ตั้งแต่เริ่มตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเมื่อปี 2533 เป็นต้นมา มูลนิธิสืบได้รับความสนับสนุนจากงานภาควัฒนธรรมและศิลปะ ดนตรี ต่างๆ มากมาย จนในสมัยโน้นมีคนรอคอนเสิร์ตเพื่อการอนุรักษ์ป่าจากคาราบาว พี่หงา มีแจมด้วยพี่หมูพงษ์เทพ คุณปู คัมภีร์ และผองเพื่อนในแวดวงนี้ตลอดมา
จนกระทั่งที่ผมเข้ามาทำงานเรายังสามารถทำคอนเสิร์ตใหญ่ได้อีกสองครั้ง เป็นการรวมตัวของน้าแอ๊ด ต่อด้วยวงน้าหงา และปิดด้วยพี่หมูพงษ์เทพ ที่ธรรมศาสตร์ ในปี 2548 ปีต่อมาพี่หมูได้กรุณาเอาคอนเสิร์ตที่เล่นกับวงออร์เคสตร้าของมหิดลวงใหญ่มาเล่นในช่วงรำลึก 16 ปี สืบ ซึ่งทั้งสองครั้งเก้าอี้เสริมยังแทบไม่พอ
แต่หลังจากนั้นสภาพการเมือง สังคมคล้ายจะเปลี่ยนไป ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงจนเราไม่สามารถจัดงานดนตรีขนาดใหญ่ได้เท่าไหร่นัก แต่งานดนตรีแบบนี้นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้คนรักษ์ป่า รักพี่สืบได้มารวมกัน เป็นงานเชิงสัญลักษณ์ที่ยังคงมีพลัง แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป พี่หงา พี่หมู พี่ปู พี่แอ๊ด ก็เริ่มอยู่คนละกลุ่มเป้าหมายกับคนรุ่นใหม่ที่เราต้องส่งต่อการสื่อสารเรื่องงานอนุรักษ์ให้เขา นี่เป็นความพยายามของเราในครั้งหนึ่งที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เมื่อราวปี 50-51
…
พี่หว่อง คาราวาน หรือ มงคล อุทก บอกผมว่า “น่าจะแจมกับสินเจริญนะ เขาเล่นคาราวานได้ เคยเล่นด้วยกันแล้ว สนุกดี”
ผมนั่งคุยกับพี่หว่องในเย็นหนึ่งก่อนคอนเสิร์ตเดี่ยวเล็กๆ ที่จังหวัดอุทัยธานี
จากนั้นมา เราเริ่มโครงการดนตรีเสียงจากป่าตะวันตกโดยการปรึกษาพี่หงา สุรชัย จันทิมาธร ซี่งได้ผลไม่ต่างจากคำแนะนำของพี่หว่อง และรีบดำเนินการทาบทามพี่น้องสินเจริญ
และแน่นอนว่า เราได้รับการตอบรับอย่างดี
วันหนึ่งของการคุยโครงการกันในร้านกาแฟในห้างชานเมืองแห่งหนึ่งที่พี่หงานัดหมาย ขณะที่พวกเรากำลังเริ่มอธิบายแนวคิดแบบซับซ้อนๆ ที่มูลนิธิสืบฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังดำเนินการร่วมกัน เรื่อง “การจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ” ภายใต้ “โครงการการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Area – JoMPA : โครงการจอมป่า)” ให้พี่หงาฟัง และมีแนวโน้มว่าจะวิชาการไปการใหญ่ ทันใดนั้นน้องบอม แห่งสินเจริญก็เดินเข้ามาแบบไอ้มดแดงที่ช่วยเหลือน้าหงาออกจากความมึนงงทางวิชาการจากพวกเราได้ในทันที
“ผมคิดถึงพี่หงามากเลยครับ” พลางเดินมาพินิจเบื้องหน้าพี่หงานิ่งอยู่พักหนึ่ง ด้วยสายตาบ่งบอกความรู้สึกคิดถึงมั่กๆ จากนั้นความโกลาหลเล็กๆ ก็มาเยือนร้านกาแฟเมื่อ เบิ้ล และ บอย ติดตามบอม เข้ามา ร้านกาแฟกลายเป็นเหมือนสถานที่จัดรายการสินเจริญเชิญแขกไปในทันที
พี่หงาและพวกเราถูกสัมภาษณ์สดๆ และมืออาชีพแบบสินเจริญเริ่มทำงาน
จากเรื่องจำนวนกีตาร์ของพี่หงาและน้องบอม ขยายไปสู่เรื่องป่า เรื่องคน และดนตรีอย่างกลมกลืน และที่พวกเราก็ไม่รู้ตัว ทันใดนั้นโปรแกรมและกำหนดการก็เสร็จสิ้นท่ามกลางเสียงหัวเราะที่ยังไม่มีพักของวงสนทนา โดยไม่เห็นต้องอธิบายวิชาการยากๆ แบบที่เรากำลังเสนอใส่พี่หงาตอนแรกๆ เลย
และนี่แน่นอนว่านี่คือความสามารถพิเศษและลักษณะเฉพาะตัวอย่างยิ่งของ “พี่น้องสินเจริญ”
และกลางหนาวต้นเดือนมกราคม 2551 มาทีมงานภาคสนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ที่กำลังทำงานในโครงการจอมป่า ได้มีโอกาสต้อนรับนักขับรถฝีมือดีชื่อพี่หงา คาราวานที่ขับเดี่ยวฝ่าหนาวมาถึงป่าอุ้มผางในตอนเหนือสุดของผืนป่าตะวันตก และร่วมเดินทางเข้าป่าไปดูชีวิตและการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกกับชาวบ้านในชุมชนกลางป่าลึกในแถบลุ่มน้ำแม่จัน ในการหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรและวิถีการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ในภาคราชการ
แน่นอนว่าการแสดงสดๆ จากกีตาร์ตัวเดียวหลังรถคันสวยของพี่หงา สร้างความประทับใจให้เราและชาวบ้านได้สุดยอดอย่างเคย
จากนั้นเราได้รับการตอบรับจากชุมชนต่างๆ ที่มาร่วมแสดงนิทรรศการและการแสดง และได้รับตอบรับจาก “เสียง” อื่นๆ ในป่าตะวันตก โดยเฉพาะเสียงของพี่อ่ำ สายันต์ น้ำทิพย์ ลูกน้องเก่าแก่ของพี่สืบ นาคะเสถียร ที่มีชีวิตอีกด้านเป็นนักร้องดังของจังหวัดกาญจนบุรีแถวป่าสลักพระ เสียงของพี่ประกอบ ช่วยสีนวล อุทยานเขื่อนศรีนครินทร์ที่จะมาพร้อมคณะรำตงแห่งบ้านแม่กะบุง เสียงพี่สมเกิด คำปานประชาสัมพันธ์อารมณ์ดีจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออก ที่มากับรำกระทบไม้แบบกะเหรี่ยงอุ้มผาง และพี่บุญเลิศ เทียนช้างที่รับปากจะนำงานวิชาการเรื่องเสือจากห้วยขาแข้งมาอธิบายแบบง่ายๆ ให้เสือมาใกล้ชิดสนุกสนานกลางบรรยากาศดนตรี
กลางแดดร้อนบนถนนหน้าโอลด์เล้งแห่งย่านอาร์ซีเอ เมื่อก่อนงาน
พวกเราได้ต้อนรับรถของครอบครัวสินเจริญที่มาจอดที่หน้าร้านพร้อมอุปกรณ์ดนตรีที่พี่น้องทั้งสามหอบหิ้วลงมา เนื่องจากวันนั้นเรามีนัดหมายแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเรื่องคอนเสิร์ต “เสียงจากป่าตะวันตก” ในวันที่ 19 เมษายน 2551
หลังจากเสียงตู่ ตะวันฉาย นักดนตรีฝีมือดีจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกมาวอร์มในเพลงที่บอกกล่าวเรื่องราวของพี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงปากะญอและกะเหรี่ยงโผล่ว ครูดนตรีในชุดพื้นถิ่นจากหมูบ้านกองม่องทะแห่งป่าทุ่งใหญ่ก็ขึ้นขับขานเพลงพิณพื้นบ้านที่เป็นเครื่องดนตรีสายลวดที่เรียกว่า “นาเด่ย” มีนักดนตรีสมัยใหม่อย่างพี่น้องสินเจริญนั่งแถวหน้ารับฟังด้วยความสนใจอย่างยิ่ง
บอม เบิ้ล และ บอยขึ้นปรับเสียงบนเวทีและเชิญพี่หงาที่นั่งรออยู่เพื่อแจมดนตรี
พวกเราทุกคน อึ้ง ทึ่ง กับปรากฏการณ์เบื้องหน้า เมื่อพี่หงาร้องเพลง “พ่อเราอดทน” ให้พี่น้องบอม เบิ้ล บอย เป็นวงแบคอัพเฉพาะกิจ ไม่น่าเชื่อว่านี่คือการยืนบนเวทีร่วมกันครั้งที่สอง
เมื่อจบเพลง “แด่เจ้าดอกไม้” เพลงของคาราวานที่สินเจริญเลือกมาร้องเป็นกำลังใจให้พวกเรา สิ่งที่ทุกคนในที่นั้นรู้สึกเหมือนกันก็คือ อยากให้ถึงวันคอนเสิร์ตเร็วๆ และอยากอวดปรากฏการณ์แบบนี้ให้คนเยอะๆ ได้เห็นด้วย
วันคอนเสิร์ต กลางฤดูร้อนเมื่อปี 2551 ฝนฟ้าไม่เป็นใจกับคอนเสิร์ตเล็กกลางแจ้งของเรา มีคนมาไม่มากนัก แต่คุณภาพการแสดงแสนสนุกประทับใจอย่างที่คิดไว้ ที่สำคัญคือเราได้ทดลองผสมผสานเนื้อหาการทำงาน เข้ากับการแสดงได้อย่างดี ซึ่งทั้งหมดถูกบันทึกไว้อย่างดีในระบบดิจิตอลตามยุคสมัย
หวังว่าคงมีคนรุ่นใหม่ ได้สัมผัสในสื่อใหม่อย่าง YouTube บ้างก็พอแล้ว
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)