23 ส.ค.ปี 2561 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของผมอีกวันหนึ่ง
วันนั้นเรามีกำหนดประชุมรายงานผลการดำเนินโครงการในผืนป่าตะวันตกให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชฟัง
โครงการวันนั้นงานหลักๆ คือ สนับสนุนการขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพจากพื้นที่นำร่องที่ทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง ออกไปยังพื้นที่ลาดตระเวนหลายแห่งในผืนป่าตะวันตก
โครงการนี้เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัทปตท. และธนาคารไทยพาณิชย์ มาหลายปี
เมื่อจบรายงาน อธิบดีนิ่งคิดอะไรสักพักแล้วเอ่ยขึ้นกลางที่ประชุมว่า
“ขอให้มูลนิธิสืบฯ หยุดทำงานเรื่องนี้ได้แล้ว”
ผมตกใจ…ไปชั่วขณะ ก่อนที่ท่านจะเอ่ยต่อว่า…
“งานแบบนี้ต่อจากนี้เราจะทำเอง ขอให้มูลนิธิสืบคอยติดตามตรวจสอบเราแทน…”
จากนั้น ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือ SMART Patrol ก็ถูกมอบเป็นนโยบายขยายผลไปทุกกลุ่มป่าทั่วประเทศไทย
วันนั้นผมบันทึกไว้ว่า
…
ประชุมวันนี้ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัวชีวิตผม ในฐานะ “นักอนุรักษ์“
16 ปีที่แล้วผมรับปากมูลนิธิสืบที่มี อ.รตยา จันทรเทียร เป็นผู้นำว่าจะลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย มาทำโครงการใหญ่ในป่าตะวันตก
สิบปีต่อมาเราทำแนวเขตชุมชนจากการมีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับร่วมกันตามโครงการสำเร็จ 100 ชุมชนในป่าอนุรักษผืนป่าตะวันตก พร้อมเอกสารและแผนที่อย่างสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เราใช้เวลาอีกราวสองปี เก็บงานในรายละเอียดต่อจนสิ้นสุดโครงการเฟสที่สี่
แนวเขตนี้สำคัญมากในการลดความขัดแย้ง และควบคุมการขยายตัวของชุมชนรุกป่าใหม่
ทางกรมอุทยานฯ มีการประชุมรับรู้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจผลงานของเรา
ผ่านมาอีกสามปี เมื่อปัญหาพื้นที่ชุมชนในป่าอนุรักษ์ดูท่าแก้ไขไม่ได้โดยใช้ข้อมูลจากผลการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 อธิบดีคนปัจจุบันตัดสินใจใช้แนวทางตามที่เราทำ สั่งให้พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศสำรวจแนวเขตคล้ายคลึงกับโครงการของมูลนิธิสืบฯ โดยใช้หลักการที่พอทำได้จากคำสั่ง คสช. 17 ก.ค. 57 ซึ่งมีกำหนดเสร็จสิ้นปลายเดือนนี้
สามปีที่ผ่านมา เราเริ่มโครงการใหม่ในป่าตะวันตกขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพจากพื้นที่มรดกโลกที่ริเริ่มโดยองค์กรอนุรักษ์สากลอย่างสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือ WCS ออกไปที่พื้นที่ป่าตะวันตกที่ยังไม่ได้ทำใน 25 เส้นลาดตระเวน กำหนดโครงการจะต้องทำ 5 ปี การลาดตระเวนนี้จะดูแลทั้งแนวเขตที่ทำไว้ ตลอดจนทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามแนวทางพื้นที่อนุรักษ์แบบสากล ที่ทำกันในหลายประเทศทั่วโลก
หมดปีที่สาม กรมอุทยานฯ มีโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั่วประเทศด้วยงบประมาณและการดำเนินการเอง
วันนี้มีการประชุมโครงการและมีมติหยุดการสนับสนุนจากเรา เพื่อให้ระบบปกติได้ทดลองเดินเอง และผมได้กล่าวส่งมอบผลงานทั้งแนวเขต และการลาดตระเวนให้กรมอุทยานฯ นำไปดำเนินการต่ออย่างเป็นทางการ
เราเหลือเงินโครงการอีกสองปี เราได้มติให้ขยายผลไปสู่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเริ่มวางโครงการเพื่อฟื้นพื้นที่ชุมชนในแนวเขตตามแนวทางวิถีชีวิตเป็นมิตรผืนป่าอย่างจริงจัง กับหน่วยงานภายในที่กรมอุทยานฯ วางแผนให้รับผิดชอบหลังจากแนวเขตทั่วประเทศแล้วเสร็จ
นี่จะเป็นอีกงานหนึ่งที่ทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะนำเงินที่มีแหล่งทุนสนับสนุนรวมกับผู้บริจาครายย่อย สร้างโครงการนำร่องให้เห็นเป็นความสำเร็จรูปธรรม เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำงานร่วมกับสองเรื่องแรกมาโดยตลอดสิบหกปี
เชื่อว่าเราจะส่งมอบงานดีๆให้กับหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบป่าอนุรักษ์ ขยายผลจากป่าตะวันตกสู่นโยบายของประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง โดยความร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการมูลนิธิทุกท่าน
ขอบคุณผู้สนับสนุน และทีมงานทั้งปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมาทุกท่าน รวมถึงพี่ๆ น้องกรมอุทยานฯ ที่มีมิตรภาพและคำแนะนำที่ดีให้พวกเรามา
ขออุทิศบุญกุศลและผลงานที่จะเป็นรากฐานคุ้มครองป่าไทยอย่างยั่งยืนนี้ แด่พี่สืบ นาคะเสถียร ในวาระครบรอบ 28 ปี
…
หมายเหตุ : การริเริ่มระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพเริ่มจากการทำงานของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ขยายผลต่อมาที่ทุ่งใหญ่นเรศวร อุ้มผาง สลักพระ และมีกองทุนสัตว์ป่าโลกขยายผลสู่คลองลาน แม่วงก์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขยายผลต่อมาอีก 25 พื้นที่ลาดตระเวนที่เป็นพื้นที่ภัยคุกคามต่อการล่าสัตว์ในผืนป่าตะวันตกในส่วนที่เหลือ
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)