บนศาลากิจกรรมหลังใหม่ของกลุ่มต้นทะเล บ้านม่องค๊วะในป่าลึกของอุ้มผาง ที่วันนั้นคล้ายเป็นวันประกาศเจตนาสืบทอดความเชื่อศรัทธาเรื่องคำสอนฤๅษี ที่จริงๆ แล้ว น่าจะเป็นความศรัทธาสืบต่อแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเรื่องการรอพระศรีอาริยะเมตไตรที่จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปต่อจากพระพุทธโคดมที่แพร่กระจายสืบต่ออยู่ในคนพุทธทั้งมอญ พม่า ไทย โดยเฉพาะในรัฐคะหยิ่นที่เป็นรัฐกะเหรี่ยงในพม่า นี้เป็นความรู้ที่คนโผล่วบ้านทิบาเก และเลตองคุ เล่าให้ผมฟังเมื่อหลายปีมาแล้ว
แต่สำหรับคนปากะญอที่ม่องค๊วะ อาจจะไม่ได้อธิบายอะไรให้ฟังในลักษณะนี้ แต่ลุงพินิจ ที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมฤๅษีของย่านนี้ ก็ปฏิบัติตนคล้ายผู้ทรงศีล แต่งชุดขาว ทำพิธีกรรมกับต้นโพธิ์ ตามตำรับตำราโบราณก็ไม่เคยขัดข้องอะไรในความเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านี้เข้าหากัน ตามสิ่งที่ได้รับคำบอกเล่าเมื่อได้เดินทางทำงานในป่าตะวันตกของผม
วันนั้นลุงเองก็ไม่ได้กล่าวอะไรมากไปกว่าให้ศีล ให้พรแสดงความยินดีที่ลูกหลานได้มารวมกันเพื่อตั้งใจที่จะ “ปฏิบัติ” เพราะหน้าที่ พูดจาวันนั้นเหมือนลุงๆ ได้วางสคริปต์ไว้แล้วว่าเป็นหน้าที่ของลุงจ้าเหย่ หรือ สหายสมหมาย ที่พูดภาษาไทยและปากะญอ ได้คล่องแคล่ว
แสงแดด ยามใกล้เที่ยงลอดช่องแสงใกล้หลังคาใบตองตึงลงมากระทบกับควันยาเส้นใบจากของผู้อาวุโสด้านหลังศาลาใกล้ทางขึ้นทำให้บรรยากาศในศาลาไม้ไผ่ดูขึมขลังคล้ายโบสถ์วิหาร
พลันผมเชื่อมโยงคำสั่งสอนของฤๅษีตามตำราปากะญอจากลุงพินิจ ในเรื่องการถือเรื่องสัตว์ป่าเจ็ดชนิดไปสู่ความศรัทธาอีกชุดหนึ่งของปราชญ์กะเหรี่ยงโผล่วฝั่งเมืองกาญ์ที่เรียกว่า “หลักวัตถุธรรมตา” ที่ว่าความสมดุลของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ สัตว์ป่า คน เป็นหลักสำคัญ หากเจ็ดอย่างนี้ปกติ ก็สงบสุข แต่หากเกิดความไม่สมดุลกันแล้วจะทำให้ บุคคล ครอบครัว ชุมชน และโลก เดือดร้อน อย่างที่ผมบอกแล้วว่าฝั่งทางกาญ์มีความใกล้ชิดกับวัดวาว่าบาลีคล้ายบ้านผมอยู่มาก
บรรยากาศศาลาไม้ไผ่ในแสงสวยกระมั่งที่นำความคิดของผมไปเทียบเคียงเรื่องราวสองชุดความเชื่อเข้าหากันอย่างพอดี ฤๅษีสอนให้รักษาธรรมชาติป่าเขา ชุมชนกลางป่าก็ย่อมมีสัตว์ป่าที่ทุกคนคุ้นชินเป็นสัญลักษณ์ให้คนเข้าถึง ผมเทียบเคียงเลียงผาที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในกลุ่มต้นทะเล ที่ถือ และผิด เพราะเป็นเจ้าผา กับ ดิน เก้งหม้อ เจ้าที่ลำห้วยเป็นน้ำ นกแซงแซวผู้พิพากษาของนกย่อมเป็นลม และงูเหลือมที่ถือเป็นสัตว์ใหญ่เป็นไฟ เนื่องจากคอยขจัดทำลายสัตว์ป่าต่างๆให้มีจำนวนสมดุล ชะนี เจ้าป่าดงดิบ คือต้นไม้ นกกก ที่แทนพระเจ้าแผ่นดิน คือ คน อย่างพอดิบพอดี และคนโผล่วก็เชื่อเช่นกันว่าสิ่งเจ็ดอย่างสร้างสมดุลปกติสุข
หลักการอนุรักษ์ทั่วไปแบบนักวิทยาศาสตร์ที่ผมเคยรู้มาที่ว่าการอนุรักษ์ไม่ใช่การไม่ใช้เลย แต่เป็นการใช้แบบฉลาดรักษาสมดุล ใช้ได้เท่าที่เป็นผลผลิตไม่กินทุน ก็คงเหมือนที่หัวหน้ามงคล นักวนศาสตร์ผู้ดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางกล่าวนำว่าเข้ามารักษาทรัพยากรให้อยู่ได้ด้วยความพอดี โดยมีเครื่องมือคือตัวบทกฎหมายอำนาจหน้าที่ ทำเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ทุกชีวิตเป็นปกติสุข ไม่มากไป ไม่น้อยไปจนทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าเสียหายมากกว่านี้ และในทางวิทยาศาสตร์นิเวศวิทยา เรามักกำหนดดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าด้วยสัตว์ป่าบางชนิด ที่มีคุณสมบัติของชนิดพันธุ์บ่งชี้บางเรื่อง เช่น ป่าที่มีเสือใหญ่สืบทอดลูกหลานกระจายพันธุ์ก็ย่อมมีสัตว์กีบที่เป็นอาหารจำนวนมากพอ ป่าที่มีนกเงือกก็ย่อมมีไม้ใหญ่ให้ตัวเมียอาศัยในโพรง ป่าที่มีกบทูต ย่อมมีแหล่งน้ำ นั่นก็หมายความว่าหากยังพบเจอสัตว์บางชนิดระบบนิเวศก็ยังสมดุลอยู่ได้นั่นเอง
ถึงตอนนี้ผมมั่นใจว่าคำสั่งสอนโบราณของฤๅษีป่าในชุมชนกะเหรี่ยงเรื่องสัตว์ป่าคงมิได้หมายความเพียงแค่ให้บันยะบันยัง การล่า การกินของชาวบ้าน แค่ห้ามกินนกกก ไม่กินชะนี เพื่อรักษาสัตว์ป่าไว้บ้างแค่นั้น แต่น่าที่จะเชื่อมโยงไปถึงการรักษาสมดุลของป่า ที่จะไม่ก่อความเดือดร้อนมาให้ตนเอง ครอบครัว ชุมชน และคนภายนอก ดังที่คนโผล่วเขาว่ามา หากยังมีเลียงผา ภูเขาก็ยังต้องสมบูรณ์มีป่าคลุม คอยเติมธาตุอาหาร ลงมาให้ไร่นาเบื้องต่ำ หากยังมีเก้งหม้อ หากินได้ในใกล้ลำน้ำ คุณภาพและปริมาณน้ำในห้วยก็ต้องดีพอ มีนกแซงแซวร้อง ก็น่าจะบอกถึงลมฟ้าอากาศ ปกติ มีงูเหลือม ก็กำจัดสัตว์รอบหมู่บ้านเช่นปริมาณลิง หมูป่า สารพัดที่คอยมารบกวนพืชในนาไร่ เหมือนไฟที่เป็นตัวกำจัดเผาไหม้สิ่งต่างๆ มีชะนี ป่าต้นน้ำก็คงยังปกติ มีสมเสร็จอยู่ในป่าต่ำสองฝั่งห้วยอยู่ได้ สัตว์ป่าอื่นๆ ก็อยู่ได้เช่นกัน มีนกกก ก็เท่ากับมีความยั่งยืนของต้นไม้พันธุ์ไม้ที่จะกระจายพันธุ์อยู่ทั่วป่า เป็นความยั่งยืนของระบบใหญ่ซึ่งน่าจะต้องเกี่ยวกับคนที่ต้องไม่ทำลายวงจรการสืบสายเผ่าพันธุ์ เช่นกัน
เมื่อสายๆ ตอนเริ่มงาน ลุงจ้าเหย่พูดนำไว้ว่าสืบ นาคะเสถียร เคยอนุรักษ์ป่า เดี๋ยวนี้ไม่มีสืบ ก็มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเข้ามาแทน เหมือนฤๅษีที่บอกให้รักษาป่า ตอนนี้เรามาทำงานร่วมกันทั้งชาวบ้านกลุ่มต้นทะเล เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็มีเป้าหมายเหมือนกัน
หัวหน้ามงคลก็พูดว่าเข้ามารักษาสมดุลทั้งระบบนิเวศและคน ให้พอดี เมื่อผมคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ว่ามาถึงได้เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของความเหมือนกันที่ปราชญ์เฒ่าเบื้องหน้าผมเขาคิดไปถึงและคงถึงคิวที่ผมต้องเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้คนบนศาลาได้เข้าใจเหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงสิ่งต่างๆให้พอดี รักษาตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์ของฤๅษีให้ได้ การสืบทอดงานอนุรักษ์รักษาสมดุลปกติสุขให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน และโลกข้างนอกที่รวมถึงบ้านผมบ้านคุณอยู่ด้วย
มีแนวทาง ผู้คน และความรู้ครบถ้วนอยู่แล้วขึ้นกับว่าเราจะสร้างสมดุลและเป็นคนกลางเชื่อมประสานได้พอดีได้แค่ไหน บนหนทางอีกยาวไกลนักในเส้นทางป่า เส้นทางคน แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับคนกะเหรี่ยงที่ประกาศตัวรักษาประเพณี ความเชื่อฤๅษีที่สืบทอดมาหลายร้อยพันปี รักษาความดี ชุมชนดี รุ่นต่อรุ่น เพื่อรอเป็นกำลัง ให้องค์ศาสดาองค์ใหม่ในอีกไม่รู้กี่ร้อยพันปีข้างหน้า
ลุงจ้าเหย่ บอกว่า ทุกอย่างเหมือนกัน ทุกอย่างมาเหมือนกันแล้ว
บทความเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร ค.คน ฉบับ 85-86-87 | ธันวาคม 2554-กุมภาพันธ์ 2555
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)