พ.ศ. 2528
สืบ นาคะเสถียร ได้เดินทางไปยังดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ร่วมกับ ดร.ชุมพล งามผ่องใส เพื่อทำงานศึกษาวิจัยเรื่องกวางผา หรือม้าเทวดา สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งที่หายากของเมืองไทย ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะตามภูเขาสูงที่มีหน้าผาชัน บริเวณภาคเหนือของประเทศ
เวลานั้นเรื่องราวของกวางผาถือสัตว์ปริศนาที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก รวมถึงยังไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ในประเทศไทยมาก่อน
สืบ พร้อมคณะได้ออกติดตามและสำรวจกวางผาที่ดอยม่อนจอง พบว่า ณ ช่วงเวลานั้น มีกวางผาอยู่ประมาณ 20 ตัวขณะที่ผืนป่าอื่นๆยังไม่รู้จำนวนว่ามีมากน้อยเพียงใด
เพราะกวางผามีถิ่นฐานกระจายอยู่เฉพาะตามหน้าผาของภูเขาที่สูงชันบางแห่งของภาคเหนือบริเวณต้นน้ำแม่ปิงเท่านั้น
อีกทั้งยังพบว่ามีภัยคุกคามจากการล่าสัตว์ดังที่สืบได้บันทึกคำบอกเล่าของเพื่อนร่วมทางเอาไว้ว่า
“น่าจะเป็นพวกล่าสัตว์ที่ชอบจุดไฟ เพื่อให้สัตว์ที่เข้าไปอาศัยร่มไม้ในฤดูร้อนวิ่งออกมาข้างนอก”
และผลจากภัยคุกคามของคนที่เข้ามาล่าสัตว์ ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียผู้ร่วมทีมคนสำคัญในการศึกษาวิจัย คือ คุณคำนึง ณ สงขลา หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าดอยมูเซอ ไปในการลงพื้นที่ครั้งนั้น
เรื่องราวการเดินทางศึกษากวางผาของสืบได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ฟ้าเมืองทอง ฉบับที่ 150 กุมภาพันธ์–มีนาคม 2532 ในชื่อเรื่อง หนึ่งชีวิตกับการแกะรอยกวางผา
พ.ศ. 2533
หลังการจากไปของสืบ เพื่อนพ้องน้องพี่ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสานต่อเจตนาของเพื่อนผู้จากไป และได้หยิบเอาผลงานเรื่องกวางผา มาใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์องค์กร ที่ออกแบบโดยคุณปัณยา ไชยะคำ เป็นภาพ “กวางผากระโดดข้ามเปลวเพลิงบนใบหม่อนสาในคืนที่มีราตรีประดับดาว”
ในการดำเนินการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า มูลนิธิสืบฯ ได้ตั้งกองทุนสัตว์ป่าขึ้นเพื่อสนับสนุนคนทำงานวิจัย และโครงการศึกษาวิจัยนิเวศกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย คือหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนเมื่อแรกตั้งองค์กร
พ.ศ. 2534
ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพหนุ่ม ได้เฝ้าติดตามกวางผาบนดอยต่างๆ บริเวณผืนป่าลุ่มน้ำปิงเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะนำผลงานนั้นมาเผยแพร่ผ่านนิตยสารสารคดีในปีต่อมา
หลังจากนั้นเรื่องราวของกวางผากลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งจากภาพปกนิตยสารสารคดีฉบับเดือนมิถุนายน 2539 เป็นภาพของกวางผาแห่งดอยม่อนจองพร้อมกับสกู๊ปพิเศษเรื่อง “ปริศนากวางผา ม้าเทวดาแห่งผาสูง” โดยช่างภาพสัตว์ป่าคนเดิม
ซึ่งจากผลงานของ ม.ล.ปริญญากร นี่เองทำให้สาธารณชนได้รู้จักกวางผาอย่างละเอียดถี่ถ้วนกว่าในอดีต ทั้งจากเรื่องราวที่บันทึก และภาพถ่ายหลากหลายแง่มุมอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน
พ.ศ. 2561
28 ปีหลังการจากไปของสืบนาคะเสถียร
มูลนิธิสืบฯ ได้จัดกิจกรรม รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 โดยมีธีมงานสำคัญในหัวข้อ “แนวคิดที่สืบต่อ ถอดบทเรียนงานที่สานต่อจากสืบ นาคะเสถียร” ซึ่งได้หยิบยกประเด็นงานสำคัญที่สืบเคยทำมาเป็นหัวข้อสนทนา 4 เรื่อง ประกอบไปด้วย ความสำคัญของงานวิจัย สถานะพื้นที่มรดกโลกของไทย อนาคตผู้พิทักษ์ป่ากับมูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่า และกวางผา ตัวแทนการอยู่รอดของสัตว์ที่ติดเกาะ
ซึ่งในหัวข้อกวางผานี้ มูลนิธิสืบฯ ได้รับความอนุเคราะห์จาก ม.ล. ปริญญากรหนึ่งในผู้ร่วมเสวนานำผลงานภาพถ่ายกวางผาจากฟิล์มสไลด์ที่เพิ่งจัดทำเป็นโฟโต้บุ๊คบางส่วนมาจัดแสดงในงาน
นอกจากนี้ ม.ล.ปริญญากร ยังได้เชิญมิตรใกล้ชิดในกลุ่มช่างภาพสัตว์ป่าอย่างคุณบารมี เต็มบุญเกียรติ (เจ้าของผลงานสารคดี “กวางผา : มหัศจรรย์สี่ขาแห่งผาสูง” ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 281 กรกฎาคม 2551) และช่างภาพอีกหลายท่านมาร่วมแสดงภาพถ่ายกวางผาร่วมกัน
ไม่นานหลังจากนั้นมูลนิธิสืบฯ ได้รับภาพถ่ายกวางผาจาก 4 แหล่งอาศัยในธรรมชาติ และจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย รวม 25 ภาพ เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ “ชีวิตเหนือภูผา” โดยการประสานงานจากคุณบารมี ซึ่งไปชักชวนเพื่อนๆ ช่างภาพมาอีก 5 ท่านประกอบไปด้วย คุณปรีชา ประเสริฐอาภรณ์ คุณธเนศ งามสม คุณอรุณ ร้อยศรี คุณประสาน เปี่ยมอนันต์ และคุณพิพัฒน์พงษ์ มณฑนม เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของกวางผ่านมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน หากแต่มีจุดประสงค์ร่วมกันที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวสู่สาธารณชน เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นความงามของกวางผา และเกิดความตระหนักที่อยากจะรักษากวางผาและผืนป่าที่เปรียบเสมือนบ้านของพวกเขาเอาไว้
สำหรับการจัดแสดงภาพถ่าย “ชีวิตเหนือภูผา” ในครั้งนี้ นอกจากช่างภาพทั้ง 7 จะส่งผลงานที่ตนเองสะสมมายาวนานให้มูลนิธิสืบฯ ใช้จัดแสดงแล้ว ยังยินดีที่จะจำหน่ายภาพถ่ายทั้งหมดนี้ให้กับผู้ที่สนใจผลงาน โดยรายได้จากการจำหน่ายจะเข้าสมทบกองทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสานต่องานอนุรักษ์กวางผา และสัตว์ป่าอื่นๆ ต่อไป
นิทรรศการ “ชีวิตเหนือภูผา” จัดแสดงระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ณ บริเวณทางเข้าห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมสนับสนุนงานอนุรักษ์กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สามารถสนับสนุนภาพถ่าย ซึ่งพิมพ์ภาพลงบนผืนแคนวาสอย่างดี ขนาด 50×75 ซม. โดยสามารถแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ประจำโซนนิทรรศการภายในงาน (ใบเสร็จการการสนับสนุนภาพถ่ายสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน)
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการได้ที่ กำหนดการ รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร