ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางภาคเหนือกลายเป็นที่จับตาของสังคมในวงกว้าง ทั้งเรื่องไฟป่าที่ถั่งโถมโหมกระหน่ำ มลภาวะที่เกิดจากฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 รวมไปถึงการดัดแปลงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อปลูกสร้างเคหะสถานให้กับข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่
หลายคนในพื้นที่บอกตรงกันว่า ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มีปัจจัยสำคัญมาจากความไม่รับผิดชอบของมนุษย์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการมองข้ามปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ
ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้คนท้องถิ่นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาสุขภาพ และสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ กลายเป็นความสูญเสียที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต
รายการ SEUB INSPIRE ชวน ‘กฤตย์ เยี่ยมเมธากร’ ราษฎรชาวเชียงใหม่ หนึ่งในบุคคลที่ตัดสินใจเดินเท้าไปกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ เพื่อพูดคุยเรื่องราวของการเป็นผู้เฝ้ามองความเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมืองเหนือ
และมุมมองแนวคิดเรื่องการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ กับการดูแลรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ
.
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเฝ้ามองประเด็นทางสิ่งแวดล้อมของคุณคืออะไร
การเข้ามาในวงการสิ่งแวดล้อมของผมมันมาจากธรรมชาติ ธรรมชาติหมายความว่า เราเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ง่าย ๆ ก็คือเราเป็นคนรักต้นไม้ รักสัตว์ป่า รักในสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งผมมองว่า คนทุกคนเกิดมาท่ามกลางธรรมชาติอยู่แล้ว ยกเว้นคนในตัวเมือง ซึ่งอาจไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติมากเท่าคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งผมนั้นก็อาศัยอยู่ทั้งในเมือง และเติบโตมาจากชนบท คลุกคลีอยู่กับทั้งสองพื้นที่มาทั้งชีวิต
.
เราได้เห็นเรื่องราวของคุณผ่านหน้าสื่อ เมื่อคราวต่อต้านการปลูกบ้านพักตุลาการที่เชิงดอยสุเทพ ในวินาทีนั้นอะไรคือจุดที่ทำให้คุณตัดสินใจออกมาตะโกนเรียกร้องร่วมกับชาวเชียงใหม่
ระหว่างที่เขากำลังสร้างบ้านเรายังไม่เห็น แต่พอมันขึ้นเป็นโครงเสาคอนกรีต และมีภาพผืนป่าที่แหว่งหายไปแล้วผ่านสื่อและภาพจากที่สูง มันกลายเป็นภาพอุจาด ส่งผลให้คนในพื้นที่ตกใจ และออกมาเรียกร้องกันในระดับหนึ่ง ซึ่งต่อมาผมก็ได้ออกมาร่วมในแบบส่วนตัว
จากวันแรกที่ไปชุมนุมกันตรงลานอนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ ตอนนั้นก็ไม่รู้ยังไง ผมก็พูดออกไปว่า ผมจะเดินเท้าเพื่อเรียกร้องจากจังหวัดเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ทุกคนก็ตกตะลึงกันไปหมด จากนั้นก็มีอีกสองคนที่มีแนวคิดอยากไปกับผม กลายเป็นสามทหารเสือที่ตัดสินใจเดินเท้าเข้าสู่มหานคร จากที่เป็นประเด็นใหญ่อยู่แล้วมันก็ทวีคูณขึ้นอีกขั้น ตอนนั้นรัฐบาลยังเป็นยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ ก็ตื่นเต้นกันไปใหญ่
.
ดูเหมือนป่าดอยสุเทพจะมีความสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับคนเชียงใหม่มาก ?
ในแง่ของสิ่งแวดล้อม ดอยสุเทพเป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เมืองที่สุดในประเทศไทย เป็นภูเขาลูกย่อม ๆ อยู่บนเทือกเขาถนนธงชัยทางตอนเหนือ โดยป่าแห่งนี้มีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง – ดิบเขา และป่าสน ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าธรรมชาติเหล่านี้ เป็นเสมือนเครื่องฟอกอากาศให้สดชื่นบริสุทธิ์ ดังนั้น การที่ป่าหายไปร้อยกว่าไร่ มันก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน ยิ่งพื้นที่ตรงนั้นเป็นป่าเบญจพรรณที่อุดมไปด้วยต้นสัก ต้นเต็ง และต้นรัง
ในแง่ของความสัมพันธ์เชิงสังคม มันก็เหมือนกับแนวคิดที่ว่า ‘บ้านของใครใครก็รัก’ วันหนึ่งภาครัฐกลับได้เข้าไปสร้างบ้านพักตรงนั้น และทำให้ป่าหายไปแบบที่ชาวเชียงใหม่ไม่สามารถรับได้ เหมือนมีคนมาขโมยของรักของหวงของเราไป มันเหมือนเป็นสามัญสำนึก เป็นจิตวิทยามวลชน ที่มีความรู้สึกร่วมกัน ซึ่งคนเชียงใหม่ล้วนผูกพันกับดอยสุเทพเป็นอย่างมาก ผมซึ่งเป็นคนในอำเภอเมืองเกิดมาก็เห็นดอยสุเทพแล้ว จึงเหมือนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติแห่งนี้
.
คุณคิดเห็นอย่างไรกับปรากฎการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนดอยสุเทพ ในช่วงปีไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จะเห็นได้ว่า สามสี่ปีที่ผ่านมาป่าดอยสุเทพเกิดไฟไหม้แบบน่ากลัวมาก ผมเกิดมาห้าสิบปียังไม่เคยพบไม่เคยเห็น ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอิทธิพล และประชาชนทั่วไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยความประมาท และด้วยความตั้งใจ มันจึงเป็นผลร้ายต่อป่าดอยสุเทพ พอไฟป่าลุกลามใหญ่มันก็ส่งผลให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่ซ้ำเติมสุขภาพของพลเมืองเชียงใหม่ และการสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับการดับไฟป่า ทั้งโดยธรรมชาติ และการทำอัตวินิบาตกรรม
พวกเขากลายเป็นวีรบุรุษสังเวยชีวิต ที่อัดอั้นตันใจกับแรงกดดันของการทำหน้าที่จนถึงกับฆ่าตัวตาย ซึ่งผมมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดกับสังคมไทย หรือว่าประเทศใดในโลก
.
ในฐานะที่คุณศึกษาเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน คุณคิดว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร
ทางภาคเหนือเรามักจะรู้จักชาวปกาเกอะญอ และชาวลั้วะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดร่วมแผ่นดินกับเรา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้ว่า มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน พวกเขาเชื่อว่าเขาอยู่กับป่า เขาจึงต้องรัก และหวงแหนป่า ซึ่งการที่รัฐบาล หรือส่วนราชการไปขับไล่พวกเขาเหล่านี้ออกจากจากป่า
ในขณะที่เขาอยู่มาตั้งนานหลายชั่วอายุคน ตามแบบวิถีชีวิตความเชื่อในการรักษาป่า ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นานา เช่น การแบ่งพื้นที่เพื่อรักษาป่า ตามความเชื่อที่ว่าด้วยการมีอยู่ของเจ้าป่าเจ้าเขา และบรรพบุรุษ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่หวงห้าม แตะต้องไม่ได้โดนเด็ดขาด นี่จึงตรงกับศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)
.
แล้วศาสตร์พระราชาเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ศาสตร์พระราชาคืออะไรก็ได้ ที่ไม่ฝืนหรือไม่เดินย้อนกับธรรมชาติ ในขณะที่โลกเรากำลังมีวิวัฒนาการและความเจริญรุดหน้าไป แต่ศาสตร์พระราชากลับไม่ล้าสมัย โลกจะเกิดกลียุคเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ กระนั้นถ้าในระดับครัวเรือนรู้จักใช้ศาสตร์พระราชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความประหยัดมัธยัสถ์ ความพอเพียง การทำเกษตรแบบผสมผสาน และการใช้ชีวิตแบบผูกติดกับธรรมชาติ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศได้มีการนำศาสตร์พระราชาไปใช้ แต่เราได้ทำถึงระดับที่พอดีแล้วหรือยัง
ผมอยู่ภาคเหนือ ผมขอนำตัวอย่างที่พูดไปแล้วเรื่องชาติพันธุ์ลั้ว ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของเขาคือป่า เขาไม่ชอบอยู่ที่พื้นราบหรือเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจึงมักเกี่ยวโยงกับธรรมชาติ อย่างการปลูกข้าวไร่ของเขา ใช้วิถีการหว่านให้ออกรวงตามวิถีธรรมชาติ สุกก็เก็บเกี่ยว รวมไปถึงการปลูกผักสวนครัวต่าง ๆ และการเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช่สารเคมี ใช้ธรรมชาติดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดศาสตร์พระราชา
โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ถ้าได้คลุกคลีแบบผม คุณจะได้เห็นภูเขาสูงหัวโล้นมากมาย ซึ่งวิธีการแก้ปัญหา คุณต้องมีการปลูกป่าถาวร ใช้ดอยตุงโมลเดลของสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) หรือสมเด็จทวดของรัชกาลปัจจุบัน ที่สามารถพลิกฟื้นธรรมชาติบนดอยสูงให้กลับคืนมีชีวิตชีวา และเขียวชอุ่มดุจดั่งเดิม
.
ในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนผ่านของโลกและธรรมชาติ ในวันนี้คุณมีคิดอย่างไรกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก ซึ่งเราก็ต้องรับฟังอย่างยิ่ง เพราะความคิดเหล่านี้คือความคิดที่บริสุทธิ์ เราต้องเอาความคิดที่เขาเรียกร้องมาบูรณาการ เพราะเขาคือคนที่จะก้าวเข้ามาแทนเราในอนาคต บางทีอะไรที่มันเล็ก ๆ รัฐบาลมองไม่เห็น บางทีอะไรใหญ่ ๆ ราชการก็มองข้าม แต่เด็ก ๆ และเยาวชนมองเห็น สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างผม หรือคนในวัยกลางคนยอมรับได้
.
มาถึงตรงนี้คุณคิดว่าประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมันควรถูกยกระดับให้กลายเป็นวาระแห่งชาติได้แล้วหรือยัง
เรื่องนี้มันควรจะทำมาเป็นสิบปีแล้ว รัฐบาลต้องพูดถึงปัญหาเหล่านี้ในระดับโครงสร้าง และนโยบายมานานแล้ว ประเทศใกล้เคียงอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีนโยบายสี่ทันสมัย ซึ่งหนึ่งในสี่ ได้มีการพูดถึงเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วย
ถึงแม้บ้านเราจะไม่ได้เป็นประเทศที่ใหญ่โต แต่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพอเรารู้แบบนี้แล้ว เราต้องช่วยกันรักษาความหลากหลายนี้เอาไว้ ผมอยากจะเห็นบ้านเราผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องระดับชาติสักที
.
ผู้เขียน
นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ