การอนุรักษ์นั้นเกิดขึ้นได้ในหลายบริบท ไม่ว่าสังคม สัมมาอาชีพใดๆ ก็ตาม ประชาชนธรรมดาล้วนแล้วแต่สามารถใช้ความสามารถของตัวเองให้เกื้อหนุ่นต่อสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่สิ่งเล็กๆ จากสองมือของเด็กตัวน้อยไปจนถึงผู้ใหญ่ในการร่วมมือกันอนุรักษ์บางสิ่งบางอย่างเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่สุขภาพสิ่งแวดล้อมบ่งบอกถึงสุขภาพกายและจิตของเรา เพราะเราอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน
เชิญร่วมรับฟังเรื่องราวจากผู้มีประสบการณ์การอนุรักษ์ในด้านต่างๆ เพื่อจุดไฟและสานต่อแนวคิดการอนุรักษ์ขึ้นอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 : แรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ วิทยากรประกอบไปด้วย
การถ่ายภาพเพื่องานอนุรักษ์ โดย คุณชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเล
นอกจากจะเป็นช่างภาพอิสระและสร้างสรรค์ผลงานด้านสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเลแล้ว ยังเป็นสมาชิกของสมาพันธ์นานาชาติของนักถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ (iLCP) เขาให้ความสนใจถ่ายภาพธรรมชาติ สัตว์ป่าใต้น้ำ ควบกับนักนิเวศวิทยาทางทะเลฝึกหัด มีความสนใจพิเศษเรื่องชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ของปลากระดูกอ่อน ถือเป็นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ไฟแรง ผลงานภาพถ่ายของเขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัยากรทางทะเลได้เป็นอย่างดี
หากอาวุธของผู้พิทักษ์ในการปกป้องผืนป่าคือการถือปืนเดินลาดตระเวนคุ้มครองพื้นที่แห่งนั้น สำหรับวงการช่างภาพคงหนี้ไม่พ้น การถ่ายภาพ และ คุณชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ซึ่งถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้นำรูปภาพมาสื่อสารงานอนุรักษ์ออกสู่สายตาสาธารณชน โดยเน้นไปที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ความต้องการที่จะสื่อสารเรื่องราวใต้น้ำสะท้อนออกมาผ่านภาพถ่ายอันทรงพลังจนสามารถกระแทกใจคนได้ ปรากฏสู่สายตา ทั้งปัญหาปะการังเสื่อมโทรม ฉลามในอุตสาหกรรมประมงไทย ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบริเวณกองหินขาว ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการทางเรือน้ำลึกปากบารา และอีกหลายเรื่องราวอันน่าสนใจผ่านในการลงพื้นที่ถ่ายภาพ
ร่วมรับฟังเรื่องราวงานถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ วันศุกร์ที่ 7 กันยายน เวลา 13.00-13.30 น.
ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์เยาวชนนักอนุรักษ์ โดย คุณอุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารด้านธรรมชาติ แห่ง Nature Plearn Club
นักสื่อสารด้านธรรมชาติจากทีมนักสื่อสารด้านธรรมชาติวิทยา (Nature Play and Learn Team) ที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายด้านธรรมชาติวิทยา ด้วยการพาเยาวชนไปเรียน เล่น รู้ จากกระบวนการเกมธรรมชาติ ที่เน้นคะแนนความสุขมาเป็นที่ตั้ง
Nature Plearn Club รังสรรค์เกมส์และกิจกรรมต่างๆ เพื่อย่นระยะห่างระหว่างเยาวชนกับธรรมชาติให้เขยิบเข้ามาใกล้กันมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของสัตว์ป่าในเมืองหรือว่าสัตว์ป่าในผืนป่า สร้างความสนุกสนานทั้งยังสอดแทรกองค์ความรู้ ความเข้าใจ ความรักต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
เพื่อคอยเติมเต็มวิตามินจี (G มาจากคำว่า Green) ให้กับเยาวชน ผ่านการสัมผัสความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ แต่มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่มีสายใยเล็กๆ ที่เชื่อมร้อยพวกเราเข้าไว้ด้วยกัน
ร่วมรับฟังเรื่องราวการหวานเมล็ดพันธุ์สู่เยาวชน วันศุกร์ที่ 7 กันยายน เวลา 13.30-14.00 น.
ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย คุณชาญฉลาด กาญจนวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ GREY RAY
แบรนด์ GREY RAY ออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่เป็นมากกว่าเครื่องเขียนเพราะมิได้อ้างอิงพื้นฐานการออกแบบที่ดีเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการใช้งานของผู้บริโภค ผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า
ทำไมเครื่องเขียนจะรักโลกไม่ได้… หนึ่งในปณิธานของแบรนด์เกิดจากการตั้งคำถาม ความรับผิดชอบของสิ่งที่ทำซึ่งจะส่งผลต่อคนกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จึงนำไปสู่การไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทำให้ผลิตภัณฑ์บางชิ้นอาจต้องใช้เวลาศึกษานานถึง 2 ปี เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนของไทยที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค
โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะดีไซน์สวยงามยังคงรักษาคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ EE PENCIL CAP ที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อปกป้องไส้ดินสอ EE ช่วยให้ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า , ดินสอ 2 cm+ ออกแบบจากพฤติกรรมการใช้ดินสอที่ไม่สามารถใช้หมดแท่งได้ จึงลดไส้ดินสอด้านใน 2 เซนติเมตรลงเพื่อลดการใช้ทรัพยากรบางอย่างลงแต่คงคุณค่าการใช้งาน , NATURE MADE ECO ERASER ยางลบที่ผ่านกระบวนการศึกษามาอย่างดีแล้วว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผลิตมาจากเปลือกหอยเชลล์ ลดคาร์บอนของระบบการผลิตในอุตสาหกรรมยางลบได้ถึงร้อยละ 50 และปลอดภัยจากสารก่อมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสหรือสูดดม และอื่นๆ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์เกเรจะได้รับการการันตีมาแล้วจากหลายเวที
ร่วมรับฟังเรื่องราว การสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วันศุกร์ที่ 7 กันยายน เวลา 14.00-14.30 น.
ดารานักอนุรักษ์ โดย คุณเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง นักอนุรักษ์
นางเอกสาว คุณเชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ เวลาราวสองปีเธอได้ลดบทบาทนักแสดงลง และผันเวลามาทำงานเพื่อสังคมและธรรมชาติมากขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจะทำคุณประโยชน์เพื่อแผ่นดินประเทศไทย เนื่องจากช่วงปี 2559 เกิดปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง จึงเริ่มคิดวิเคราะห์และหาข้อมูลร่วมกับกลุ่ม นำไปสู่การรวมตัวกันก่อตั้งเป็นโครงการ Little Forest – ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ
ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ภาคเหนือตอนบน (ออป.) ประชาชนในพื้นที่รวมกับปลูกป่าที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่แล้ว ยังเดินหน้าเพื่อปลูกใจผู้คนทั้งคนเมืองและคนในพื้นที่ หวังให้ความรู้ เกิดการตระหนัก และร่วมมือกันดูแลรักษา
เธอร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมากมายเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการปลุกใจ โดยไม่เป็นการยัดเยียดให้คนต้องตระหนักหรือปฏิบัติตาม แต่เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ ดังที่เมื่อปีที่ผ่านมาคุณเชอรี่ได้ปิดโรงภาพยนตร์เพื่อฉายภาพยนตร์รอบพิเศษเรื่อง An Inconvenient Sequel : truth to power ภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าสารที่เขาเหล่านั้นได้รับไปจะนำไปสู่การคิด ตระหนักและนำไปเป็นพลังในการดูแลรักษาโลกให้สวยงามต่อไป
ร่วมรับฟังเรื่องราว งานอนุรักษ์ โดย คุณเข็มอัปสร สิริสุขะ วันศุกร์ที่ 7 กันยายน เวลา 14.30-15.00 น.
Greenery เดินหน้าวัฒนธรรมสีเขียว โดยคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery
Greenery คือโครงการเครือข่ายผู้บริโภคอาหารปลอดภัยผ่านสื่อใหม่ที่เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความตระหนักต่อพฤติหรรมการเลือกบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย
โดยมีแนวคิด eat good. live green. ที่พยายามเน้นย้ำให้สังคมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร สุขภาพร่างกาย รวมไปถึงสุขภาพโลก จึงผลักดันให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนและสร้างวัฒนธรรมสีเขียวที่แข็งแรง
ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของ Greenery นั้นสนับสนุนให้คนมาร่วมกันใช้ชีวิตกรีนๆ ที่นอกจากจะใส่ใจเรื่องของสุขภาพแล้วยังใส่ใจโลกอีกด้วย เช่น การนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อ Infograghic เรื่อง 10 เหตุผลที่ควรเลิกใช้หลอดพลาสติก การจัดกิจกรรมตลาดนัด Greenery Market ที่นอกจากอาหารจะปลอดภัยแล้วยังสนับสนุนการรักษ์โลก ตั้งแต่การรณรงค์ก่อนเริ่มงานจนถึงจบงานที่มีการแยกขยะและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ครบวงจร
รวมถึงมีกิจกรรมกลุ่มเฟสบุ๊คในชื่อ Greenery Challenge ที่กลายเป็น Community รวมคนที่มีความสนใจเรื่องประเด็นขยะพลาสติกที่สร้างปัญหาให้โลกในปัจจุบัน ให้มาร่วมกันขับเคลื่อน สนับสนุนการลดขยะในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการชวนเล่นกิจกรรม #คิดไม่ถุง #ขวดเดียวแก้วเดิม #ไม่หลอดเนาะ เป็นต้น นอกจากยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทริคใหม่ๆ เพื่อการลดการใช้ภาชนะหรืออุปกรณ์พลาสติกแล้ว ยังเป็นอีกแรงใจที่เข้มแข็งให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าการลดขยะ พกขวด พกถุงผ้า พกหลอด พกกล่องข้าว หรืออื่นๆ ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติในสังคม และยังมีเพื่อนอีกมากมายที่พร้อมจะรักษ์สุขภาพและรักษ์โลกไปพร้อมกับคุณ
ร่วมรับฟังเรื่องราว Greenery เดินหน้าวัฒนธรรมสีเขียว โดยคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery วันศุกร์ที่ 7 กันยายน เวลา 15.00-15.30 น.
สิ่งแวดล้อมเริ่มได้ที่ตัวเรา โดย คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้ง Refill Station
Refill Station ร้านปั๊มน้ำยาแห่งแรกในประเทศไทย เกิดมาจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีแนวคิดในการทำเพื่ออุดมการณ์เดียวกันนั่นก็คือ การลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวและสามารถลงมือปฏิบัติทำได้เลยในชีวิตประจำวัน เรื่องขยะพลาสติกจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ
ความสะดวกสบายของการใช้พลาสติกอาจสร้างนิสัยและพฤติกรรมมักง่ายโดยไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ นำไปสู่ผลกระทบจากขยะพลาสติกเป็นสถานการณ์ที่พบได้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมที่พบขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำต่างๆ รวมถึงสัตว์ทั้งหลาย อาทิ นก กวางป่า เต่า วาฬ ที่ต้องตายด้วยขยะพลาสติก
ร้าน Refill Station ร้านปั๊มน้ำยา จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่อยากลดขยะพลาสติกด้วยการนำขวดบรรจุภัณฑ์เดิมมาใช้ใหม่ด้วยการพกมาซื้อน้ำยาที่ร้าน ซึ่งนอกจากเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแล้ว ยังใส่ในเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไมธุรกิจแบบใหม่นี้จึงให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติก อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภทที่ช่วยส่งเสริมให้คนทั่วไปได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เลยในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบายจากรัฐบาล แต่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยสองมือนี้จากนี้เป็นต้นไป
ร่วมรับฟังเรื่องราว สิ่งแวดล้อมเริ่มได้ที่ตัวเรา โดย คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด วันศุกร์ที่ 7 กันยายน เวลา 15.30-16.00 น.
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมกิจกรรมงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร โปรดพกกระเป๋าหรือถุงผ้ามาสำหรับใส่ของเนื่องจากภายในงานไม่มีพลาสติกบรรจุของหรือผลิตภัณฑ์ให้ เพื่อส่งเสริมการลดขยะพลาสติกที่เป็นหนึ่งในบ่อเกิดของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดูกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ 7 กันยายน ได้ที่ กำหนดการ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ได้ที่ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร