ตามหาใครขโมยปลา คัดค้านมาตรา69

ตามหาใครขโมยปลา คัดค้านมาตรา69

ใครขโมยปลา ? ร่วมกันตามหาปลาที่กำลังจะโดนขโมยไปจากทะเลไทย (ร่วมกันคัดค้าน มาตรา 69) สภาขโมยหรือเปล่า? อวนมุ้งขโมยหรือเปล่า? กม.ประมงใหม่หรือเปล่า? มาตรา 69 หรือเปล่า?

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่ายขอเรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมติดตามทำข่าวการรวมพลครั้งใหญ่ของชาวประมงไทยเพื่อตามหาปลาที่กำลังจะหายไปจากทะเลผ่านร่างกม.ประมงฉบับใหม่ฯ ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2568  

เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป รวมพลปกป้องลูกปลากว่า 500 คนที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย (ฝั่งสว.) เพื่อยื่นหนังสือให้กับทางวุฒิสภา โดย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย  22 จังหวัด สมาคมภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษชน สมาคมนักตกปลา นักดำน้ำ

เวลา 10.00น.-12.00 น. พบกับกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ใครกันนะขโมยปลาปิ้ง? โดยการปิ้งปลาล็อตสุดท้ายที่กำลังจะหายไปจากทะเลไทย พร้อมกับการมาของอวนยักษ์ ร่วมรับฟังการปราศรัย อนาคตของทะเลไทยจะแย่แค่ไหนหากกม.ประมงใหม่ผ่านสภา โดยตัวแทนชาวประมงไทย

เวลา 12.00น.-13.00 น. ร่วมรับประทานอาหารกับปลาปิ้งและชาวประมงพื้นบ้าน

13.00 น. ร่วมกันตามหาปลาที่หายไปที่พรรคเพื่อไทย 

ช่วงเย็น เวลา 16.00 น. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พบกับกิจกรรมร่วมกันตามหาปลาที่กำลังจะหายไป โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ

กิจกรรมร่วมกันหยุดอวนมุ้งยักษ์ที่กำลังจะทำให้ปลาหายไปจากทะเลไทย โดยกลุ่มศิลปินคอมมูนิตี้อาร์ต (ศิลปะเพื่อชุมชน)

  • พบกับกิจกรรมล่ารายชื่อปกป้องลูกปลากับกลุ่มนักดำน้ำไทย
  • ร่วมชิมปลาปิ้งจากทะเลไทยล็อตสุดท้ายที่กำลังจะหายไปจากทะเลไทย
  • ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับลูกปลาทะเลไทยหากกม.ฉบับใหม่ผ่าน
  • ฟังเรื่องเล่าโลกใต้น้ำจะเปลี่ยนไปหากกม.ผ่านสภา โดย กลุ่มนักดำน้ำไทย
  • เราจะมีปลาให้ตกอีกหรือไม่หากกม.ประมงใหม่ผ่านสภา โดยกลุ่มนักตกปลาแห่งประเทศไทย
  • ประมงไทยจะเปลี่ยนไปแต่ไหนหากกม.ประมงใหม่ผ่านสภาโดยตัวแทนชาวประมง
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการเข้าร่วมงานได้ที่โทร 092-369-4289

ติดตามกำหนดการต่างๆ ได้ที่เพจ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/fisherfolk.asso

ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับนักดำน้ำ นักตกปลา ช่างภาพ นักกิจกรรม ดาราและผู้ชื่อเสียงอื่นๆ ที่ต้องการเจตจำนงในการอนุรักษ์ทะเลไทย ในวันที่ 13-15 มกราคม และ ชุมนุมใหญ่นับพันคนของชาวประมงพื้นบ้านระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม ซึ่งจะแจ้งให้ทราบเป็นลำดับต่อไป

ทำความรู้จักกับมาตรา 69

เคยสงสัยไหมว่าปลาที่เราเห็นในท้องทะเลมาจากไหน

1. ปลาและสัตว์ทะเลส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์ในรูปแบบที่เรียกว่า Open population 

2. สัตว์ทะเลอย่างปะการังที่เคลื่อนที่ไม่ได้ จะปล่อยไข่ และเชื้อ ออกมาในกระแสน้ำพร้อมๆกัน

3. ปลาส่วนใหญ่นั้นจะใช้วิธีการรวมฝูงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Spawning Aggregation โดยจะมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก แล้วจับคู่ ปล่อยไข่และเชื้อออกมาพร้อมๆ กัน

4. จากนั้นชีวิตในทะเลก็จะเริ่มขึ้นจากในที่ลึกกลางมหาสมุทร ใช้ชีวิตเป็นแพลงก์ตอนที่ล่องลอยปะปนกันอยู่ในกระแสน้ำ ก่อนที่จะย้อนกลับเข้ามาในแนวปะการังและนิเวศชายฝั่งอีกครั้งเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อเติบใหญ่ก็จะรอเวลาที่จะมาจับคู่กันอีกครั้งเป็นวงจรเช่นนี้มาเนิ่นนาน

5. มนุษย์เรียนรู้มาตั้งแต่โบราณว่า การเอาแสงไฟอย่างตะเกียงไปล่อในบริเวณใกล้ผิวน้ำนั้นจะล่อให้แพลงก์ตอนสัตว์ขึ้นมารวมตัวในบริเวณใต้แสงไฟ แล้วก็จะมีปลาหมึกและปลาขนาดใหญ่ก็จะตามเข้ามา

6. จากแสงขนาดเล็กพัฒนาขึ้นมาเป็นการใช้ไดนาโมปั่นไฟ ในเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ให้แสงสว่างที่มากกว่าหลายเท่า ทำให้จับปลาได้มากขึ้นในขณะเดียวกันจำนวนปลาที่เคยมีมากมายจนไม่มีใครคิดว่าจะหมดไปได้ก็ค่อยๆ เหือดหายลงไป

การประมงปลากระตัก และ การใช้ทรัพยากรทางทะเล

7. ปลากะตักเป็นปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กที่นำมาใช้ทำน้ำปลาและแปรรูป ที่สามารถจะล้อมจับในตอนกลางวันได้ 

8. มีการศึกษามาแล้วว่าเวลาที่ล้อมจับปลากะตักตอนกลางวัน จะติดปลาชนิดที่ไม่ต้องการหลากหลายชนิด (Trash fish) เข้ามาในอวนประมาณ 7% แต่ถ้าใช้ไฟล่อและอวนล้อมจับตอนกลางคืน จะได้ Trash Fish มากถึง 30-40%

9. Trash Fish ที่ได้มามักเรียกรวมในชื่อไทยว่า ปลาเป็ด ที่จะถูกขายในราคาถูกเพื่อเอาไปปั่นทำเป็นอาหารสำหรับอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ 

10. Trash Fish เหล่านั้น มีจำนวนไม่น้อย ที่ถ้าปล่อยให้เติบโต ในอนาคตจะกลายเป็นปลาเศรษฐกิจ เนื้อดี ไม่ว่าจะเป็นปลาทู ปลาอินทรี  ปลาสาก ปลากะมง อีกส่วนนึงอาจจะไม่ได้เป็นปลาเศรษฐกิจ แต่เป็นปลาที่จะกลับเข้าสู่แนวปะการัง เป็นประชากรคุณภาพของระบบนิเวศ 

11. การจับปลาที่ไม่ได้ขนาดโดยไม่เลือก คือการตัดตอนวงจรชีวิตของปลาที่จะเติบใหญ่และกลายมาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของทุกคน

กฎหมายประมง ที่ถูกแก้

12. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีกฎหมายที่กำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อนที่จะกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

13. แต่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขพระราชกำหนดประมง ในมาตรา 69 เปิดช่องให้สามารถทำการล้อมจับด้วยอวนตาถี่ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรได้ในพื้นที่นอกชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล โดยไม่มีการห้ามล้อมจับในเวลากลางคืน โดยระบุไว้สั้นๆ ว่าให้อยู่ในอำนาจตัดสินใจของรัฐมนตรี

ข้ออ้างของการแก้กฎหมายมาตรา 69

14. คณะกรรมการที่แก้ไขชี้แจงว่าโรงงานน้ำปลาปิดตัวลงหลายโรง เพราะเราจับปลากะตักได้น้อยลง และมีปลากะตักจำนวนมากที่เล็ดลอดการจับมาบริโภค

15. ปัจจุบันมีเรือที่จับปลากะตักที่จดทะเบียนในประเทศไทยเพียง 175 ลำ ในขณะที่ประมงพื้นบ้านมีจำนวนถึง 5 หมื่นลำ การออกกฏหมายฉบับนี้จึงไม่อยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง

อนาคตของทะเลไทย

16. การแก้ไขกฏหมายในข้อนี้จะส่งผลในระยะยาวต่ออนาคตของทะเลไทย กับทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ชาวประมงพื้นบ้าน นักดำน้ำ นักตกปลา และธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงการดำน้ำ ที่จะต้องอาศัยทรัพยากรเหล่านี้ในอนาคตอย่างยั่งยืนเช่นกัน

17. ถ้าเราไม่เริ่มในวันนี้  อาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้ของทะเลไทย