เป็นที่รู้กันดีว่าในช่วงที่ผ่านมาวงการอนุรักษ์และภาคประชาชน ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะเรื่องการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า
‘นกชนหิน’ เป็นสัตว์ป่าอีกหนึ่งชนิดที่กำลังได้รับการคุมคามจากการล่าของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้โน้มประชากรของพวกมันอยู่ในข่าย ‘มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์’ เป็นที่มาที่ทำให้สังคมต่างได้ร่วมกันผลักดันให้นกชนหินขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ด้วยการผลักดันทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
และเมื่อเวลา 18.00 – 19.00 น. ของวันที่ 28 มกราคม 2563 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มีการจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ทำไมต้องผลักดันนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน’ เพื่อเปล่งเสียงแทนสัตว์ป่า รวมถึงชวนเพื่อนพี่น้องนักอนุรักษ์ และภาคประชาชนมาร่วมกันหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์นกชนหินอย่างยั่งยืน
สถานการณ์นกชนหินในป่าบูโด กับความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงในกรงเลี้ยง
ปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กล่าวว่า ตอนนี้เรามีโพรงรังนกเงือกที่สำรวจพบตั้งแต่ปี 2537 ประมาณ 22 โพรง ส่วนใหญ่อยู่ในดงไม้ยาง ไม้พวกนี้เป็นที่ต้องการของตลาด นกเงือกก็ต้องการด้วย โดยเฉพาะนกชนหิน ตอนนี้มีแค่ 3 โพรงเท่านั้นที่แอคทีฟจริง ๆ ส่วนใหญ่จะล้มหัก ที่เหลือเราไม่สามารถไปสำรวจได้ เพราะยังขาดแคลนเรื่องบุคคลากร
ปีนี้มีนกชนหินเข้าโพรงแค่ 2 โพรง และสำเร็จแค่โพรงเดียว ส่วนหนึ่งเกิดจากคน เพราะมีเสียงดังไปรบกวนการอยู่อาศัย ตอนนี้นกชนหินที่ป่าบูโด บ้านของนกเงือกจริง ๆ กำลังวิกฤติ เราขึ้นเขาไปสำรวจแทบไม่ได้ยินเสียงร้อง จริง ๆ มันร้องเสียงดังมาก คนที่มาล่าก็เจาะจงมาที่นี่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บ้านของนกเงือก
นกชนหินที่เจอตัวล่าสุด น่าเศร้า เพราะไม่ได้เจอในธรรมชาติ ปีที่ผ่านมา (2563) มีคนล้วงออกจากโพรงรัง และทางเจ้าหน้าที่ยึดมาได้คิดว่าน่าจะล้วงเอาแม่นกด้วย แต่ไม่นานมันก็ตาย
ซึ่งนกชนหินไม่สามารถที่จะเพาะเลี้ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ผมไม่เคยเห็นว่าลูกนกชนหินจะรอดสักตัว เราไม่ต้องพูดถึงการเพาะเลี้ยงในกรงเลี้ยง เพราะมันไม่สำเร็จแน่นอน หรือมันอาจจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่เราจนตรอกแล้วไม่สามารถดูแลมันได้ แต่เราสามารถนำข้อมูลจากการวิจัยมาดูแลลตรงนี้ได้ คือการซ่อมแซมโพรงรัง ดูแลสถานภาพของมันให้มันปลอดภัยจากการถูกคุกคาม
จากข้อมูลที่เราบันทึกตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี มีลูกนกชนหินออกสู่ธรรมชาติ 44 ตัว แต่ในระยะ 2-3 ปี มานี้ จำนวนประชากรของนกชนหินลดลงอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจและสาเหตุก็คือการล่าจากมนุษย์เพื่อเอาโหนกของมัน
ความสัมพันธ์ระหว่างนกชนหินกับระบบนิเวศ
นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า นกชนหินเป็นนกเงือกที่เกิดก่อนตัวอื่น ๆ ในสายพันธุ์เดียวกัน มันจึงดูเป็นนกที่ดึกดำบรรพ์มาก ด้านหน้าของนกชนหินจะตันเหมือนงาช้าง ลักษณะเหมือนงาเลือด เอาไว้ชนกันกลางอากาศของตัวผู้ในการประกาศอาณาเขตและคัดเลือกสายพันธุ์
มีคนเคยพบเห็นพฤติกรรมนี้น้อยมาก ด้วยลักษณะโหนกของนกชนหินที่แตกต่างจากนกเงือกตัวอื่น ๆ กลับทำให้เขาโดนไล่ล่า กลายเป็นหยกทองคำหรืองาช้างสีเลือดที่มีราคาแพง มีการประมูลตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลก หัวของนกหินไม่ได้ประโยชน์อะไรกับใครเท่าไหร่เลย ไม่มีใครต้องการหัวนกชนหินเท่ากับนกชนหินอีกแล้ว ถ้ามันถูกตัดหัวไป มันก็ไม่มีโอกาสดำรงเผ่าพันธุ์ของมันได้
นกชนหินสูญพันธุ์แล้วมันยังไง?
สัตว์ป่ามันมีความสำคัญต่อป่าอย่างมาก ป่าทางภาคเหนือไม่มีนกเงือก ไม่มีชะนี ไม่มีอะไรแล้ว มันมีแต่ต้นไม้ เป็นป่าที่มันเงียบงัน เวลาเราไปทำลายป่า ถ้าไปทำลายหรือล่าสัตว์ป่า ก็เหมือนเป็นการทำลายศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเองของป่าด้วย ต้นไม้มีดอกทั้งหลายมันวิวัฒนาการมาพร้อมกับสัตว์ ใช้สัตว์ในการผสมเกสร กระจายพันธุ์ เพราะต้นไม้ไม่มีขา ฉะนั้นในวงจรชีวิตของป่ามันต้องอาศัยสัตว์ในแง่มุมที่ซับซ้อนหลายอย่าง
ความสำคัญในการกระจายพันธุ์ของนกเงือกมีหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งคือผลไม้หลายชนิดมันมีผลที่ใหญ่มาก เพราะมันถูกออกแบบให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์ตัวโต ๆ นกปรอทหรือนกที่มีขนาดเล็กไม่สามารถกินผลไม้กลุ่มนี้ได้
มีงานวิจัยพบว่าถ้าเราเอาเมล็ดพันธุ์ที่ร่วงจากต้นแล้วเอาไปเพาะโดยตรงอัตราการงอกเท่ากับศูนย์ แต่ถ้าเมล็ดนั้นผ่านน้ำย่อย ไปย่อยในส่วนที่มันหุ้มเมล็ด มันไปกระตุ้นทำให้เกิดการงอกได้สูงมาก เมล็ดเหล่านี้มันถูกออกแบบมาเพื่อให้ผ่านลำไส้นกและเดินทางไปในที่ไกล ๆ ไม่ใช่หล่นใต้ต้นแล้วงอกตรงนั้น เพราะฉะนั้นนกเงือกจึงได้ชื่อว่าเป็นนักปลูกป่า มันทำหน้าที่ปลูกป่า 7 วันต่อสัปดาห์ 365 วันต่อปี
อยากให้เรายังได้ยินเสียงร้องของนกชนหินต่อไป ไม่ใช่เหลืออยู่แค่ในเทป ต้องมาเปิดเล่าให้ฟัง แต่ไม่มีโอกาสได้ยินในธรรมชาติอีกแล้ว อยากให้มันเป็นมรดกทางธรรมชาติที่จะเก็บรักษาให้ลูกหลานของเราต่อไป
การคุ้มครองและบทลงโทษหากมีการลักลอบล่าค้านกชนหิน
สมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ล่าสุดที่เราพบนกชนหินคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมหลวงชุมพรฯ ด้านทิศใต้ ปัจจุบันเราพบใน 10 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง เขตรักษาพันธุ์ 5 แห่ง ตั้งแต่ขสป.กรมหลวงชุมพร ด้านทิศใต้ลงไป ปัจจัยคุกคามหลัก ๆ สามประการ ได้แก่ การล่า ถิ่นอาศัยถูกทำลาย และขบวนการค้าซึ่งสืบเนื่องจากการล่า ตอนนี้เรามีการควบคุมพื้นที่ด้วยการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol ใน 213 พื้นที่ ในทุกพื้นที่ที่มีนกชนหินเราทำแบบนี้หมด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละพื้นที่ที่เดินลาดตระเวนกัน เรามีทีมทั่วประเทศ 1,225 ทีม ในปี 2563 มีการเดินลาดตระเวนทั่วประเทศมากกว่า 2.7 ล้านกิโลเมตร เพื่อดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยของเขา
การดูแลนกชนหินได้มีการประชุมกับทุกภาคส่วนเพื่อดึงให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนให้ได้ ปัจจุบันเขาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อยู่ในบัญชีอันดับ 1 ของไซเตส แต่ถ้าเราทำให้เป็นสัตว์ป่าสงวนได้ การดูแลก็จะเข้มข้นขึ้น มีองค์ประกอบหลายส่วนที่กรมอุทยานฯ ต้องผลักดันต่อไป คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าครั้งต่อไป น่าจะมีโอกาสผลักดันให้เข้าไปเป็นสัตว์ป่าสงวนได้ คือผ่านคณะกรรมการ ครม. และออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา ตอนนี้กรมอุทยานฯ กำลังดำเนินการตามขั้นตอนอยู่ นอกจากนี้จะมีการดูแลอื่น ๆ รวมด้วย จัดตั้งทีมเหยี่ยวดงเพื่อสอดส่องกระบวนการค้าสัตว์ป่า
ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โทษสำหรับสัตว์ป่าคุ้มครอง ล่า ค้า สัตว์ป่า/ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นสัตว์ป่าสงวน ล่า ค้า หรือนำเข้า-ส่งออก สัตว์ป่า/ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าสงวน จะมีโทษรุนแรงกว่าสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 3 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ใน 10 พื้นที่คุ้มครองที่นกชนหินอาศัยอยู่เรามีการลาดตระเวนในการดูแลพื้นที่ ปัจจัยคุกคาม มีเหยี่ยวดงในการดูแลการค้าทางออนไลน์อยู่แล้ว จากข้อมูลองค์การ TRAFFIC ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ พบว่าการค้าซากของนกเงือกร้อยละ 83 เป็นนกชนหิน ผมนำเรียนว่าไม่ว่าเราจะประกาศเป็นสัตว์สงวนหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ การดูแลรักษาเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ การประสบความสำเร็จมันก็จะน้อย ต้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน