ในวันสุดท้ายของงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดเวทีรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมการอนุรักษ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ควรติดตามในปัจจุบัน ตลอดจนนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันที่จะส่งผลต่อการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อไปในอนาคต
ในเวทีดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย
นวัตกรรมโดรนเพื่อการอนุรักษ์
บ่อยครั้งที่พบพะยูน (Dugong) ผู้ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากกลายเป็นซากบ้างยังปรากฏค่านิยมความเชื่อนำเขี้ยวพะยูนไปเป็นเครื่องรางของขลังหรือการลดลงของพื้นที่หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนแต่ไม่ว่าจะด้วยจากเหตุประการใดก็ตามทำให้พะยูนอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งเกิดกิจกรรมหลากหลายเพื่อสนับสนุนในการอนุรักษ์ประชากรพะยูนขึ้นในประเทศไทยซึ่งการสำรวจพะยูนเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
การนำประยุกต์นวัตกรรมโดรนเข้ามามีส่วนช่วยในการอนุรักษ์พะยูนจึงช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พะยูนได้ดียิ่งขึ้น
โดย ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศภาคตะวันออก คณะภูมิศาสตร์สารสนเทศ ม.บูรพาได้ศึกษาการสำรวจพะยูนบริเวณแนวหญ้าทะเลโดยประยุกต์หุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็กในจังหวัดตรังประเทศไทยที่จะช่วยลดข้อด้อยของการสำรวจโดยวิธีการใช้เครื่องบินมีคนขับสำรวจแบบเดิมที่การบินต่ำก่อเสียงรบกวนสูงและจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง
นอกจากข้อมูลภาพจากระบบหุ่นยนต์สำรวจทางอาการขนาดเล็ก หรือโดรน (Aerial Drone) ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแล้ว ข้อมูลที่ได้จะสามารถนำมาผลิตเป็นข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ที่จะช่วยสนับสนุนการวางแผนหรือทิศทางการทำงานเพื่อบริหารจัดการอนุรักษ์พะยูนและทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนได้
อีกทั้งนวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสำรวจประชากรสัตว์ป่าอื่นหรือทรัพยากรชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ร่วมรับฟังเรื่องราว นวัตกรรมโดรนเพื่อการอนุรักษ์ โดย ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศภาคตะวันออก คณะภูมิศาสตร์สารสนเทศ ม.บูรพา ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์
วัน–เวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 เวลา 13.30-14.00 น.
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
กล้อง Ncaps กับการดูแลรักษาป่า
การลักลอบตัดไม้หรือการล่าสัตว์ป่ายังคงเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากความต้องการยังไม่หมดไป การต่อสู้ของเจ้าหน้าที่เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ายังคงดำเนินต่อไป แต่นอกเหนือจากการเฝ้าระวังและตั้งรับกลุ่มผู้ไม่หวังดีเพียงอย่างเดียวแล้ว
พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานได้รับการรบกวนและผลกระทบจากนักท่องเที่ยวน้อยเนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางผืนป่าจึงอุดมไปด้วยสัตว์ป่าและพรรณไม้โดยไม้หอมไม้พะยูงมักตกเป็นเหยื่อของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
อุทยานแห่งชาติทับลานได้นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบกล้องเอ็นแคป” (Network Centric Anti – Poaching System: NCAPS) เข้ามาช่วยในการสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยาน
การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีแบบใหม่มาผสมผสานในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติก่อนที่จะถูกทำลายย่อมดีกว่าการปล่อยให้ธรรมชาติถูกทำลายไปแล้วค่อยเวลาฟื้นคืน เพราะบางครั้งเวลาก็ไม่สามารถเยียวยาทุกสิ่งเสมอไป เช่น หากสัตว์ป่าหายากถูกล่าจนหมดไป เพียงแค่เวลานั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาดั่งกล่าว
ร่วมรับฟังเรื่องราว กล้อง Ncap กับการดูแลรักษาป่า โดย คุณประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์
วัน–เวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 เวลา 14.00-14.30 น.
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การค้าสัตว์ป่าออนไลน์
สถานการณ์การค้าสัตว์ป่าแพร่หลายสู่โลกออนไลน์ทั้งเว็บไซต์หรือสื่อโซเซียลมีเดียช่องทางต่างๆ ทำให้การซื้อขายสะดวกมากยิ่งขึ้น ที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในลักษณะค้าสัตว์ป่าที่ค้าขายทั้งซาก ชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์รูปแบบต่างๆ รวมถึงการค้าสัตว์ป่ายังมีชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการในการเลี้ยงสัตว์แปลกหรือสัตว์หายาก
ค่านิยมในการเลี้ยงสัตว์แปลกหรือหายากอย่างนางอายนากหรือกระรอกดำเพราะความน่ารักอยากเลี้ยงตามกระแสโดยที่ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าพวกมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
หรือความเชื่อในเครื่องรางของขลังหรือการบริโภคตามความเชื่อแผนโบราณที่ยังไม่หมดไป เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์ป่าถูกล่า โดยมีตลาดเป็นศูนย์กลางค้าขายสัตว์ป่าเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ทำให้การล่ายังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น
ยกตัวอย่างการซื้อขายสัตว์ป่าในเฟสบุ๊คที่โพสต์ภาพซื้อขายหรือต่อรองราคากันอย่างมิยำเกรงกระนั้นกฎหมายประเทศไทยเองก็ยังไม่ครอบคลุมพอที่จะเอาผิดต่อผู้โพสต์ที่จะส่งผลให้มีผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม
สถานการณ์การค้าสัตว์ป่าในโลกออนไลน์มีทิศทางอย่างไรและจะเป็นอย่างไรต่อไปค่านิยมความเชื่อสิ่งเหล่านี้จะหมดไปได้หรือไม่
ร่วมรับฟังเรื่องราว การค้าสัตว์ป่าออนไลน์ โดย เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย (TRAFFIC) ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์
วัน–เวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 เวลา 14.30-15.00 น.
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เหตุผลของการปิดพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติ กรณีอ่าวมาหยา
อ่าวมาหยาปิดเป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายนถึง 30 กันยายน
เพื่อให้ธรรมชาติทั้งบนฝั่ง และใต้ทะเลได้ฟื้นตัว เนื่องจากที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว จำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวที่อ่าวมาหยา ทำให้สภาพธรรมชาติทั้งบนฝั่ง และใต้ทะเลถูกทำลายจากดำน้ำดูปะการังน้ำตื้น การทิ้งสมอเรือ ทำลายแนวปะการรัง ฝุ่นตะกอนน้ำทับถมปะการัง ทำให้การเจริญเติบโตช้า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจแนวปะการัง เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจพิสูจน์ พบว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวมาหยา ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้น้ำเป็นตะกอนปกคลุมแนวปะการัง ทำให้ปะการังเจริญเติบโตช้าและเสียหาย จึงเตรียมเสนออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดช่วงหน้าโลซีซั่นในปีหน้าระหว่างเดือนมิถุนายน–กันยายน เป็นระยะเวลา 4 เดือน
ร่วมรับฟังเรื่องราว เหตุผลของการปิดพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติกรณีอ่าวมาหยา โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์
วัน–เวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 เวลา 15.00-15.30 น.
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การจัดการขยะพลาสติก
ขยะพลาสติกสามารถสร้างผลกระทบต่อสัตว์บนบก สัตว์ปีก รวมถึงสัตว์ในท้องทะเล หลายคนอาจจดจำภาพเหล่านี้กันได้ ทั้งนกกระสาติดอยู่ในถุงพลาสติก กวางหรือช้างป่ากินถุงพลาสติกเข้าไป ปูเสฉวนใช้ฝาขวดพลาสติกเป็นบ้าน ม้าน้ำเกาะเกี่ยวด้ามพลาสติกของคัตเติ้ลบัต หลอดพลาสติกติดจมูกเต่าทะเล และถุงพลาสติกกว่า 8 กิโลกรัมที่พบในกระเพาะอาหารของวาฬนำร่องครีบสั้น
ภาพต่างๆ เหล่านี้อาจตรึงตาและปลุกกระแสให้คนหันมาสนใจวิกฤตการณ์ขยะมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาขยะทางทะเลที่ฉายให้เห็นเด่นชัด
ขยะพลาสติกโดยเฉพาะ single-use plastic ควรช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าพลาสติกจำเป็นต้องใช้เวลานานมากในการย่อยสลาย แต่รู้หรือไม่ว่าพวกมันต้องใช้เวลายาวนานถึง 4 ศตวรรษในการล่องลอยในธรรมชาติกว่าจะย่อยสลายกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก
และเนื่องจาก สถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศไทยขณะนี้มีกว่า 27 ล้านตัน มีขยะประมาณ 10 ล้านตันที่ตกค้างสะสมอยู่ในสถานที่กำจัดขยะหรือไหลลงสู่แหล่งน้ำ จากผลการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลก โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเล อันดับ 1 คือ จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 เวียดนาม อันดับ 5 ไทย และอันดับ 6 ศรีลังกา
ปัญหาขยะทะเลไม่เพียงแต่บดบังทัศนียภาพน่านน้ำไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับชีวิตใต้ท้องทะเล เพราะขยะทะเลไม่สามารถย่อยสลายในลักษณะเดียวกับขยะบก อีกทั้งยังลอยน้ำไปได้ไกลถึงทะเลของประเทศอื่นๆ รวมถึงคร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะโลมา วาฬ และเต่าทะเลไทยที่เสียชีวิตจากพลาสติกไปปีละกว่า 100 ตัว
การรวมตัวกันของนักอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขากลายเป็น Mahasamut Patrol Thailand เพื่อปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญและชักชวนผู้คนมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
ด้วยการทำภารกิจต่อยอดงานอนุรักษ์ สร้างนวัตกรรมทางความคิด สร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลยั่งยืน
โดยหวังจะปกป้องท้องทะเลจากมลพิษต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลให้กับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล และระบบนิเวศ ด้วยการทำงานผ่านการสื่อสารรูปแบบต่างๆ วีดีโอ แฟชั่น ศิลปะ และกิจกรรมทางทะเลที่ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาของท้องทะเลที่เกิดจากการทิ้งขยะของมนุษย์
สถานการณ์การขยะทะเลไทยจะเป็นอย่างไร และจะมีวิธีการจัดการปัญหานี้กันได้อย่างไรต่อไป ร่วมรับฟัง การจัดการขยะพลาสติก โดย MAHASAMUT PATROL THAILAND ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์
วัน–เวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 เวลา 15.30-16.00 น
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมกิจกรรมงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร โปรดพกกระเป๋าหรือถุงผ้ามาสำหรับใส่ของเนื่องจากภายในงานไม่มีพลาสติกบรรจุของหรือผลิตภัณฑ์ให้ เพื่อส่งเสริมการลดขยะพลาสติกที่เป็นหนึ่งในบ่อเกิดของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ได้ที่ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร