มูลนิธิสืบฯ ส่งเยาวชนร่วมเวที CGYN ที่สิงคโปร์ เสริมศักยภาพผู้นำรุ่นเยาว์ในการอนุรักษ์และการค้าสัตว์ป่า 

มูลนิธิสืบฯ ส่งเยาวชนร่วมเวที CGYN ที่สิงคโปร์ เสริมศักยภาพผู้นำรุ่นเยาว์ในการอนุรักษ์และการค้าสัตว์ป่า 

22 – 25 เมษายน ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ส่งตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม Cites young global network (CGYN) ซึ่งได้เป็นตัวแทนของ 31 ประเทศจากทั้งหกภูมิภาคของ CITES โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (NParks) ของสิงคโปร์ และสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ในการจัดกิจกรรม 

จุดมุ่งหมายของโครงการ CGYN เป็นไปเพื่อต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน โดยกิจกรรมเน้นที่การให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการค้าสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทาง CGYN ได้จัดทำแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลกนี้ แนวทางของ CGYN เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างขีดความสามารถเป็นขั้นตอนแรก ตามด้วยการฝึกอบรมความเป็นผู้นำและโอกาสในการทำงานร่วมกัน  

เหตุที่ CITES ให้ความสำคัญกับเยาวชน เพราะเล็งเห็นว่า เยาวชนคือผู้นำในอนาคตของโลก เยาวชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประสิทธิผลของ CITES จากการเปลี่ยนวิสัยทัศน์การค้าสัตว์ป่าที่ถูกกฎหมาย ยั่งยืน และตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Wildlife Utilisation) บนโลกที่เชื่อมโยงถึงกันของเรา การทำงานร่วมกันข้ามพรมแดนนั้นสำคัญมากเพราะการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายไม่เคารพขอบเขตใดๆ 

โครงการผู้นำเยาวชนของ CITES ได้ดำเนินการเป็นระยะเวลาสี่วันผ่านกิจกรรมเชิงโต้ตอบที่สวนสัตว์ การอภิปรายความเป็นผู้นำ และการประชุมจำลองของภาคี (CoP) เกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ระหว่างวันที่ 22 ถึง 25 เมษายน พ.ศ. 2567 โดยมีผู้นำเยาวชน 41 คนจากภูมิหลังที่หลากหลายในด้านการค้าและการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี

ในวันแรก ได้มีการเริ่มต้นที่ Fort Canning Center โดยมีคําปราศรัยต้อนรับจาก Hwang Yu-Ning ซีอีโอของ NParks และคําปราศรัยเปิดโดย Ivonne Higuero เลขาธิการ CITES 

Ivonne Higuero

Ivonne Higuero เลขาธิการ CITES กล่าวว่า “เราภูมิใจอย่างมากกับพลังงานและความกระตือรือร้นที่แสดงตลอดทั้งโปรแกรม การมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นของผู้แทนเยาวชนยืนยันความเชื่อของเราในพลังของเยาวชนที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของเราในฐานะผู้นําเยาวชนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เห็นอกเห็นใจ และมีส่วนร่วม” 

โดยในตลอดทั้งวันจะเป็นการระดมความคิดสร้าง Roadmap ของ CGYN ว่าควรมีทิศทางอย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ภาพรวมนั้นของกิจกรรมนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เนื่องจากความหลากหลายของพื้นหลังของผู้เข้าร่วมที่ทำงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นักสื่อสารธรรมชาติ รวมถึงนักวิจัย ส่งผลให้การวางรากฐานอนาคตของโครงการนี้นั้นเป็นไปอย่างเปิดกว้างจากการนำแนวทางและสภาพปัญหาผ่านมุมมองของการจัดการของแต่ละภูมิภาคมาปรับใช้เพื่อให้เกิดแนวทางที่ดีที่สุด 

ในวันที่สองของงาน ผู้เข้าร่วมรุ่นเยาว์ได้เยี่ยมชมศูนย์นิติสัตว์ป่า (Centre for Wildlife Forensics) และศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่า (Centre for Wildlife Rehabilitation) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความยากลำบากในการป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย พวกเขายังมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นที่สวนสัตว์สิงคโปร์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรายการทีวียอดนิยม The Amazing Race ที่เป็นการดำเนินเรื่องภายในหัวข้อ การค้าสัตว์ป่า ภายในกิจกรรมจะมีภารกิจให้ทำมากมายเพื่อแข่งกับเวลาโดยทั้งหมดนั้นเป็นการสื่อความหมายในเรื่องของการลักลอบ การตรวจสอบ การสอบสวนและจับกุม  

ในวันที่สาม ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมเยาวชน ที่ได้ทำการประชุมจำลองในรูปแบบภาคี ที่สถาบัน Building and Construction Authority Academy โดยมีการดำเนินการประชุมเสมือนจริงเพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้ถึงลำดับขั้นตอนการขึ้นบัญชีสัตว์ในอนุสัญญาไซเตส ผ่านการถกเถียงในแง่มุมของ สังคม เศรษฐกิจ ชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระบวนการเหล่านี้จะดำเนินการด้วยผลโหวตของประเทศสมาชิกว่าเห็นชอบหรือไม่กับการแก้ไขหรือบัญญัติขึ้นใหม่ กิจกรรมนี้ในภาพรวมจึงเป็นไปเพื่อทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศภายใต้บริบทของ CITES 

ตัวแทนเยาวชนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ตามมาด้วยการอภิปรายระดับสูงว่าด้วยความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งมีผู้นำที่โดดเด่นในประเด็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับ CITES ได้แก่ Ivonne Higuero เลขาธิการ CITES รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของสิงคโปร์ และ Desmond Lee รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านสังคม การบูรณาการบริการ และ Sarah Bagnall ที่ปรึกษาอาวุโสระหว่างประเทศของกระทรวงอนุรักษ์แห่งนิวซีแลนด์และสมาชิกคณะกรรมการประจำ CITES การอภิปรายสำรวจกลยุทธ์ในการส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกและความเป็นผู้นำในความพยายามด้านการอนุรักษ์ โดยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมพิจารณาบทบาทความเป็นผู้นำและอนาคตของตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายเยาวชนและในอาชีพของพวกเขา 

ในวันสุดท้าย ทีมงานได้พาผู้เข้าร่วมไปที่ Botany Center ที่ Singapore Botanic Gardens เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลากิจกรรมที่ผ่านมา ในการกำหนดกรอบการทำงานของคณะกรรมการผู้นำ CGYN และจัดทำแผนงานสำหรับอนาคตของเครือข่ายเยาวชน

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia