ในช่วงปี 2551 – 2552 พวกเราได้รับการสนับสนุนทุนต่อจากประเทศเดนมาร์ก เพื่อขยายโครงการจอมป่าให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในผืนป่าตะวันตก และทำงานกับชุมชนบริเวณขอบป่า โดยมีบันทึกความเข้าใจการทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อเนื่อง ในระหว่างนั้นผมจำได้ดีว่าเป็นช่วงที่พืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด และมันสำปะหลัง กำลังรุกรานวิถีไร่หมุนเวียน และผืนป่าอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกันความหวังใหม่ของพืชยืนต้นอย่างยางพารา ก็เป็นปัญหาหนักจากนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐเอง นี่เป็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่ผมได้บันทึกไว้
…
สองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ป่าในจังหวัดสุพรรณบุรีถูกบุกรุกทำลายออกมาแทรกกับข่าวการรวมพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตามเนื้อข่าวระบุว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคนเป็นเดือดเป็นร้อนเรื่องนี้ออกมาเอง และให้ข่าวเรื่องกับนายทุนบุกรุกป่าสงวนฯ จัดสรรที่ขายรอบๆ เขื่อนกระเสียว และนายทุนอีกนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลังการทำลายป่าบนยอดเขาสูงในอุทยานแห่งชาติพุเตยอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงเก่าแก่ชื่อบ้านตะเพินคี่ ร่วมๆ สามถึงสี่พันไร่
สองสามวันที่ผ่านมาผมเดินทางผ่านพื้นที่แถวๆ นั้นไปๆ มาๆ อยู่หลายรอบ เนื่องจากบนพื้นที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ที่ว่าเป็นพื้นที่ทำงานของโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้าไปเกี่ยวข้องทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติพุเตยอยู่แล้ว และอันที่จริงพวกเราก็รู้ข้อมูลความเป็นมาเป็นไปของการถากถางผืนป่าต้นน้ำในบริเวณนี้มานมนาน แต่เป็นเรื่องอึดอัดขัดข้องอยู่ที่เราเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่อยากจะทำ
วันนี้สถานภาพของพื้นที่ดินบ้านตะเพินคี่เป็นชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ว กลางพื้นที่อนุรักษ์สามพื้นที่ และพื้นที่การปกครองสามจังหวัดต่อเนื่องกัน ได้แก่ ด้านตะวันออกเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตยของจังหวัดสุพรรณบุรี ด้านตะวันตกเป็นอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ของจังหวัดกาญจนบุรี และแทบไม่มีใครรู้ว่าในทางด้านเหนือก็มีพื้นที่ไปถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของจังหวัดอุทัยธานี วันนี้หากยอมรับสภาพความเป็นจริงก็ต้องบอกว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้านล้วนอาศัยทั้งสามเขตที่ว่าในการอยู่กินมานมนาน
รากศัพท์คำว่าตะเพินคี่บอกชัดว่าแปลถึงพื้นที่ต้นน้ำขุนห้วยตะเพิน (คี่ ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่าต้นน้ำ) ชุมชนต้นน้ำนี้มีประวัติการอยู่อาศัยนับร้อยๆ ปี ในพื้นที่บนเทือกเขาป่าตะวันตกแถบนี้ล้วนมีกลุ่มบ้านพี่น้องกะเหรี่ยงยึดครองอาศัยในลักษณะนี้หลายชุมชน ได้แก่ บ้านน้ำพุ บ้านห้วยหินดำ บ้านป่าผาก บ้านป่าคู้ และบ้านทุ่งมะกอก
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมายังมีวิถีชีวิตการทำไร่ข้าวหมุนเวียนครอบครัวละสามไร่ห้าไร่ ไม่ใช้สารเคมี มีข้าวแซมพริกแซมผักหญ้ายาสูบอยู่เต็มไร่ พอหมดปีก็ขยับพื้นที่ปล่อยให้ป่าฟื้นตัวก่อนเวียนมาทำอีกเมื่อพื้นที่มีความพร้อมในการปลูกข้าวใหม่ ภาวะเช่นนี้ทำให้พื้นที่ป่าถูกเปิดเป็นพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ และฟื้นคืนในปีต่อมา ประกอบกับชุมชนมีขนาดเล็ก การคมนาคมไม่สะดวกจึงผลิตแต่พอยังชีพ ดังนั้น พื้นที่ไร่เช่นนี้ในภาพรวมแทบจะไม่ทำให้เสียผืนป่าไปแต่เปรียบกับการขออิงอาศัยชั่วคราวตามธรรมชาติ บ้านเรือนแทบจะไม่มีไม้จริงเป็นวิถีใช้ไม้ไผ่ปลูกบ้านผุพังทำใหม่กันเป็นครั้งคราว
แต่หลังจากรัฐบาลให้สัมปทานตัดไม้ในหุบเขาห้วยหินดำ ทำให้มีคนจากทุกสารทิศติดตามเข้ามายึดครองพื้นที่นำการปลูกพืชไร่ข้าวโพด มัน อ้อย มาเปลี่ยนวิถีชุมชน ตัดไม้เลื่อยกระดานสร้างเรือนถาวร ทำลายพื้นที่ป่าแต่ได้รับการส่งเสริมการเกษตร ในขณะที่วิถีไร่ข้าวผสมผสานเดิมของกะเหรี่ยงถูกหยามว่าเป็นเพียงไร่เลื่อนลอย ในขณะเดียวกันพื้นที่ป่าที่รอดพ้นการสัมปทานก็ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ชุมชนที่ตัดป่าเตียนถูกกันออกจากการประกาศและรับรองสิทธิทำกินไปส่วนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันชุมชนในป่าที่ไกลออกไปยังคงวิถีรักษาพื้นที่ป่าถูกประกาศอุทยานทับและมองเป็นชาวเขาผู้บุกรุก แต่จากประเพณีและวิถีการรักษาป่าของเขาทำให้พื้นที่ป่าแทรกรวมกับวิถีชุมชนอย่างสอดคล้องกลมกลืน ทำให้ชุมชนป่าเหล่านี้ถูกยกว่าเป็นคนรักษาป่ามีชีวิตพอเพียง แต่ก็มีการจับกุมกระทบกระทั่งในข้อหาฟันเผาไร่เลื่อนลอยอยู่ตลอดมา
อย่างไรก็ตาม หลายปีผ่านมาคนพื้นราบเอาข้าวโพด ปุ๋ย ยาเคมีไปให้เขาปลูกข้าวโพด อาหารสัตว์ราคาดีขึ้น ในไร่เดิมๆ ขยายที่จนแทบเปลี่ยนวิถีไปหมด หมู่บ้านตะเพินคี่ที่อยู่ไกลบนเขาสูงก็ไม่รอดพ้นการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวดังกล่าว
สองสามปีที่ผ่านมาพวกเราพยายามทำงานเพื่อสำรวจแนวเขตไร่ซาก ไร่ข้าว และข้าวโพด เพื่อหาข้อตกลงที่ลงตัวระหว่างเขตป่าและเขตบ้าน วัตถุประสงค์ก็เพื่อความปกติสุขในการอยู่อาศัยของชุมชนและพื้นที่อนุรักษ์ไม่ให้กระทบกระทั่งกัน
วันนี้ราชการในระดับพื้นที่เริ่มเข้าใจและยอมรับวิถีไร่ข้าวชาวกะเหรี่ยงและชาวกะเหรี่ยงก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าการมีอุทยานฯ มาประกาศทับที่ทำให้นายทุนและคนพื้นราบยังไม่มารุกรานซื้อที่ซื้อทาง และขณะเดียวกันก็ยังคงวิถีไร่ข้าวที่สอดคล้องกับระบบนิเวศป่าไว้ได้ตามควร แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ดูเหมือนการทำงานของเราเทียบความเร็วไม่ได้กับการรุกคืบของกระแสข้าวโพดราคาดี มีระบบปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ที่ให้เชื่อไว้ก่อน ก่อนที่จะทบกำไรรีดคืนอย่างท้นทวีเป็นหนี้ต่อหนี้ที่ไม่สิ้นสุด ผลคือการถากถางพื้นที่ไร่ข้าวยาวไกลสุดตาไม่เหลือป่าอ่อนป่าแก่ใดๆ ให้เป็นต้นน้ำอีกในขุนห้วยตะเพิน
คนในอุทยานแห่งชาติพุเตยปรารภถึงความลำบากในการทำงานกับเรื่องราวที่อ่อนไหวเกี่ยวกับหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรมอันเปลี่ยนแปลงไปสุดที่จะบอกเล่าห้ามปราม เพราะที่ผ่านมาเองรัฐก็ไม่ยอมรับวิถีไร่หมุนเวียนรักษาป่า ยิ่งพอมาปลูกข้าวโพดก็ยิ่งเห็นทางหายนะทั้งชุมชนและผืนป่า นอกจากนั้น ยังมีความอึมครึมเกี่ยวกับการขายที่มือเปล่าให้คนนอกไปทำกิจการเรือนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้กันว่าเกี่ยวพันถึงใครในแวดวงการเมือง
ภาพดาวเทียมบอกชัดว่าอุทยานแห่งชาติพยายามแล้วในการรักษาผืนป่าและหากมองอย่างยุติธรรมก็จะเห็นผลงานการสกัดการรุกคืบของไร่ข้าวโพดไม่ให้กล้ำกลายขอบเขต แต่ป่าสงวนฯ จนถึงรอบเขื่อนกระเสียวโดยรอบถูกทำลายกลายเป็นป่า “ไม่อนุรักษ์” ไปอย่างหาอนาคตไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานแนวเขตที่ดินบ้านตะเพินคี่เท่านั้นคงไม่เพียงพอ แต่หากต้องการความเข้าใจการฟื้นฟูความเป็นขุนห้วยทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และวิถีวัฒนธรรมให้กลับมา
ตามข่าววันนี้มีการเสนอให้ปลูกยางพาราแทนไร่ข้าวโพด ซึ่งน่าจะเป็นการเอาปัญหาหนึ่งไปแทนปัญหาหนึ่ง การค้ากำไรเอาเปรียบชาวบ้านยังคงมีต่อไป สวนยางย่อมไม่สามารถทดแทนป่าต้นน้ำ และรับรองว่าปัญหาต่อจากนี้คือการรุกเข้ายึดครองซื้อที่ดินมือเปล่าของชุมชนกันเป็นการใหญ่
ปัญหาที่ซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือและทำความเข้าใจปัญหาจากหลายฝ่าย เข้าใจป่า เข้าใจคน และปรึกษาหารือบนพื้นฐานของการฟื้นป่า รักษาชุมชนให้สู่ความสมดุลและยั่งยืน ให้ปัญหาป่าสุพรรณบุรีวันนี้นำไปสู่รูปแบบที่เป็นโมเดลที่ดีในการแก้ปัญหาป่าๆ คนๆ ต่อไปครับ
หมายเหตุ : ปัจจุบันพื้นที่หมู่บ้านตะเพินคี่ได้รับการไขปัญหาโดยหมายแนวเขตพื้นที่จากอุทยานแห่งชาติพุเตยแล้ว
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)