ชีวิตสัมพันธ์ของนศ.ชมรมอนุรักษ์กับเสือดำในป่าทุ่งใหญ่

ชีวิตสัมพันธ์ของนศ.ชมรมอนุรักษ์กับเสือดำในป่าทุ่งใหญ่

จากประเด็นร้อนกรณีล่าสัตว์ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากองค์กรอนุรักษ์ เพจเฟสบุ๊คทางสิ่งแวดล้อม และสาธารณชนทั่วไปที่ให้ความสนใจและออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหล่านักศึกษาจากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากหลากหลายสถาบัน ในนามเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์แห่งประเทศไทย คืออีกหนึ่งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่าจะติดตามประเด็นนี้อย่างถึงที่สุด

ในวันที่ประเด็นข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมา เครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีนี้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดโดยไม่มีข้อยกเว้น พร้อมยังระบุอีกว่า เครือข่ายฯ จะติดตามคดีนี้อย่างจริงจัง และหากภายใน 7 วันยังไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายจะมีการทวงถามต่อไป

เมื่อวาน (13 กุมภาพันธ์) ครบ 7 วันตามที่กำหนด บรรดานิสิตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้กระจายกันจัดกิจกรรมทวงถามความคืบหน้าคดี เผยแพร่เรื่องราวเหตุการณ์ล่าสัตว์ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อย้ำต่อสังคมว่า “เรายังไม่ลืมเหตุการณ์ และจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าการสอบสวนต่อไป”

 

“สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ต้องไม่ตายฟรี”

คุณกุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม นิสิตปี 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาและผู้ที่สนใจล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนหัวข้อ “สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ต้องไม่ตายฟรี” ว่า ต้องการให้เรื่องราวครั้งนี้มีความแพร่หลายไปสู่บุคคลอื่นๆ ได้เกิดความตระหนักรู้ในมหาวิทยาลัย โดยไม่จำกัดอยู่แค่ในชมรมอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว และอยากให้เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนสำหรับคนที่มีความสนใจได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นว่าอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คุณกุลณัฐ เล่าต่อว่า ประเด็นการพูดคุยคงไม่จำกัดแค่คดีปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมองถึงเรื่องกฎหมายในปัจจุบันด้วยว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมควรเป็นอย่างไร หรือควรมีพื้นที่ให้แสดงออกไหม เราควรสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้ในสังคม

เราอยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นเครื่องเตือนใจ เราอยากให้มันเป็นเคสที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

คุณกุลณัฐ ทิ้งท้ายว่า แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นในป่าห่างไกลออกไปจากชีวิตคนเมือง แต่สิ่งแวดล้อมทุกสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น

“เราแชร์โลกใบนี้ด้วยกัน เราแชร์พื้นที่ตรงนี้ด้วยกัน แค่บางคนอาจจะไม่ได้ออกมารับรู้เฉยๆ”

ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจุดเทียนรำลึกถึงสัตว์ป่าที่จากไป ที่บริเวณหัวมุมสนามกีฬาจุฬาฯ (สนามจุ๊บ) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

“เสือที่ทุ่งใหญ่ฯ ตาย สะเทือนถึง มข.”

ด้านชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณจันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ ตันแทนชมรมอนุรักษ์ฯ มข. เห็นพ้องกันว่าอยากสร้างพื้นที่ให้คนที่มีความสนใจในเรื่องการล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่หากจะจัดกิจกรรมต้องมีการประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อทำกิจกรรมหรือขออนุญาตใช้พื้นที่ในการสื่อสารออกไป ชมรมอนุรักษ์ฯ มข. จึงเลือกใช้วิธีสื่อสารในทางอื่นแทน

“สิ่งที่สามารถทำได้เลยคือการเริ่มที่ตัวเราเอง อย่างการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการถือป้าย ถ่ายรูป และติดแฮชแท็คไว้ใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังทำป้ายเป็นสื่อรณรงค์ติดไว้หน้าชมรมอีกด้วย”

จันทิมาพร มองว่า แม้เหตุการณ์ล่าสัตว์จะเกิดขึ้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่มันส่งกระทบถึงกันทั้งหมด เพราะระบบนิเวศมันเชื่อมถึงกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงล้วนสัมพันธ์กัน การที่คนหนึ่งเข้าไปยิงเสือดำมันเกิดขึ้นขณะที่ทั่วประเทศยังไม่รู้ และมารู้เมื่อเสือดำได้ตายไปแล้ว แล้วถ้ามันเกิดการล่าเรื่อยๆ มันก็จะหมดไป ดังนั้นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เพราะชมรมเห็นความสำคัญของสัตว์ป่าและผู้พิทักษ์ป่า

อย่างน้อยสำหรับผู้ดำเนินคดีหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเขาจะได้รู้ว่ายังมีกลุ่มนักศึกษาที่ยังติดตามกระบวนการยุติธรรมของเรื่องนี้อยู่

 

ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำป้ายรณรงค์ติดหน้าชมรม แต่ปรากฎว่าป้ายนี้ได้หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

 


สัมภาษณ์ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร