นับถอยหลังสู่ “เทศกาลต้อนรับเหยี่ยวอพยพครั้งที่ 2” 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. นี้ ที่ทุ่งใหญ่นกเหยี่ยวตำบลท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก
“เหยี่ยวหูดำ” ร่วม 2,000 ตัว “เหยี่ยวดำโกวินทะ” มากกว่า 300 ตัว และนกนักล่าอื่นๆจากไซบีเรียและอินเดียมารวมนอนที่ทุ่งนกเหยี่ยว ในฤดูอพยพช่วงเดือนก.ย.-มี.ค.ของทุกปี
ที่นี่เป็นพื้นที่รวมนอนใหญ่สุดในเมืองไทย รายล้อมด้วยทุ่งนาข้าวน้ำลึกราวแสนไร่ในเขตรอยต่อนครนายก-ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นนาน้ำลึกผืนใหญ่สุดแหล่งสุดท้ายของไทย
ฝูงนกเหยี่ยวหนีหนาวมาพักพิงที่นี่ปีละ 6 เดือน นาน 15 ปีแล้ว ออกหากินจับหนู งู ปลา กบ เขียดในทุ่งนาโดยรอบ โดยเฉพาะหนูนา ศัตรูหลักของนาข้าว ที่เจ้าเหยี่ยวช่วยกำจัดให้ปีละหลายแสนตัว
ชาวต.ท่าเรือช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างดีตามวิถีคนท่าเรือ ทำให้ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก กลายเป็นบ้านร่มเย็นของชีวิตมากมาย และได้รับการยกย่องเป็นพื้นที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในระดับโลก เช่น พื้นที่สำคัญของนกในระดับนานาชาติ (Important Bird Area)
บ้านหลังสุดท้ายของปลาซิวสมพงษ์ (1 ใน 100 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลกตามเกณฑ์ IUCN Red List)
พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) นำร่อง 1 ใน 2 แห่งของไทย คู่กับพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
ชวนดังๆให้คนรักสิ่งแวดล้อม รักนก รักปลา รักนา และรักผู้คน มาเยี่ยมเหยี่ยวดำและผองเพื่อน ในเทศกาลต้อนรับเหยี่ยวอพยพ ที่ชาวตำบลท่าเรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอบต. ร่วมกับอีกกว่า 20 หน่วยงาน จัดขึ้นอย่างอบอุ่น เป็นกันเอง
เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนทุ่งน้ำหลาก ชิมและชอปผลิตภัณฑ์สดใหม่จากทุ่งนาธรรมชาติ จาก 8 หมู่บ้าน และ 2 โรงเรียนในต.ท่าเรือ แค่อ่านชื่อก็หิวแล้ว
- ปลาแดดเดียวและปลาเค็มจากปลาท้องนาหลากชนิด
- ปลาส้มปลาตะเพียน
- ปลาร้าทอด
- แจ่วบองลั่นทุ่ง
- ขนมจีนน้ำยาปลาช่อน-แกงเขียวหวานปลากราย
- ปลาดุกเส้น
- กระยาสารท ทองม้วน และขนมไทยต่างๆ
ชมการแสดง นิทรรศการ ผลงานประกวดภาพวาด คลิปวิดีโอ และแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ทุ่งใหญ่นกเหยี่ยว ของลูกหลานชาวปากพลีจาก
- ร.ร. วัดลำบัวลอย
- ร.ร. วัดเกาะกา
- ร.ร. วัดโพธิ์ปากพลี
- ร.ร. ปากพลีวิทยาคาร
- ร.ร. วัดป่ามะไฟ
ร่วมและลุ้นการแข่งขันสนุกๆชิงรางวัลจากวิถีชุมชน ต.ท่าเรือ
- จับปลาไหล
- กอล์ฟบก
- ตะลุยด่านวิถีชาวท่าเรือ
ติดตามความรู้ล่าสุดจากงานวิจัย ฟังแนวทางการดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และทดลองปฏิบัติการในห้องเรียนสิ่งแวดล้อม จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ
หน่วยงานรัฐ
- กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
- สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน
- สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 กรมทรัพยากรน้ำ
- ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี กรมการข้าว
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปราจีนบุรี และสำนักงานประมงจังหวัดนครนายก กรมประมง
- สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดนครนายก
- สำนักงานเกษตรอำเภอปากพลี
- สภาเกษตรกรจังหวัดนครนายก
หน่วยงานเอกชน
- ชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี
- ทีมงานลั่นทุ่ง
- โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำบางปะกง มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย
- โครงการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในทุ่งน้ำหลากของลุ่มน้ำบางปะกง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
- กลุ่มใบไม้
- บริษัท ดอคเฟรม จำกัด
- บริษัท คุมิ (ประเทศไทย) จำกัด
- องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ร่วมกับกองทุนหุ้นส่วนระบบนิเวศที่สำคัญ (CEPF)
ลงปฏิทินกันไว้ แล้วอีก 40 วันพบกันนะจ๊ะ
รายงานสดจากการประชุมเตรียมงานครั้งที่ 2 วันที่ 19 ต.ค. 67 ที่อบต.ท่าเรือ
ภาพถ่ายโดย จิรายุ จันทร์ศรีคำ