รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : กวางผา ตัวแทนการอยู่รอดของสัตว์ติดเกาะ

รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : กวางผา ตัวแทนการอยู่รอดของสัตว์ติดเกาะ

แม้ชีวิตจบสิ้นแต่บางเรื่องราวมิได้จบลงไปตามอายุขัย สมัยคุณสืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในบทบาทของคนทำงานเพื่อสัตว์ป่าและป่าไม้นั้น เขาให้ความสนใจหลายประการและมีประสบการณ์ที่ก่อเกิดแรงผลักดันให้เขาเดินหน้าไปสู่การเป็นนักอนุรักษ์

ราวปี 2528 คุณสืบ นาคะเสถียรได้ลงพื้นที่ติดตาม ดร.แซนโดร โรวาลี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกวางผาฮามัวร์ของอิตาลี เข้าไปทำงานวิจัยเรื่องกวางผา ที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของกวางผาหรือม้าเทวาดา สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งที่หายากของเมืองไทย ครั้งนั้นเขาพบว่าม่อนจองมีกวางผาประมาณ 20 ตัวเท่านั้น

กวางผามีลักษณะคล้ายเลียงผาแต่จะตัวเล็กและลำตัวสั้นกว่า เป็นสัตว์กีบที่มีรูปร่างสันทัดและสมส่วน สรีระของมันถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการกระโดดและปีนป่ายได้เป็นอย่างดีจึงพบพวกมันอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงชัน ปัจจุบันกวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย และ IUCN ได้จัดกวางผาอยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม (VU) อีกทั้งยังจัดให้เป็นสัตว์ป่าในบัญชีที่ 1 (Appendices l) แนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันพบกวางผากระจายตามพื้นที่อนุรักษ์ประเทศไทยบริเวณทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ จ.ตาก จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

 

 

ปัจจุบันปรากฏการศึกษาสถานการณ์ของกวางผาทั้งด้านการติดตามประชากร การกระจาย และถิ่นอาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ การเพาะเลี้ยงและปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้งศึกษาพืชอาหารของกวางผา เพื่ออนุรักษ์ประชากรของกวางผาให้คงอยู่กับประเทศไทย

หัวหน้ามงคล สาฟูวงศ์ ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ในการติดตามประชากร การกระจาย และถิ่นอาศัยของกวางผาในพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวได้ดำเนินการสำรวจและเฝ้าตรวจนับประชากรกวางผาจากร่องรอยและการนับตัว ในพื้นที่ดอยเชียงดาว ดอยม่อนจอง ดอยม่อนเลี่ยม จ.เชียงใหม่ ดอยหมื่อก่าโด่ จ.แม่ฮ่องสอน และบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานน้ำตกแม่ก้อน้อย อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน

จากจำนวนประชากรของกวางผาในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการล่าและการสูญเสียถิ่นอาศัย จึงนำไปสู่ทางเลือกในการเพาะขยายพันธุ์กวางผา โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง เกิดเป็นโครงการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นธรรมชาติ หรือการนำกวางผาจากการเพาะเลี้ยงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยคุณอดิสรณ์ กองเพิ่มพูล ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ อีกทั้งยังศึกษาพืชอาหารที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน ฯลฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยการดำรงชีวิต และอนุรักษ์กวางผาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ร่วมรับฟังเรื่องราวของกวางผาจากเวทีเสวนา กวางผา ตัวแทนการอยู่รอดของสัตว์ติดเกาะ ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : แนวคิดที่สืบต่อ ถอดบทเรียนงานที่สานต่อจากสืบ นาคะเสถียร ร่วมเสวนากับ คุณมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว คุณอดิสรณ์ กองเพิ่มพูล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า และ นสพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ ดำเนินรายการ โดย คุณวัชรบูล ลี้สุวรรณ

วัน-เวลา : วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 เวลา 13.00-14.00 น.
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รายละเอียด : กำหนดการ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร