เรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวพี่น้องพุระกำ ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565
.
สืบเนื่องจากการที่หน่วยงานภาครัฐ ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ในกลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ทั้งที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้กรมชลประทานกลับไปทบทวนผลการศึกษาในบางประเด็น เช่น เรื่องการทำความเข้าใจกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ (บ้านพุระกำ) และทบทวนเรื่องการจัดสรรพื้นที่อาศัย ที่ทำกิน (แปลงอพยพ) รวมถึง “ให้ทบทวนผลการศึกษาจำนวนและชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้นและสัตว์ป่าให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในและรอบอ่างเก็บน้ำอย่างเข้มข้น และเสนอแผนติดตามตรวจสอบจำนวนชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอย่างละเอียด เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งหมดอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่ป่าไม้สภาพสมบูรณ์” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562
โดยผลการศึกษาเพิ่มเติมในด้านสัตว์ป่า พบว่าบริเวณพื้นที่โดยรอบที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีสัตว์ป่าสำคัญอาศัยอยู่โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีได้ร่วมกันไปติดตั้ง นอกจากนี้จากการสำรวจแหล่งน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญปลาของประเทศไทยสองท่าน มีความเป็นไปได้ว่าจุดพื้นที่น้ำท่วมอาจพบปลาชนิดใหม่ของโลก แต่เนื่องจากตัวอย่างยังมีไม่มากพอ จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกแน่นอนหรือไม่
แต่จากการสำรวจก็ทำให้ได้ข้อมูลชัดเจนว่า มีปลาและปูที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ ดังนี้
11 ชนิด บ่งชี้ว่าคุณภาพน้ำดีมาก และเป็นชนิดเฉพาะถิ่น (Endemic species) ด้วย เช่น ปลาดักแม่กลอง ปลาแขยงเขาแม่กลอง ปลาเลียหินสุรินทร์บินนาน
3 ชนิด เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของแม่กลอง ปูตะนาวศรี Thaipusa tennasserimensis และ ปูสวนผึ้ง Demanietta suanphung ซึ่งเป็นปูเฉพาะถิ่นของราชบุรี ซึ่งถ้าน้ำคุณภาพแย่จะได้รับผลกระทบและหายไปก่อน และชนิดที่มีโอกาสเป็นชนิดเฉพาะถิ่น แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน คือปลาค้ออีก 4 ชนิด
8 ชนิด บ่งชี้คุณภาพน้ำดี อีก 10 ชนิด เป็นกลุ่มปลาที่พบทั่วๆไปในแหล่งน้ำคุณภาพปานกลาง
จากผลการสำรวจ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ สรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “เวลาในการสำรวจปลาครั้งนี้ค่อนข้างสั้น และไปสำรวจในช่วงเวลาเดียว จึงสำรวจได้ไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่โครงการและทุกฤดูกาล ทำให้ได้ชนิดและจำนวนปลาน้อยกว่าที่มีอยู่จริง แต่สรุปได้ว่าบริเวณนี้มีคุณภาพของลำธารและระบบนิเวศที่ดี ไม่เหมาะกับการสร้างเขื่อน”
แต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เพจประชาสัมพันธ์กรมชลประทาน ได้ชี้แจงประเด็นโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ว่า “ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ และบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มีการลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คำแนะนำและหารือแนวทางแก้ไขปัญหาจากโครงการดังกล่าว โดยล่าสุดได้มีการทบทวนรูปแบบของพื้นที่แปลงอพยพ ตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตามข้อทักท้วงของราษฎรบ้านพุระกำที่ว่า แปลงอพยพที่เสนอไว้เดิมไม่เพียงพอและดินไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช ซึ่งจะได้นำไปชี้แจงราษฎรและนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ต่อไป”
โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ซึ่งหากโครงการเกิดขึ้นจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่า 2,097 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีซ้อนทับกับป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และในป่าภาชีแห่งนี้ยังมีชุมชนปากะญอบ้านพุระกำอาศัยและทำกิน โดยมีพื้นที่การใช้ประโยชน์รวม 400 กว่าไร่ จำนวนครอบครัวที่จะได้รับผลกระทบ 86 ครัวเรือน ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและเป็นกลุ่มเดียวกับชุมชนบางกลอยที่ถูกอพยพมาจากบ้านใจแผ่นดิน ปัจจุบันชุมชนได้ใช้เวลาปรับตัวหลายปีจนมีความมั่นคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว อยู่ป่ารักษาป่า มีราษฎรอาสารักษาป่าที่ร่วมทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าข้ามพรมแดนในทุกๆปีฯ นอกจากนี้ชุมชนบ้านพุระกำยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น “พื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่า” ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 แต่กลับจะต้องมาถูกอพยพอีกรอบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ที่กรมชลประทานมีแผนจะทำการอพยพเพื่อทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว
ชาวชุมชนบ้านพุระกำทั้งหมดและบ้านหนองตาดั้ง บางส่วน มีเจตนารมณ์ในการคัดค้านถึงที่สุด โดยเห็นว่าโครงนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชน ป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งยังเห็นว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และควรไปปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและแก้ไขปัญหาได้จริง
สำหรับการเดินทางมายื่นหนังสือ มีรายละเอียดดังนี้
วันศุกร์ที่ 8 เมษายน
เวลา 10.00 – 12.00 น. ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ สภาผู้แทนราษฎร
เวลา 13.00 – 14.00 น. ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ประสานงาน : อรยุพา สังขะมาน 087-0846570