ดริปกาแฟริมห้วยโรคี่ และเรื่องราวของคนปลูก(กาแฟไล่โว่) – ธวัชชัย ไทรสังขทัศนีย์

ดริปกาแฟริมห้วยโรคี่ และเรื่องราวของคนปลูก(กาแฟไล่โว่) – ธวัชชัย ไทรสังขทัศนีย์

ฟังเสียงน้ำไหลเอื่อยริมห้วยโรคี่ ไปกับบรรยากาศยามเช้าและลมหนาวอ่อนๆ วัธ หรือธวัชชัย ไทรสังขทัศนีย์ พี่น้องกะเหรี่ยงโผล่ว ที่หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ จ.กาญจนบุรี วัธ ชวนเราดริปกาแฟคั่วอ่อน สายพันธุ์โรบัสต้า กาแฟเข้มข้น ไม่น้ำตาลรินใส่แก้วยืนให้เราชิม ด้วยกลิ่นหอมและรสชาติหลากหลาย แม้ไม่ใช่คอกาแฟแต่บอกได้เลยว่า นี้คือกาแฟแก้วพิเศษ เพราะเราได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวของกาแฟที่เล่าจากผู้ปลูกเองอย่างวัธ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟไล่โว่ พาเราย้อนไปถึงขั้นตอนการผลิตที่พิถีพิถันคัดสรรจนได้กาแฟคุณภาพ

 

ห้วยโรคี่

 

กลิ่นกาแฟโชยมา กับบทสนทนาเรื่องกาแฟ

วัธบอกกับเราว่า “สมาชิกในชุมชนเกือบทุกบ้านปลูกกาแฟ แต่กลับต้องเสียเงินไปซื้อกาแฟจากข้างนอกมาทาน แถมเรายังขายกาแฟที่ปลูกเองออกไปในราคาที่ต่ำอีก” จากข้อมูลสำรวจการบริโภคกาแฟของคนในชุมชน พบว่าบ้านเกาะสะเดิ่งมีรายจ่ายในการบริโภคกาแฟสำเร็จรูป รวมต่อปีกว่า100,000 บาท (ชุมชนมีประมาณ 60ครัวเรือน ประชากรกว่า300คน มีผู้บริโภคกาแฟประมาณ30%ของประชากรรวม) ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มจึงมีความตั้งใจอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟ โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาทานกาแฟที่ปลูกเอง แล้วค่อยๆพัฒนาคุณภาพของกาแฟไปเรื่อยๆ

“ผมอยากสร้างวัฒนธรรมกาแฟในชุมชน อยากเห็นทุกบ้านทานกาแฟของตัวเอง ผมว่ามันจะช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน และยังเพิ่มรายได้หากเราผลิตกาแฟคุณภาพขาย”

ยกแก้วกาแฟในมือ ที่เหลืออีกครึ่งแก้วขึ้นมาซดจนหมด เหลือบเห็นวัธกำลังบดกาแฟรอบใหม่พลางชวนเราคุยต่อ

 

 

 

“ผมเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่ปี2553 แต่คนในชุมชนเขาปลูกกันมานาน ผมเกิดมาก็มีต้นกาแฟแล้ว ตอนแรกที่ปลูกไม่ได้ใส่ใจ ผมไม่มีความรู้เรื่องกาแฟเลย ตอนปลูกไม่ได้คัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ต้นกาแฟโตบ้าง ไม่โตบ้าง ปีแรกที่ปลูกขายได้เงิน150บาท”
เราฟังไม่ผิด วัธได้ผลประกอบการครั้งแรกเพียง150บาท แต่ด้วยความรักในกาแฟ เขาจึงออกไปเรียนรู้ข้างนอก และเริ่มทำจริงจังมากขึ้น

คุณภาพกาแฟที่ดีเป็นอย่างไร ? เราถามกลับไปให้วัธตอบ “นอกจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้กาแฟรสชาติดี ขั้นตอนการผลิตก็สำคัญ เราต้องคัดสรรเฉพาะเมล็ด สีแดงสดเท่านั้น เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์เราไม่เอา ใช้วิธีเก็บกาแฟจากต้นทีละเม็ด ไม่รูดทีเดียว แม้ใช้เวลานานกว่า เพราะด้วยใจรัก เราจึงตั้งใจทำ”

การได้มาของกาแฟไล่โว่เน้นคุณภาพตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกสมาชิก ซึ่งต้องเข้าใจกติกาของกลุ่ม เน้นพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก ไม่ถางทำลายป่าเพิ่ม สมาชิกล้วนใส่ใจในรายละเอียดทุกๆขั้นตอน เพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพ มีกลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อนำไปสู่การหันมาบริโภคกาแฟของตัวเอง และขายกาแฟได้ในราคาที่สูงขึ้น

คุยกันมาถึงตอนนี้ ถ้าบอกว่า “กาแฟรักษาป่า” ก็คงไม่ผิดเพราะคนในชุมชนจะปลูกกาแฟแซมร่วมกับผืนป่า โดยไม่ทำลาย

 

 

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟไล่โว่มีสมาชิก 27 ครอบครัว จาก 5 กลุ่มบ้านที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ได้แก่ หมู่บ้านกองหม่องทะ สะเนพร่อง เกาะสะเดิ่ง ซาราวะ ไล่โว่ และปี2562 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีแผนงาน ขยายเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟไล่โว่เพิ่มไปยังหมู่บ้านทิไล่ป้าอีกด้วย

 

ผลิตภัณฑ์กาแฟไล่โว่

 

 

“ผมมองว่ากาแฟสามารถตอบโจทย์เรื่องของการอยู่กับพื้นที่ตรงนี้ได้ ซึ่งเป็นพื้นที่เขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตอบโจทย์ในเรื่องของการใช้ทรัพยากร และรายได้ที่จะเข้ามา โดย ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ป่าที่มันมากขึ้น”

ตลอดการสนทนากับหนุ่มกะเหรี่ยงโผล่ว คนรุ่นใหม่ บ้านเกาะสะเดิ่ง ไประหว่างจิบกาแฟท่ามกลางบรรยากาศรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ มองออกไปไกลๆเบื้องหน้าคือผืนป่าใหญ่ ทุกถ้อยคำที่คุยกันเราเห็นความมุ่งมั่นในแววตา และสัมผัสได้ถึงสายใยบางๆระหว่างความรักที่วัธมีต่อกาแฟ ต่อชุมชน และผืนป่าใหญ่

 


บทความ นรินทร์  ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร