วที่ผ่านมาเด็กรักษ์ทุ่งมียุคเปลี่ยนผ่านบ้างหรือเปล่า

กลุ่มเด็กรักษ์ทุ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่ออาจารย์ผู้ก่อตั้ง (นิรุตต์ขอไม่เอ่ยนาม) ต้องย้ายไปสอนที่อื่นเพราะปัญหาการเมืองภายในพื้นที่ ขอเท้าความก่อนว่า ในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอดยุคนั้น มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่กับชาวบ้านบางกลุ่มเข้าใจว่า กลุ่มของเราจะผลักดันให้พื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ และอาจทำให้พวกเขาต้องย้ายออกจากพื้นที่ โดยความที่เขาเข้าใจกันแบบนี้ ทำให้คนท้องถิ่นหลาย ๆ คนไม่พอใจอาจารย์ที่ปรึกษาเรา ทำให้แกต้องย้ายออกไป 

ส่งผลให้หลังจากนั้นกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่งไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษา เราจึงได้เชิญอาจารย์สุพจน์ สุขพัฒน์ (อาจารย์ที่ปรึกษาปัจจุบัน) เข้ามาดูแลแทน ซึ่งแกก็เป็นคนชอบธรรมชาติชอบต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ดูนกไม่เป็น แต่แกก็พบกับจุดเปลี่ยนในชีวิตกลายเป็นคนชอบดูนก เพราะเด็กชวนไปดูแกก็ไปดูจนชอบเหมือนผมตอนเข้ามาแรก ๆ 

 

จากวันนั้นพัฒนาการของคุณกับกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่งเป็นอย่างไร

พอเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็มีคนมาชวนพวกเราไปร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในงานก็จะมีซุ้มจากกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นหลาย ๆ ที่ ทางกุยบุรีเขาก็มีเด็กรักช้าง ทางอำเภอเมืองประจวบฯ เขาก็มีเด็กรักทะเลไทย กลุ่มเด็กรักษทุ่งเราก็ได้มีโอกาสเข้าร่วม โดยเราก็ไปเปิดซุ้มเรียนรู้เรื่องนกและแมลง คอยให้ข้อมูลผู้ที่สนใจ ตอนนั้นผมก็ได้เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับผู้ที่สนใจเรื่องนกและแมลง กลุ่มเราก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

หลังจากนั้นเราจึงจริงจังกับการดูนกมากขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ในทุ่งถี่ขึ้น จนรู้ว่าตรงไหนมีนกชนิดอะไรอยู่เยอะ ๆ ตรงไหนไปแล้วเจอตัวนี้แน่ ๆ จนนำมาสู่การจัดค่ายที่เราทำด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นลักษณะใครมีอะไรก็เอามากันเอง ในค่ายเราก็จะมีกระบวนการกลุ่ม การนันทนาการ การบรรยาย และศึกษาเรื่องระบบนิเวศท้องถิ่น 

โดยก่อนมีการจัดค่ายเราจะซักซ้อม และมีการทำกระบวนการกลุ่มล่วงหน้า เพื่อร่วมวางแผนกันว่า 3 คืน 4 วัน ข้างหน้าคุณจะนอนกันยังไง จะนอนเต๊นท์กันไหม ถ้าไม่มีก็เย็บกระสอบปุ๋ย ซึ่งมันก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราจะไป ถ้าไปทุ่งก็สบายหน่อยมีโรงเจ หรือบ้านพักอุทยานก็ขอเขานอนได้ สนุกที่สุดเลยคือเข้าค่ายช่วงหน้าฝน สำหรับเด็กยุคนั้นมันโคตรตื่นเต้นเลย มันเหมือนได้นอนกลางดินกินกลางทราย ทั้งหนาว ทั้งเปียก ต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เรารอดได้ มันเป็นสีสัน เด็ก ๆ ก็สนุก ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งความบันเทิง 

 

 

มองแล้วเหมือนเป็นรูปแบบงานอนุรักษ์ที่ใช้กิจกรรรมนำวิชาการหรือเปล่า

ผมมองว่ามันก็เป็นไปตามวัยของเด็ก กลุ่มเราจริง ๆ ก็ได้ทำหลายอย่าง ซึ่งมันก็คาบเกี่ยวสอดคล้องกับการทำงานวิจัยอยู่เหมือนกัน หลัง ๆ เราเริ่มสนใจสัตว์สปีชีย์อื่น ๆ ในพื้นที่มากขึ้น ช่วงปี 2557 เราก็หันมาศึกษาเรื่องเสือปลา ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ผมก็ให้เด็ก ๆ เริ่มต้นจากการเก็บตัวอย่างขี้เสือ วัดขนาดรอยเท้า ทำบันทึกร่องรอย เก็บข้อมูลพื้นที่แหล่งอาศัย แล้วเราก็ได้มีโอกาสเจอกันผู้คนที่มีศักยภาพด้านวิชาการมากขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นเด็กรักษ์ทุ่ง เราใช้งานอนุรักษ์นำหน้ากิจกรรมาโดยตลอด เราไม่เคยใช้งานวิจัยนำหน้า 

 

ทำไมอยู่ดี ๆ คุณถึงสนใจเสือปลา 

เสือปลาก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ผู้คนท้องถิ่นรู้จักกันมายาวนาน มักมีคำพูดมาตลอดว่าเสือโทงเทง เสือกระแบ้ จริง ๆ มันก็คือเสือปลา ซึ่งผมเริ่มศึกษามันจริงจัง เพราะเป็นความสนใจส่วนตัว อาจไม่ได้สนใจเสือปลาโดยตรง แต่อยากจะทำอะไรที่เหมือนในโทรทัศน์เขาทำ เพราะส่วนตัวชอบดูสารคดีสัตว์ป่า ซึ่งมันก็จะมีเรื่องราวการวิจัยของคนนู้นคนนี้ มันน่าทึ่งที่คุณจะเข้าไปติดตามชีวิตเขาได้อย่างละเอียดยิบเป็นเรื่องเป็นราว จนคุณสามารถรู้ถึงการดำเนินชีวิตของสัตว์ชนิดหนึ่งได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งถ้ามีโอกาสให้ได้ทำผมก็ทำ

หลัง ๆ มารู้สึกโคตรเหนื่อย กูไม่ทำซะดีกว่า (หัวเราะ) แต่มันเป็นความเหนื่อยที่สนุก เพราะเราทำไปเพื่อการอนุรักษ์ และมันก็กลายเป็นโอกาสที่จะพาเด็ก ๆ มาเรียนรู้ด้วย

 

แล้วความเป็นเด็กมีความได้เปรียบผู้ใหญ่เรื่องการทำงานอนุรักษ์อย่างไร

ผมมองว่าเด็กเขามีความสดใส มีพลังใจ และมีความบริสุทธิ์ ไปที่ไหนก็มีแต่คนเอ็นดูต่างจากผู้ใหญ่ ยิ่งด้วยความที่เราเป็นคนในพื้นที่และต้องทำงานกับชุมชน จึงรู้สึกว่าถ้าเราทำตัวเป็นนักวิจัยจ๋า มันไม่เวิร์กเท่าไหร่ คือเราไม่ได้ทำงานวิจัยนะ ผมใช้คำว่าเราทำงานอนุรักษ์ คือใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำงาน แต่ไม่เหมือนกับการทำงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ เพราะฉะนั้นมุมมองของส่วนนี้อาจจะต่างกัน 

เวลาเข้าพื้นที่เราสามารถเข้าไปเดินได้แบบไม่เขอะเขิน จากแทนที่เราจะไปเดินแค่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ หรือหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ก็สามารถเข้าไปเดินในพื้นที่ชาวบ้านได้ในนามคนที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์

 

คิดว่าการเข้าใจเรื่องบริบททางสังคมของชาวบ้านส่วนสำคัญกับการทำงานอนุรักษ์อย่างไร

เหมือนบางเรื่องมันต้องใช้ประสบการณ์สอนมันไม่มีในตำราให้อ่าน คุณรู้แหล่ะว่าขั้นตอนของเนื้องานคือการประสานงานต้องทำยังไง แต่เวลาเข้าไปในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่ เราต้องเข้าใจลักษณะทางสังคมความเป็นอยู่ในพื้นที่ด้วย เราต้องใช้คนในชุมชนนำหน้า เราได้พี่ป้าน้าอาเพิ่มขึ้น เราได้ชาวบ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ นี่คืออนิสงค์ที่เด็กรักษ์ทุ่งได้จากชุมชน เพราะผู้ใหญ่เขาก็อยากจะร่วมรักษาสิ่งดี ๆ ไว้ให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาต่อไป เสมือนเราได้แนวร่วมในการอนุรักษ์เพิ่มขึ้น

เวลามีการจัดเวทีพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกับชาวบ้าน ผมไม่เคยบอกใครเลยว่าผมเป็นนักอนุรักษ์  โดยเฉพาะเรื่องเสือปลา ชาวบ้านเขาก็เรียกเราว่า นักอนุรักษ์ ผมก็พยายามบอกว่าผมไม่ใช่นักอนุรักษ์นะ เพราะเราอยากให้เขามองอีกมุมว่าเราไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ เราคือคนตัวเล็ก ๆ ตัวเล็กที่สุด และสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวบ้านเขารู้มากกว่าเรา เขาคือครูของเราอีกทีหนึ่ง 

 

ผ่านมา 25 ปี แล้วบริบทของเด็กรักษ์ทุ่งต่างไปจากเดิมหรือเปล่า 

โชคดีอย่างหนึ่งที่เด็กรักษ์ทุ่งเป็นเด็กต้นทุนต่ำ เราไม่ได้มีต้นทุนสูง มันก็ไม่มีอะไรต้องเสียมาก ในส่วนของกิจกรรมเราก็มีให้ทำเยอะขึ้นตามกาลสมัย นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานจากภายนอกได้มองสามร้อยยอดมากขึ้นจากพวกเรา  แต่ก่อนเขามาโซนนี้ก็ไปมองทะเลหัวหิน มองช้างกุยบุรี มองสามอ่าวประจวบ จะโดดข้ามไปข้ามมามันเป็นเหมือนสามร้อยยอดเป็นแค่ทางผ่าน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีอะไรที่สำคัญบ้าง เรามีเลียงผา เรามีเสือปลา เรามีความหลากหลายทางระบบนิเวศที่ไม่เหมือนใคร

 

ในวันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วคิดว่า เทคโนโลยีมีผลต่อการทำงานอนุรักษ์ของเด็กท้องถิ่นหรือไม่

ผมมองในมุมมองของคนแก่นะ อินเทอร์เน็ตนั้นสร้างผลกระทบให้กับเด็กพอสมควร  สิ่งเหล่านี้มันไปลบความเป็นเด็กออกไป กิจกรรมยามว่างอื่น ๆ หายไป กลายเป็นภาพเด็กที่นั่งแต่เล่นเกมวัน ๆ ไม่ได้ลุกไปไหน บางครั้งหลาย ๆ คนมองข้ามสิ่งรอบข้างจนลืมไปว่าตัวเองเป็นใคร

แต่ก็ปฏิเสธเทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยให้เด็กเข้าถึงงานอนุรักษ์มากขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง ผมไม่ได้มองว่าสมาร์ตโฟนเป็นสิ่งไม่ดี อย่างน้อย ๆ เด็กอยากวาดรูปนกสักรูปก็ไม่ต้องไปรอแย่งหนังสือเล่มเดียวกันแล้ว คุณมีสมาร์ตโฟนคุณก็เปิดแบบดู  อนาคตผมก็มีความคิดที่อยากให้พวกเขาไปแข่งถ่ายรูปนกจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมันก็สอดคล้องกับแนวคิดการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

วันเวลาล่วงเลยมาจนกลายเป็นรุ่นใหญ่ คุณยังมีเวลาทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ อยู่หรือเปล่า

ผมก็ไปทำอยู่ตลอด เพราะครอบครัวของผมก็เป็นเด็กรักษ์ทุ่งกันทั้งบ้าน ตอนนี้หลัก ๆ ผมก็รับจ้างทั่วไป ทำงานก่อสร้างบ้าง แต่ผมก็ยังหากิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ทำเสมอ มันอาจเป็นเพราะเราไม่ได้ทำงานประจำ ดังนั้นเราสามารถเจียดเวลาส่วนตัวมาอยู่กับเด็ก ๆ ได้ บางครั้งมีกิจกรรมที่ตรงกับงานของเรา ถ้ามันสำคัญจริง ๆ เราก็ลาหยุดงานไปช่วยเลย (หัวเราะ) 

 

คิดว่าสามร้อยยอดให้อะไรกับคุณบ้าง

คำถามนี้จะทำน้ำตาผมจะไหลเหมือนกันนะ (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นพื้นที่แห่งชีวิตเพราะผมอยู่ที่นี่มาโดยตลอด มีบ้างที่เคยไปอยู่ที่อื่น แต่มันไม่เหมือนบ้านเรา มันมีทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่บึงน้ำจืด พื้นที่ชายฝั่ง ผมว่าสามร้อยยอดเป็นพื้นที่ที่หลากหลายทางระบบนิเวศ ผมนิยามว่ามันเป็นสถานที่ที่มีความมหัศจรรย์และน่าหลงไหล ผมรู้สึกว่าที่สุดแล้วเราไม่ต้องมีเงินทองล้นหลามมากมาย แต่ว่าเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย ๆ กับพื้นที่ที่เรารัก กับธรรมชาติที่สวยงาม

 

แล้วเมื่อไหร่จะถึงวันจบการศึกษาของนายนิรุตต์กับกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง

ผมมองว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่สร้างเด็กรักษ์ทุ่งขึ้นมา และชื่อของมันติดตัวผม ตั้งแต่ผมเข้าไปซ่อมจักรยานให้กับเด็ก เมื่อ 25 ปี ที่แล้ว ซึ่งมันยังคงติดตรึงในหัวใจของผมอยู่จนถึงทุกวันนี้ มันก็น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า นิรุตต์กับเด็กรักษุ์ทุ่งไม่สามารถแยกจากกันได้…ผมคงเป็นเด็กรักษ์ทุ่งตลอดไปจนวันตาย


ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ