หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง มงคล คำสุข เป็นคนหนุ่มพื้นเพจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มารับตำแหน่งคนดูแลป่าในพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนเก่าแก่ของปากะญอสามสิบกว่าชุมชน และพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ที่มีน้ำตกทีลอซูเป็นที่ท่องเที่ยวที่มีคนรู้จักมากกว่าชื่ออำเภออุ้มผาง
หัวหน้าหนุ่มคนนี้มีอะไรที่น่าสนใจสำหรับผมอยู่ไม่น้อย ขณะที่เริ่มพูดให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานประชุมกลุ่มอนุรักษ์ “ต้นทะเล” ที่เรือนไม้หลังใหม่บนเนินใกล้ที่นาของลุงสมหมาย อดีตผู้ใหญ่บ้านคนแรกหลังจากกองกำลังปฏิวัติประชาชนวางอาวุธเป็นร่วมผู้พัฒนาชาติไทยเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา มงคล อธิบายแนวคิดในการทำงานกับชุมชนของเขาว่า
“หน้าที่ของข้าราชการคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการจากหน่วยงานไหนก็มีเป้าหมายการทำงานแบบนี้ ผมมาทำงานรักษาป่าก็มีเครื่องมือ คือ ข้อกฎหมาย เรียกว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีบทบัญญัติในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดังนั้น ตัวพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างผมก็มีเครื่องมือในการทำงานให้ประชาชนได้แล้ว แต่ว่าจะเลือกใช้กฎหมายตามวิจารณญาณให้พอดี ให้คนอยู่ได้ ทรัพยากรอยู่ได้ มีความขัดแย้งน้อยที่สุดอย่างไร กฎหมายนี้ถ้าใช้ให้พอดี โดยผู้ใช้ก็สามารถทำให้ชุมชนอยู่อย่างสงบสุขได้”
นี่นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำพูดจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่สามารถมองเห็นโอกาส ในความขัดแย้งที่มีมานมนาน โดยไม่เกี่ยงงอนกับข้อจำกัดคับแคบของราชการ หรือมองชาวบ้านชุมชนอย่างแยกส่วนจากธรรมชาติและวัฒนธรรม และก็เก๋าพอที่จะพูดเผื่อไว้สำหรับ “อำนาจ” ที่มีในมือ หากต้องหยิบมาใช้งานเมื่อจำเป็น
“ผมเข้ามาทำงานที่นี่ โชคดีมีชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ มีองค์กรภายนอกอย่างสืบ (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร) มาช่วยทำความเข้าใจและหาข้อตกลงกติกาการอยู่ร่วมกันไว้ก่อนแล้ว มีฐานข้อมูลที่กรมอุทยานฯ รับรู้ให้ผมทำงานง่ายขึ้น คราวนี้ก็เหลือแค่จะใช้กฎหมายให้พอดีอย่างไรที่จะแก้ปัญหาให้ชุมชน เรื่องไหน ที่ใช้กฎหมายแล้วเกิดความไม่พอดีก็ปรับให้พอดี เรื่องไหนที่กติกาชุมชนไม่สามารถดำเนินการกับบางคนบางกลุ่มได้ก็ได้ใช้กฎหมายรักษาทรัพยากรให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้”
ผมนึกถึงข้อกฎหมายอันเข้มงวดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีข้อห้ามมากมาย ห้ามล่าสัตว์ ตัดไม้ แม้แต่การเก็บหิน ขุดดิน ทำให้ธรรมชาติใดๆ เสื่อมสภาพ แต่ก็นั่นแหล่ะในความเป็นจริงที่พื้นที่คุ้มครองเพื่อการอนุรักษ์ไปประกาศทับชุมชนดั้งเดิม ขนาดที่เชื่อว่าเป็น “เมืองหลวง” ของความเชื่อการถือฤๅษี อย่างบ้านฤๅษีเลตองคุที่มีฤๅษีดูแลพิธีกรรมในระดับภูมิภาคทั่งทั้งทิวเขาถนนธงชัย ไปต่อตะนาวศรีมาถึง 9 องค์ มีอายุของชุมชนเทียบกับกรุงเทพฯ ทีเดียว หรือชุมชนใหญ่อย่างบ้านม่องค๊วะที่มีที่ราบทำนากว้างใหญ่มาเป็นร้อยปีอยู่รอบเขาสองยอดสูงเด่น ชื่อ เขาม่องค๊วะที่นี่
บนยกพื้นในเรือนไม้ ผมนั่งอยู่ใกล้ๆ หัวหน้าหนุ่มที่กำลังจะพูดอยู่ตามการจัดลำดับของลุงสมหมายที่นัดผู้เกี่ยวข้องในการอยู่ในป่า การรักษาป่ามาพูดคุยให้ชาวบ้านฟัง นาทีนั้นผมยอมรับว่า ผมไม่รู้ว่าจะกล่าวอะไรให้ชาวบ้านฟังเพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่ลุงสมหมายเพิ่งพูดไปว่า สืบ นาคะเสถียร เป็นนักอนุรักษ์ ทำงานอนุรักษ์ เมื่อไม่มีสืบก็มีเขตอุ้มผางมาทำงานเหมือนกัน ฤๅษีก็มีคำสอนให้รักษาป่าเหมือนกัน และนักวิชาการวนศาสตร์ตรงหน้าผมก็กำลังพูดเรื่องการรักษาป่า ผมในฐานะคนทำงานตามหน้าที่เกือบสิบปีที่เราออกแบบพวกเราให้เป็นคนกลางในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างชุมชนและการอนุรักษ์และใกล้จะพบคำตอบ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นหน้าที่ของผมในการอธิบายความสำเร็จแนวคิดแบบนามธรรมให้ออกเป็นรูปธรรม ผมนั่งครุ่นคิด และยกมือพนมไหว้ไปทางทิศใต้ที่ซึ่งผมเคยไหว้สักการะศาลเจ้าพ่อฤๅษีแห่งทุ่งใหญ่ตะวันตก ที่ที่มีผืนป่ากว้างใหญ่เชื่อมป่าที่นี่และที่นั่นไว้เสมือนอาณาจักรเดียวกัน
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ผมเริ่มงานกับชุมชนกะเหรี่ยง “โผล่ว” ฝั่งป่าตะวันตกด้านใต้ที่เขตจังหวัดกาญจนบุรี และคุ้นเคยกับพวกเขามาก่อนที่จะเริ่มทำงานกับกะเหรี่ยงปากะญอทางป่าตะวันตกด้านเหนือที่อุ้มผาง ผมรู้เพียงความเชื่อที่เขาไม่กินนกเงือก ไม่กินชะนี เป็นชุมชนที่ไม่ทำลายเพราะวิถีทำไร่ข้าวหมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยแบบพืชเชิงเดี่ยว มีความเอนเอียงพิธีกรรมมาทางไทยทางมอญ เข้าวัด ว่าบาลีอยู่มาก คล้ายชาวบ้านไทยเมื่อครั้งโบราณ
พี่ตู่ ตะวันฉาย นั่งติดกับลุงพินิจผู้นำพิธีกรรม ที่ทำหน้าที่เหมือนฤๅษีที่กลุ่มบ้านม่องค๊วะ มอทะ แกวอทะ เปิดเอกสารบางอย่าง ที่ลุงส่งมาให้เมื่อสักครู่อย่างสนใจ พร้อมทั้งส่งมาให้ผมอย่างไม่มีปีไม่มีมีขลุ่ย ในเอกสารนั้นเป็นกฎระเบียบของกลุ่มต้นทะเล ที่รับเอาความเชื่อฤๅษีมาประยุกต์เป็นข้อตกลง มีตัวพิมพ์ทันสมัยด้วยฟอนต์ภาษากะเหรี่ยงและไทยด้วยคอมพิวเตอร์ ทราบภายหลังว่าเป็นผลงานการผลิตเอกสารของทีมงานภาคสนามของเราเองเมื่อปีโน้น
ข้อห้ามของคนถือฤๅษีแปลเป็นภาษาไทยที่ผมอ่านออกมีหลายเรื่องที่หน้าจะสอดคล้องกับการอนุรักษ์ เช่น ห้ามทำลายป่า ห้ามเผาป่า ห้ามทำลายต้นน้ำ ห้ามขุดทำลายตลิ่ง ประกอบข้อห้ามข้ออื่น เช่น ห้ามยิงปืน ห้ามฆ่าคน ห้ามทำลายผู้หลักผู้ใหญ่ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามไปปล้น และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของฤๅษี นี่เป็นระเบียบสังคมของกะเหรี่ยงในฝั่งถนนธงชัยใกล้อาณาจักรไทยมานมนาน อยู่กันโดยไม่มีผู้นำทางการ มีแต่ผู้นำพิธีกรรม ต่างกับฝั่งใกล้พม่าที่มุ่งรบแย่งชิงอำนาจรัฐปกครองตนเองจากรัฐพม่า
ในเอกสารนี้ยังมีข้อตกลงของกลุ่มต้นทะเล ที่สมาชิกตกลงกัน ว่าหากมีผู้ทำผิดข้อห้ามจะต้องปฏิบัติชดใช้อย่างไร ส่วนใหญ่เป็นการปลูกต้นไม้ชดใช้หลายเท่า และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะต่างๆ ที่สำคัญคือ ผู้กระทำผิดเหล่านี้จะต้องถูก “วิจารณ์” ผมรู้สึกถึงกลิ่นอายของภาษาไทยแบบสหายปฏิวัติ ที่ผู้เฒ่าเหล่านี้คุ้นเคยได้พอสมควร ป่าใหญ่ของที่นี่หยุดเวลาจากโลกภายนอกไว้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
ในหน้าถัดๆ ไป ผมสะดุดกับข้อปฏิบัติของกลุ่มต้นทะเลที่เกี่ยวกับ สัตว์ป่าคุ้มครองในกลุ่มต้นทะเล ที่ถือ และผิด (ภาษาเขาว่าอย่างนี้) สมเสร็จ คือ เนื้อสัตว์ทุกชนิดกินและยิงไม่ได้ เขาถือ นกกกคือพระเจ้าแผ่นดิน เสียชีวิตหนึ่งตัว เหงาห้วย 7 เส้น ชะนีคือเจ้าป่าที่เป็นป่าดงดิบ ถ้าเสียชีวิตหนึ่งตัว เหงาป่า 7 ผืน เลียงผาคือเจ้าผา งูเหลือมถือว่าเป็นสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก นกแซงแซว เป็นผู้พิพากษาของนก และเก้งหม้อคือเจ้าที่ลำห้วย
ผมรู้สึกเข้าใจบางสิ่งอย่างของสิ่งที่ฤๅษีห้าม เมื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่ลุงสมหมาย และหัวหน้ามงคลอธิบายกับความเชื่อเรื่องสัตว์ป่าคุ้มครองที่ผมเพิ่งได้อ่านละเอียดเป็นครั้งแรก
ผมเงยหน้ามองไปทางทิศใต้ ทางศาลฤๅษีที่ทุ่งใหญ่เมืองกาญจนบุรี ไกลโพ้นอย่างประหลาดใจ ในห้วงคิดของขณะนั้น เพราะผมรู้แล้วว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ทุกคนกำลังกล่าวกันมาในหน้าตำราโบราณเรื่องนี้
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)