รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : ความสำคัญงานวิจัย ที่นำไปใช้ในงานอนุรักษ์ กับนักวิจัยรุ่นใหม่

รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : ความสำคัญงานวิจัย ที่นำไปใช้ในงานอนุรักษ์ กับนักวิจัยรุ่นใหม่

“ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา เหมือนกับไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่คนในสังคม ในฐานะที่ผมมีหน้าที่ที่ต้องรักษาป่า ผมก็เลยขอไปทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าแทน”

ครั้งหนึ่งคุณสืบ นาคะเสถียรเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ โดยปี 2526 เขาได้ขอย้ายตัวเองเข้าไปงานเป็นนักวิชาการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อทำงานวิจัยสัตว์ป่า ซึ่งจากการทำงานวิจัยสัตว์ป่าทำให้เขารู้สีกใกล้ชิดกับธรรมชาติและสัตว์ป่า เกิดเป็นความผูกพันและความสุขในการทำงาน

เราพบว่าเขามีอุปกรณ์ส่วนตัวในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว กล้องถ่ายภาพนิ่ง การสเก็ตภาพหรือภาพแผนที่เพื่อประกอบงานวิจัยมากมาย กลายเป็นผลงานวิจัยที่สำคัญของประเทศไทยในเวลาต่อมา

ผลงานวิจัยชิ้นแรกของเขาคือ การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี การวิจัยเรื่องกวางผา ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ และยังมีการวิจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย และนำผลงานการศึกษาวิจัย อาทิ จากการศึกษาโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ที่ทำให้ทราบว่าการสร้างเก็บน้ำตรงผืนป่าแห่งนี้สร้างผลกระทบอย่างมหศาลตามมา เป็นต้น หลายครั้งเขาจึงกลายเป็นไอดอลให้นักวิจัยรุ่นใหม่สนใจการเรียนและทำงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า

 

PHOTO : Thailand Tiger Project

 

จะเห็นแล้วว่าหากนำงานวิจัยไปให้ถูกทางจะเกิดคุณประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหากพูดถึงการความอุดมสมบูร์ของป่าไม้ในประเทศไทยแล้ว จะนึกถึงเสือโคร่งที่เป็นเจ้าป่า ผู้เป็นตัวแทนดัชนีการชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ปัจจุบันการศึกษาวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทยได้รับความสนใจจากทั้งนักวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดยมีทีม Thailand Tiger Project ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ความเหมาะสมของพื้นที่อาศัยและหากินของเสือโคร่ง การสำรวจประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ เป็นต้น

ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่แนวทางในการอนุรักษ์ได้อย่างไร

ชวนรับฟังเรื่องราวจากเวทีเสวนา ความสำคัญงานวิจัย ที่นำไปใช้ในงานอนุรักษ์ กับนักวิจัยรุ่นใหม่ โดย ทีม Thailand Tiger Project ได้ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร : แนวคิดที่สืบต่อ ถอดบทเรียนงานที่สานต่อจากสืบ นาคะเสถียร ร่วมเสวนากับ คุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ คุณสมพร พากเพียร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ คุณช่อผกา วิจิตรตระกูลชัย ผู้ช่วยนักวิจัย สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ดำเนินรายการ โดย คุณเบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์

วัน-เวลา : วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 เวลา 16.00-17.00 น.
สถานที่ : ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รายละเอียด : กำหนดการ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร