จืด เข็มทอง เดินนับหมอนรถไฟ 400 กม. เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับหนังสารคดี ‘นกเงือกเทือกเขาบูโด’

จืด เข็มทอง เดินนับหมอนรถไฟ 400 กม. เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับหนังสารคดี ‘นกเงือกเทือกเขาบูโด’

บ่อยครั้งที่หน่วยงานสาธารณะถูกตั้งคำถามเรื่องการบริหารที่ไม่โปร่งใส และมีหลายวาระที่ผู้ถูกกระทำเลือกที่จะลุกขึ้นเรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการใช้อารมณ์และความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ที่ถูกลิดรอน หรือเลือกใช้วิธีที่สุขุมคัมภีรภาพ ภายใต้หลักอหิงสา

ซึ่งความไม่ชอบมาพากลมีให้เห็นในรูปแบบการจัดการของหลายภาคส่วน มีประเด็นความไม่โปร่งใสของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนนำไปสู่การแสดงจุดยืนผ่านส้นเท้าของ ‘เข็มทอง โมราษฎร์’ ผู้กำกับภาพยนตร์ วัย 54 ปี ที่เรียกร้องความชอบธรรรม ด้วยวิธีการย่างบาทเบื้องเดินเท้าจากภูมิลำเนาสู่เมืองหลวง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวน ‘จืด เข็มทอง’ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี ‘นกเงือกเทือกเขาบูโด’ สนทนาเรื่องมุมมองแนวคิดการส่งเสียงต่อผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม กับการเดินนับไม้หมอนรถไฟจากจังหวัดสุรินทร์มายังศาลปกครองกรุงเทพมหานคร

อะไรคือเหตุผลในการเดินเท้าจากบ้านเกิดสู่มหานครของ จืด เข็มทอง

ที่มาของการเดินก็เพื่อไปการแก้คำฟ้อง และเป็นการแสดงว่าเราการต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรม  หลังจากที่ได้ถูกกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฟ้องศาลปกครอง โดยเขากล่าวหาว่า เราไม่ได้ส่งงานตามงวด และมีการเรียกเงินคืนจำนวน 800,000 บาท สืบเนื่องจากที่ทางกองทุนฯ ได้ให้ทุนผลิตภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่องนกเงือกเทือกเขาบูโด (The Beautiful Hornbills) เมื่อปี 2560 – 2561  ด้วยวงเงิน 2 ล้านบาท 

ทั้งที่ความจริง เราก็ส่งงานตรงตามกำหนดในสองงวดแรก แต่กระนั้นเราก็เห็นความไม่ชอบธรรมของกองทุนฯ ที่มีความล่าช้าเรื่องการเบิกจ่ายเงินของแต่ละงวด ซึ่ง 44 โครงการได้รับผลกระทบหมด ทำให้หลาย ๆ คนต้องไปกู้เงินมาทำงาน จนกลายเป็นหนี้ผูกรัดตัว ผมเองในช่วงแรกก็ใช้เงินส่วนตัวในการผลิตเนื้อหา แต่พอมันเกิดความล่าช้าขึ้นซ้ำอีก เลยตัดสินใจที่จะยกเลิกสัญญา ซึ่งทางกองทุนฯ ก็ยินดีในช่วงแรก

ภายหลังได้มีการขอเจรจารวมไปถึงการข่มขู่ให้เรากลับเข้าสู่ระบบโครงการ และนำไปสู่การฟ้องให้เสียค่าชดใช้ ผมมองว่ามันไม่ถูกต้องเลย อันที่จริงเม็ดเงินมันก็ไม่ใช่ของเขาอยู่แล้ว มันมาจากภาษีประชาชน แต่กองทุนฯ กับมองว่าเขาจะจัดสรรค์งบยังไงก็ได้ตามใจเขา ซึ่งถ้าผมกลับไปทำงานแล้วยอมรับข้อตกลงทุกอย่างมันก็จบ แต่ผมไม่ยอมเพราะมันไม่ชอบธรรม ดังนั้นพอเขาฟ้องมาเราก็พร้อมที่จะให้ข้อเท็จจริง และให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งแผมก็มั่นใจเรื่องหลักฐานที่เราทำกันมา

คุณคิดว่าอะไรคือที่มาของความไม่โปร่งใสของโครงการดังกล่าว

เราต้องเข้าใจว่ากองทุนฯ ถูกครอบงำด้วยภาครัฐ และจากระบบราชการต่าง ๆ ที่ใช้คนของทางการเข้ามาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับกระทรวงหรือหน่วยงานของตัวเอง ซึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติเดิมที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้สื่อภาคประชาชนได้พัฒนาสื่อในการสร้างสรรค์สังคม แต่กรณีการเดินของผม มีจุดประสงค์หลักเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปในกองทุนฯ ก็ไม่ได้มองว่าเขาคือศัตรูของเรา

ก่อนหน้านี้คุณเคยมีกิจกรรมหรือมีการแสดงออกในลักษณะแบบนี้หรือเปล่า

มีครับ ผมเคยไปนั่งอดข้าว 11 วัน และปักหลักค้างแรมอยู่บริเวณหน้าป้ายอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อปี 2562 เพื่อเรียกร้องให้รื้อจุดบริการนักท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ช้างเดินผ่าน และนำมาซึ่งโศกนาฎกรรมช้างตกเหว 11 ตัว ต่อมาเขาก็รับฟังทและนำไปปรับใช้ ก็ต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐที่ยังให้ความสำคัญกับเสียงเล็ก ๆ อย่างเรา

คิดว่าการออกมาเรียกร้องด้วยหลักอหิงสาของคุณ สามารถสร้างอิมแพคให้กับสังคมได้หรือเปล่า

ผมมองว่าการเรียกร้องไม่มันจำเป็นต้องรุนแรง หรือฮาร์ตคอร์เกินไป แต่ต้องมาควบคู่ไปกับรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งผมก็พร้อมที่จะสละทุกอย่าง ความเหนื่อยยาก ความลำบาก แม้กระทั้งชีวิต เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมของผู้คนและธรรมชาติ ดังนั้นทุกครั้งที่เราออกมาเราต้องเต็มที่กับมัน ซึ่งมีทั้งการเรียกร้องควบคู่ไปกับการนำเสนอแนวทางการแก้ไขด้วย นอกจากนี้เรายังทำให้คนอื่นได้ตื่นตัวกับปัญหา ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง เราก็ได้รับกระแสตอบรับเหล่านี้จากคนรอบข้าง รวมไปถึงคนที่ไม่รู้จัก

มันคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือเปล่า

การเดินของผมในครั้งนี้มันไม่ใช่การเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์อะไรหรอกครับ เราทำจริงเราเดินจริง ถ้าเป็นเชิงสัญลักษณ์มันอาจหมายถึงการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นสักชิ้นแล้วให้คนตีความเอง ซึ่งกรณีการเดินเท้ากว่า 400 กิโลเมตรมันไม่ใช่ ผมตั้งใจจะเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะเราถูกกระทำโดยมิชอบ สุดท้ายก็หวังว่าสิ่งที่เราตะโกนออกไปจะถูกนำไปเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความชอบธรรม

ขอย้อนกลับไปที่ภาพยนตร์สารคดีนกเงือกเขาบูโดหน่อย อะไรคือสิ่งที่คุณอยากจะสื่อสารออกไป

ย้อนกลับไปตอนที่ผมขอเป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้ไปช่วยงานถ่ายภาพและติดจีพีเอสกับนกเงือกกามช้างปากเลียบที่ห้วยขาแข้ง ปรากฎว่าจากจีพีเอสเราได้เห็นเส้นทางของนกเงือกจากห้วยขาแข้ง บินไปถึงพม่าแล้ววกกลับเข้ามาในไทย ผ่านแถวเทือกเขาหลวง สันกาลาคีรี ไปจนถึงบาลาฮาลาเทือกเขาบูโด รวมเป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ใช้เวลาในการบิน  1 ปี

ก็มองว่า นกเงือกตัวนี้แหล่ะที่มีส่วนช่วยกระจายพันธุ์ไม้ใหญ่ เพราะว่าเขาจะต้องทำรังในโพรงไม้ต้นใหญ่และสูงตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ซึ่งสัตว์ที่จะช่วยกระจายพันธุ์ไม้ใหญ่ได้ ต้องเป็นนกที่มีขนาดใหญ่อย่างนกเงือก ที่ถือเป็นสัตว์ปีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ถ้าเราขาดนกเหล่านี้ไปแสดงว่าเราจะขาดความหลากหลายของระบบนิเวศ ดังนั้นจึงอยากจะสื่อสารเรื่องนกเงือกให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของพวกมัน

ทำสื่อแบบนี้คงต้องเดินทางบ่อย คุณอยากเล่าอะไรให้เราฟังเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็นบ้างหรือเปล่า

มีเรื่องที่ผมประทับใจตอนลงพื้นที่บูโด ซึ่งเป็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรง กระนั้นทีมงานของเรามีทั้งนักวิจัย เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงชนพื้นเมือง เราปลอดภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้เห็นความสามัคคีของทีมงาน จึงได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ว่าธรรมชาติสามารถขัดเกลาจิตใจมนุษย์ ลดความขัดแย้ง และสามารถก้าวข้ามความเชื่อได้ จึงอยากสื่อสารความอบอุ่นเหล่านี้ออกไป ผมเชื่อว่าธรรมชาติจะทำให้เกิดความสันติสุขแก่สังคมได้

คนข้างหลังเป็นห่วงหรือเปล่า

เป็นเรื่องปรกติครับที่ครอบครัวจะเป็นห่วง ภรรยาผมก็ห่วงอยู่แล้ว แต่เราอยู่ด้วยความเชื่อ และอุดมการณ์ ถ้าคนใดคนหนึ่งได้ทำสิ่งที่เราเชื่อสำเร็จเราทั้งคู่ก็มีความสุข นี่จึงเป็นการที่ได้เกื้อกูลระหว่างเรา ซึ่งก็พร้อมแล้วที่จะเสียสละ มันคือสิ่งสนับสนุนที่ดีต่อใจ ตรงนี้มันมีค่ามากกว่าความเป็นห่วง มันคือกำลังใจในการขับเคลื่อนชีวิต

เดินนับไม้หมอนมา 400 กิโลเมตร เห็นอะไรนอกจากทางรถไฟบ้าง

ขณะที่เดินมันทำให้ผมได้พิจารณาจิตใจของตัวเอง ช่วงเวลานั้นมันเปรียบเสมือนทุกก้าวต้องคิดทบทวน หรือพิจารณาทุกสิ่งในชีวิตด้วยสติ มันกลายเป็นการสร้างมิติให้กับมุมมองของเรามากขึ้น นอกจากนี้เรายังได้พบมิตรภาพตามรายทาง ทั้งจากคนรู้จักหรือไม่รู้จัก บางคนให้อาหาร ให้ที่พัก เพื่อนสนิทมิตรสหายบางคนหายหน้าหายตากันไปนานเราก็ได้พบ คนในวงการอนุรักษ์โดยปรกติจะเจอกันแต่ในป่า เราก็พบเจอกันในพื้นที่เมือง พวกเขาเหล่านี้แหล่ะคือกำลังใจให้เรากล้าที่จะเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ นานา

พื้นที่เก็บความทรงจำเหล่านี้ของคุณคืออะไร

ผมบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ในหนังสือ ‘Walks เดินเพื่อแพ้’ ที่พูดถึงทุกห้วงเวลาของผมที่สามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เพราะจะมีไม่บ่อยที่จะมีคนบ้าเดินบนทางรถไฟจากสุรินทร์มากรุงเทพฯ (หัวเราะ) เราเจออะไรระหว่างทางเราก็เขียน แต่มันก็มีสาระซ่อนอยู่นะ สำหรับรายได้ผมคิดว่าจะนำเงินที่ได้จากการจำหน่าย มาใช้เป็นทุนในการจัดเทศกาลภาพยนตร์ของกลุ่มเด็กรักษ์ป่า ในช่วงต้นปี 2564 และประสบการณ์การเดินจากจังหวัดสุรินทร์ไปยังศาลปกครองกรุงเทพมหานคร 22 วัน 400 กิโลเมตร ก็คงจะเป็นอีกสิ่งที่ก้นบึ้งในหัวใจของผมจะบันทึกไว้จนวันตาย…วันหนึ่งเราเคยใช้ส้นเท้าตะโกนเรียกร้องความเป็นธรรมแทนปาก

 

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ