‘Save our home เมื่อบ้านของสัตว์ป่ากำลังเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องพยายามรักษาไว้ให้มากกว่าเดิม’
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดเวทีเสวนา ‘สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์’ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาคีเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ที่ทำงานอนุรักษ์เสือ รวมถึงสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือขนาดเล็กของประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กำหนดการ
14.00 – 14.05 น. : กล่าวเปิดงาน
14.05 – 14.20 น. : แมวป่า 9 ชนิด และข้อมูลเสือขนาดเล็กในอดีตที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
14.20 – 14.35 น. : ภาพรวมสถานภาพเสือขนาดเล็กในปัจจุบัน โดย รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
14.35 – 14.50 น. : การศึกษาและวิจัยเสือขนาดเล็กทั้งในธรรมชาติและการฟื้นฟูประชากรในสภาพการเพาะเลี้ยง โดย สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
14.50 – 15.05 น. : การศึกษานิเวศวิทยาและภัยคุกคามต่อเสือปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำ โดย ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุกลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
15.05 – 15.20 น. : การศึกษาอาหาร ถิ่นที่อยู่อาศัย และอาณาเขตของเสือปลา โดย นายศุภวัฒน์ เขียวภักดี ผู้จัดการโครงการวิจัยเสือขนาดเล็ก องค์การแพนเทอร่า
15.20 – 15.35 น. : อัพเดตสถานการณ์ของเสือขนาดเล็กในอุทยาน และแนวทางในการวางแผนการอนุรักษ์เชิงนโยบาย โดย นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
15.35 – 16.00 น. แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น / ข้อเสนอแนะ
16.00 – 16.10 น. สรุปเสวนา
ปัจจุบันเสือขนาดเล็กในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่มากนัก และบางชนิดแทบจะไม่มีข้อมูลประชากรที่แน่ชัดว่าเหลืออยู่เท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาประชากรเสือขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทย มีการแบ่งกลุ่มเสือตามขนาดต่าง ๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เสือขนาดใหญ่ (Big cats) มี 2 ชนิด คือ เสือโคร่ง และเสือดาว หรือ เสือดำ และเสือขนาดเล็ก (Small cats) มี 7 ชนิด คือ เสือลายเมฆ เสือไฟ เสือปลา เสือกระต่าย แมวป่าหัวแบน แมวดาว และแมวลายหินอ่อน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกยกให้เป็น ‘แชมเปี้ยนส์ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ เพราะสามารถฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติจากเดิมไม่ถึง 100 ตัว จนปัจจุบันมีประชากร ‘เสือโคร่ง’ ตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัว ได้ ซึ่งเป็นผลพวงมากจากการให้ความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ รวมถึงมีแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งโดยเฉพาะ
แต่ในทางกลับกันเสือขนาดเล็ก ถูกคุกคามอย่างหนักจนบางชนิดมีสถานภาพการอนุรักษ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นอาศัย หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่าง ‘เสือปลา’ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีการประเมินประชากรเพียงแค่ในพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดเท่านั้น ในปี 2566 พบว่า มีประชากรเสือปลาในทุ่งสามร้อยยอด อย่างน้อย 81 ตัว
แมวป่าหัวแบน เสือขนาดเล็กอีกหนึ่งชนิดที่ถือว่าเป็นสัตว์ที่หาตัวได้ยาก อาศัยอยู่ตามป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำทางภาคใต้ และชอบจับปลากินเหมือนเสือปลา ก็มีสถานะน่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะด้วยน่าตาและรูปร่างที่น่ารักกว่าบรรดาเสือทั้ง 8 ชนิดที่เหลือ จึงเป็นจุดสนใจของคนที่นิยมเลี้ยงสัตว์ป่า หลายครั้งจึงมักเจอข่าวลักลอบขายลูกแมวป่าหัวแบนในโลกออนไลน์อยู่เสมอ
รวมถึงบางชนิดก็ถูกค้นพบอีกครั้งเมื่อช่วงปี 2560 อย่าง ‘เสือกระต่าย’ หลังจากสาบสูญไปนานกว่า 40 ปี (รายงานสัตว์ป่าเมืองไทย โดย นพ.บุญส่ง เลขะกุล ปี 2519) บางข้อมูลระบุว่าเสือกระต่ายถูกพบอย่างเป็นทางการล่าสุด ปี 2458
ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเสือขนาดเล็กของประเทศไทยบางชนิดไม่มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาอย่างจริงจัง และมีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก ทำให้เราไม่สามารถรู้ประชากรได้อย่างแน่ชัด และเพื่อไขปริศนาของเสือขนาดเล็ก ร่วมหาคำตอบได้ที่ เวทีเสวนาวิชาการ ‘สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์’ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พิเศษ! เฉพาะผู้ที่เข้าร่วมรับฟังเสวนาวิชาการ รับฟรี! STICKER แมวป่า 9 ชนิดในประเทศไทย คนละ 2 ชนิด ฟรี!
แล้วพบกัน!
วิทยากรประกอบด้วย
- ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยาป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ศุภวัฒน์ เขียวภักดี ผู้จัดการโครงการวิจัยเสือขนาดเล็ก องค์การแพนเทอรา (Panthera) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
- สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ดำเนินรายการโดย ดร.มนูญ ปลิวสูงเนิน ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์ Conservation Program Manager สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย