ช้างเลี้ยงไทยวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ? ชวนคุยกับ นสพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม ถึงประเด็นที่ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการทรมานช้างติดอันดับ 2 ของเอเชีย

ช้างเลี้ยงไทยวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ? ชวนคุยกับ นสพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม ถึงประเด็นที่ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการทรมานช้างติดอันดับ 2 ของเอเชีย

ในปี 2017 ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีการใช้งานช้างอย่างหนักในสถานที่ท่องเที่ยวติดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยการจัดอันดับของ World Animal Protection (WAP) หรือองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เกณฑ์ในการชี้วัดของงานวิจัยชิ้นนี้แบ่งเป็นหลายส่วนด้วยกัน เช่น สภาพความเป็นอยู่ ความถี่ในการถูกใช้เพื่อการแสดง ระยะเวลาทำงาน สัตวบาล การล่ามโซ่ การปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว คุณภาพของอาหาร เป็นต้น

ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่าสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของช้างเลี้ยงไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำสุดรองจากอินเดีย ได้คะแนนต่ำสุดที่ 4.4 ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 คะแนนอยู่ที่ 4.6 ตามด้วยเนปาล 4.8 ศรีลังกา 4.9 และลาว 5.0 ส่วนประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุดในเรื่องสวัสดิภาพช้างท่องเที่ยวคือกัมพูชาที่ได้ 6.5 คะแนน จากช้างที่มีอยู่ 36 เชือก ในปางช้าง 4 แห่ง

จากประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนจึงสอบถามไปยังผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการช้างเลี้ยงและการจัดการปางช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถึงสิ่งที่เกริ่นมาข้างต้นนั้นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด

 

Photo Credit : www.onlinenewscm.com

หมอฉัตรโชติระบุว่า การจัดอันดับในครั้งนี้มาจากนักสวัสดิภาพหรือนักสิทธิสัตว์ การประเมินถูกประเมินจากการเริ่มต้นในรูปแบบที่ว่าปางไหนใช้ขอ ใช้โซ่ ปางนั้นถือว่ามีการดูแลช้างที่แย่ ข้อมูลบางอย่างไม่ได้อิงจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเพียงการตั้งแง่ด้านความรู้สึกของนักสิทธิสัตว์เท่านั้น

“ตอนนี้ที่ตัดสินกันไปเรียบร้อยแล้วก็คือตัดสินจากความรู้สึกไม่ได้ตัดสินจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากฝั่งนักสิทธิสัตว์ เช่น การขี่ช้าง การใช้ช้าง จะทำให้หลังช้าง กระดูกช้าง โครงสร้างของช้าง ได้รับอันตราย เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขี่ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ทางคณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยออกมาชัดเจน เช่น ในเรื่องของความเครียด ช้างที่นำมาใช้งานโดยเฉพาะช้างที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดู ถ้ามีการให้ขี่หรือออกไปเดินเล่น ออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น สุขภาพช้างจะดีกว่าเมื่อเทียบกับช้างที่ถูกนำมาเลี้ยงแต่ไม่ได้ใช้งาน

การปล่อยช้างให้อยู่เฉย ๆ เพื่อให้คนมาดูแล้วก็ป้อนอาหาร เราพบว่าช้างเหล่านี้จะอ้วนและมีสุขภาพที่แย่ในระยะยาว ช้างจะมีลักษณะเหมือนคน คือค่าไตรกีเซอร์ไร คอลเลสเตอรอล ค่าน้ำตาล ค่าไขมันในเลือดพวกนี้สูงหมดเลย ในขณะที่ช้างที่ออกกำลังกาย เดิน พาแขกไปอะไรพวกนี้จะมีสุขภาพที่ดี อันนี้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เราพิสูจน์มาหักล้างทฤษฎีจากความรู้สึก”

งานวิจัยระบุว่าช้างสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 600 กิโลกรัม ส่วนการใช้ขอ ใช้โซ่ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากช้างแต่ละเชือกมีนิสัยต่างกันจึงต้องมีการฝึกและควบคุมให้ช้างเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกับคนได้

 

Photo Credit : Center of Elephant and Wildlife Research

“ส่วนการรับน้ำหนักนั้นตอนนี้มีงานวิจัยออกมาเรียบร้อยแล้วว่าม้าสามารถรับน้ำหนักได้ 20-29 เปอร์เซ็นต์ สมมติน้ำหนัก 600 กิโลกรัม ม้าจะสามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม ถ้าช้างหนัก 3000 กิโลกรัม หากคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักทั้งหมด ช้างจะสามารถรับน้ำหนักมากถึง 600 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันเวลาเขาขี่ช้าง น้ำหนักของควาญช้างและนักท่องเที่ยวไม่เกิน 300 กิโลกรัม ดังนั้นก็เหมือนกับว่าช้างสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้ามีการปรับให้พอเหมาะพอควร” หมอฉัตรโชติกล่าว

ส่วนเหตุผลในการใช้ขอใช้โซ่นั้นหมอฉัตรโชติอธิบายให้ฟังว่า หลายคนไม่ทราบว่าช้างบางเชือกมีนิสัยดุร้าย ซึ่งจะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดและอาจจะต้องมีการลงโทษด้วย เมื่อช้างอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลแล้วการใช้โซ่ก็ยังจำเป็นอยู่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะถ้าไม่มีการมัดโซ่แล้วช้างอาจจะเดินเข้าไปในบ้านคน หรือพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน มันก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างขึ้นได้ ช้างมีน้ำหนักตัว 3000-4000 กิโลกรัม และแรงของช้างมีเยอะมาก เมื่อช้างใช้งวงฟาดหนึ่งครั้งอาจจะถึงตายได้ มันจึงต้องมีการฝึกและควบคุมให้ช้างเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกับคนได้ ไม่ไปทำร้าย ไม่ไปฆ่าคน

นักสิทธิสัตว์มองว่าการนำช้างออกมาอยู่ในเมืองคือการละเมิดสิทธิสัตว์ จริง ๆ แล้วช้างควรจะอยู่ในป่า ?
มันอยู่ที่มุมมองมากกว่า ถ้าจะมองว่าช้างเป็นสัตว์ป่าก็ใช่ แต่ถ้าถามว่า เมื่อ 2-3 พันปีที่แล้วช้างก็ถูกนำมาใช้งานเหมือนกัน เพียงแต่ตอนนี้มันอยู่ในช่วงที่เถียงกันระหว่างคนที่นำช้างมาเลี้ยงกับนักสิทธิสัตว์ คนที่นำช้างมาเลี้ยงเขาก็มองว่าเป็นสัตว์เลี้ยงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเลี้ยงช้างเหมือนกับการเลี้ยงดูลูกหลาน แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะมองว่าช้างคือสัตว์ป่า การนำมาเลี้ยงคือไม่เหมาะสมไม่ควรทำอย่างยิ่ง

 

Photo Credit : Center of Elephant and Wildlife Research


กฎหมายคุ้มครองสัตว์ครอบคลุมสวัสดิภาพช้างเลี้ยงมากน้อยแค่ไหน
?
กฎหมายที่คุ้มครองตอนนี้มี พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์. พ.ศ. 2557 จะครอบคลุมถึงตัวช้างด้วย เพียงแต่ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาว่าจะต้องทำอย่างไรกับช้าง เช่น ช้างที่มีการใส่โซ่หรือการขี่ช้างเป็นสิ่งที่แย่หรือเปล่า รวมถึงการทารุณกรรมสัตว์ทั้งหลาย ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายออกมาจึงไม่สามารถตัดสินใครได้ หมอฉัตรโชติกล่าว

รายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นนี้ผู้เขียนได้อิงข้อมูลจากหนังสือช้าง-ขอ-แหย่ง… การจัดการปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว ในหนังสือได้พูดถึงเรื่องสวัสดิภาพช้างภายในปางโดยระบุว่า การจัดการสวัสดิภาพสัตว์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ฯ นั้น หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ ปางช้างซึ่งมีการนำช้างมาใช้งานหรือมีช้างอยู่ในความดูแล ควรมีการจัดการสวัสดิภาพช้างที่เหมาะสม โดยอาจยึดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์หรืออิสรภาพ 5 ประการที่สัตว์ควรได้รับ คือ มีอิสระจากความหิว กระหาย มีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และเป็นโรค มีอิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน และมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์

นอกจากนี้ปางช้างควรกำหนดให้มีผู้ดูแลการจัดการสวัสดิภาพช้างภายในปางโดยเฉพาะ สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ ผู้ดูแลสุขภาพช้าง หรือหัวหน้าควาญช้าง เป็นผู้คอยประเมินและปรับปรุงความเป็นอยู่ของช้างให้เป็นไปตามสวัสดิภาพของสัตว์

แม้กฎหมายคุ้มครองช้างจะไม่ชัดเจนหรือครอบคลุมมากนัก แต่ก็มีนักวิชาการหลายฝ่ายที่พยายามออกมาผลักดันในเรื่องสวัสดิภาพช้างเลี้ยงและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการเลี้ยงช้างและการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

คำตอบของคำถามที่ว่า สวัสดิภาพช้างเลี้ยงไทยในวันนี้เป็นอย่างไรบ้างนั้น อาจจะตอบได้ไม่เต็มปากว่าความจริงแล้วการจัดอันดับในครั้งนี้จริงเท็จมากน้อยแค่ไหน เพราะเรายังคงเห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับช้างเลี้ยงในประเทศไทยอยู่ แต่วันนี้หลายฝ่ายพร้อมที่จะพัฒนาและตื่นตัวเรื่องสวัสดิภาพช้างเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง
ทรงวุธ ต๊ะน้อย