ในเดือนกันยายนปี 2561 นี้ จะครบรอบ 28 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร
แม้กาลเวลาจะพัดพาเรื่องราวการกระทำของชายผู้นี้ให้ไปอยู่ในห้วงคำนึงความทรงจำ แต่ก็เป็นความทรงจำที่ใครหลายคนนำมาใช้เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ และนำสิ่งเหล่านั้นมาสานต่อจนเป็นรูปเป็นร่าง เป็นไปตามเจตนารมย์ของผู้ที่จากไป
ภาพนั้นปรากฎชัดมาตั้งแต่ 18 วันหลังการจากไปของสืบ เมื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันก่อตั้ง ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินเจตนาเหล่านั้นให้ยังคงอยู่
อีกหนึ่งปีต่อมา ‘ผืนป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง’ ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย อันเป็นหลักประกันสำคัญของการดูแลผืนป่าใหญ่ที่สำคัญและอุดมสมบูรณ์ของประเทศไว้ ก็เป็นผลมาจากการหามรุ่งหามค่ำเขียนรายงานนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกของสืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต-ค๊อกซ์
สืบ นาคะเสถียร เคยบอกว่า “ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
สิ่งนี่บทเรียนที่เขาได้รับจากการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน ก่อนนำมาขยายภาพชัดให้เห็นในการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน และได้ถูกส่งต่อถึงภาคประชาชนที่นำบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ในการต่อสู้คัดค้านการนำป่าอนุรักษ์ไปแลกกับเขื่อนจนถึงปัจจุบัน
“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” คำนี้ สืบ นาคะเสถียร พูดขึ้นในเวทีสิ่งแวดล้อม 33 เป็นการประกาศเจตนารมย์ที่จะปกป้องสัตว์ป่าที่ใครหลายคนในเวทียังคงจดจำน้ำเสียงของผู้พูดได้เป็นอย่างดี
เพราะสัตว์ป่าพูดด้วยตัวเองไม่ได้ ในวันนี้ผู้คนที่รักและหวงแหนในการดำรงอยู่อย่างสมดุลของสัตว์ป่าในระบบนิเวศ ต่างล้วนพูดในคำเดียวกับสืบ ดังเหตุการณ์ที่ปรากฎหลังจากสาธารณชนทราบข่าวการล่าเสือดำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
สืบเคยวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งสืบต้องกลับไปขอยืมเงินจากทางบ้าน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกจ้างที่ตกเบิกไปก่อน
ภารกิจแรกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อก่อตั้งองค์กร คือ การตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อช่วยเหลือทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการบางส่วนที่รัฐยังทำไม่ได้
ปัจจุบัน มีทั้งภาคเอกชน สาธารณชน ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากันอย่างท้วมท้น ตั้งแต่เรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ปัจจัยต่างๆ ไปจนถึงการผลักดันเชิงนโนบาย ที่วันนี้นำไปสู่การก่อตั้ง มูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่า โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ สืบ นาคะเสถียร ได้เริ่มไว้ และได้รับการสานต่อ ซึ่งยังมีงานวิจัยที่อีกหลายที่นักวิจัยรุ่นใหม่เดินตามรอยผลงานของรุ่นพี่ด้วยการนำไปขยายผลอีกหลายเรื่อง ตลอดแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านในด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับผืนป่าและสัตว์ป่าโดยตรง
แต่ทำให้วันนี้ เรามีความหวังในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับมาสมบูรณ์ และคืนสมดุลกับโลก เพื่อส่งต่อไปยังอนาคต
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอเชิญผู้สนใจร่วมสานต่อเจตนารมย์ของ สืบ นาคะเสถียร ให้ยังอยู่ ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ณ ห้องอเนประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 20.00 น. (เวทีกิจกรรมในห้องอเนกประสงค์เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. ของทุกวันเป็นต้นไป)
รายละเอียดกิจกรรมจะแจ้งให้ทราบเร็วๆ นี้