ภาพของมูลนิธิสืบตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง มักมีภาพลักษณ์ไปกันได้กับส่วนราชการที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ ตั้งแต่กรมป่าไม้ในสมัยก่อนกระทั่งส่วนที่แยกมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปัจจุบัน ในช่วงการทำงานในพื้นที่ป่าตะวันตกของเรา เราพิสูจน์ให้เห็นว่าบางครั้งหากนโยบายของฝ่ายราชการอาจจะมีผลกระทบต่อผืนป่าสัตว์ป่า ทางมูลนิธิก็ไม่รีรอที่จะทักท้วงเช่นกัน ดังเช่นกรณีที่ผมบันทึกถึงการไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางบริเวณน้ำตกทีลอซู เป็น อุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2549
อุ้มผาง เป็นดินแดนบนเทือกเขาสูงปลายเขตของแนวเขาถนนธงชัยต่อเนื่องกับแนวเขาตะนาวศรีหากพิจารณาตามความรู้ทางภูมิศาสตร์ทั่วๆ ไป สถานภาพของอุ้มผางเป็นอำเภอที่ค่อนข้างลึกลับการเดินทางต้องข้ามเส้นทางลอยฟ้ากว่าพันโค้งในระยะแค่ร้อยกว่ากิโลเมตร จากอำเภอใหญ่อย่างแม่สอด ในจังหวัดตาก ตลอดแนวชายแดนตะวันตกของอุ้มผางเป็นชายแดนกั้นระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศไทย บางหมู่บ้านในอำเภออุ้มผางยังคงสถานภาพเป็นหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงดั้งเดิม
แต่หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวนามน้ำตกทีลอซู กลับเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของนักท่องเทียวที่ชมชอบธรรมชาติป่าเขา ลำเนาไพร ปีๆ หนึ่งมีนักท่องเที่ยวนับหมื่นๆ คนเดินทางไปเยี่ยมเยือน
เส้นทางจากแม่สอดไปอุ้มผางผ่านไร่นาและผ่าป่าสมบูรณ์เป็นระยะๆ ก่อนถึงอุ้มผางถนนจะตัดแม่น้ำแม่กลองหลายจุด สันเขาระหว่างทางเป็นสันปันน้ำของลุ่มน้ำแม่กลองที่ไหลลงมายังอ่าวไทยกับ ลุ่มน้ำเมยที่ไหลลงเมียนมาไปอันดามัน และระหว่างทางที่ว่าจะได้เห็นภาพการทำลายป่ารุกแผ่ขยายพื้นที่ทำแปลงผักและ พ่นยาลงต้นน้ำแม่กลองกันอย่างอิ่มตา
จากตัวอำเภออุ้มผางไปน้ำตกทีลอซูไม่นับว่าผ่านป่าที่สมบูรณ์นัก หลายที่ถูกถากถางทำไร่แต่ทางเข้าไปที่ตัวน้ำตกกว่า ๒๐ กิโลเมตรก็เป็นป่าทึบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง หากนับจากทางเข้าน้ำตกที่ว่าผืนป่าอุ้มผางจะโอบล้อมตัวอำเภอ และหมู่บ้านไปชนกับผืนป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า คลองลาน และแม่วงก์ทางทิศตะวันออก ส่วนตอนใต้เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผางจะเป็นป่าผืนใหญ่ไปต่อเนื่องกับป่า มรดกโลกอย่างทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดอุทัยธานี ดังนั้นป่าอุ้มผางย่อมเป็นป่าเดียวกับมรดกโลกและเสือห้วยขาแข้งก็ไม่เลือก อยู่จำกัดเขตเฉพาะเขตมรดกโลกอย่างแน่นอน
วันนี้ข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติผู้ดูแลป่าคือกำลังอยากเปลี่ยนสถานภาพป่าตามกฏหมายจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นอุทยานแห่งชาติ
น้ำตกทีลอซูนับเป็นห้องรับแขกใหญ่แห่งหนึ่งของผืนป่าตะวันตก และป่าลึกต่อไปจากนั้นนับเป็นผืนป่าใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครไปรบกวนระบบนิเวศของ สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แน่นอนว่าด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวขนาดนี้ที่ป่ารอบๆ น้ำตกทีลอซูสัตว์ป่า ที่เคยชุกชุมก็แตกหนีเข้าไปในป่าลึกหมดแล้ว
อย่างไรก็ดี สถานภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของป่าอุ้มผางคุ้มครองการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ ป่าไว้ได้พอควร การพัฒนาใดๆ ที่จะกระทบระบบนิเวศได้รับการละเว้นไว้ให้เป็นแหล่งธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็รักษาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกทีลอซูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และบ้านพักนักท่องเที่ยวมากมายดังเช่นอุทยานแห่งชาติ รวมถึงป้องกันการพัฒนาร้านค้าขายฉาบฉวยที่หน่วยงานรัฐจะเปิดสัมปทานให้แม่ ค้าไปตั้งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวชอบสบาย และสร้างรายได้ให้ราชการทั้งทางตรงทางอ้อม
คนไปเที่ยวทีลอซูย่อมถูกคัดเลือกแล้วว่าเป็นคนชอบธรรมชาติ พร้อมจะปรับตัวรับสภาพที่ไม่สะดวกสบายแต่ต้องนอนเต็นท์ ใช้ห้องน้ำรวม ยุงกัดทากกวน แต่นั่นก็เป็นการควบคุมทั้งปริมาณคน ขยะ และจิตใจที่พร้อมจะน้อมรับข้อจำกัดแห่งธรรมชาติ หน้าฝนที่เข้าไม่สะดวกก็ให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลับได้รับประโยชน์จากการนำเที่ยวโดยใช้ รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ล่องแพ รวมถึงบริการข้าวปลาเสบียงอาหาร และต้องใช้ไกด์ท้องที่ในการบริการ แต่หากปรับทีลอซูให้เป็นที่สะดวกสบายใช้รถเก๋งเข้าได้ ไปถึงก็ซื้อข้าวซื้อเหล้าในร้านกิน อยากพักบ้านพักก็จองจากอุทยานฯ อยากกลับก็กลับเลย ดูๆแล้วก็อาจจะมีผลดีในแง่การเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวที่ฉาบฉวย เพิ่มตัวเลขที่รัฐจะได้สตางค์ เพิ่มโอกาสที่คนจะได้ไปดูน้ำตกสวยๆ แน่นอนว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องได้รับผลกระทบ อีกประการที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือเรากำลังปรับสภาพแหล่งธรรมชาติชั้นหนึ่งของประเทศไปเป็นที่เที่ยวดาดๆ เหมือนน้ำตกหลายที่ในเมืองกาญจนบุรีเชียงใหม่ ที่แค่ขับรถไปจ่อๆ ถ่ายรูป กินไก่ย่างส้มตำแล้วก็เสร็จพิธี
คิดอย่างไรก็ไม่เข้าใจว่าทำไมรูปแบบการพัฒนาที่เที่ยวบ้านเราต้องตอบสนองกับ การท่องเที่ยวรูปแบบง่ายๆ เดิมๆที่ฉาบฉวยและทำลายคุณค่าทางธรรมชาติไปแห่งแล้วแห่งเล่า ในขณะเดียวกันก็ทำให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงก็ ต้องดั้นด้นหาแหล่งใหม่ต่อไป ผู้ประกอบการที่บริการการนำเที่ยวที่ได้สัมผัสธรรมชาติ ผจญภัยให้สนุกสนานพอควรตามที่มีอยู่ทุกวันก็คงไม่มีทางเลือกที่ต้องสำรวจ เจาะเข้าไปในระบบนิเวศบ้านของสัตว์ป่าลึกขึ้นๆ และทำลายป่าที่มีสัตว์ป่าให้เป็นป่าต้นไม้เปล่าๆแบบที่เคยเกิดที่ป่าทางเข้า ทีลอซู แน่นอนว่า ด้วยรูปแบบการอนุรักษ์แบบกรมอุทยานแห่งชาติบ้านเรา ย่อมยากที่จะทัดทาน
เวลาเกิดข้อขัดแย้งในเรื่องรูปแบบการจัดการพื้นที่ตามหลักการที่ต่างกันแบบ นี้ทางออกคือมีคนชวนให้คุยกันให้มีทางออกแบบ WIN WIN แปลเป็นไทยว่าชนะทุกฝ่ายได้กันทั้งส่วนราชการ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว แต่ในที่สุดแล้วฝ่ายเสียหายพ่ายแพ้คือธรรมชาติและระบบนิเวศบ้านของสัตว์ป่า
เก็บป่าอุ้มผางเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีมีระดับเหมือนเดิมเถอะครับ อย่าทำลายเป็นที่เที่ยวดาดๆ ที่หมดคุณค่าความเป็นธรรมชาติไปเหมือนที่เคยๆเลย
หมายเหตุ : ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวได้ถูกมอบหมายให้ตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติทำการศึกษาผลกระทบ และมีผลให้หยุดการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2549
ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า
อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ