[ก้าวสู่ปีที่ 31] ทบทวนชีวิตในเส้นทางป่า

[ก้าวสู่ปีที่ 31] ทบทวนชีวิตในเส้นทางป่า

ต๊ะ หรือ นายสมพงษ์ ทองผาไฉไล หนุ่มใหญ่ชาวกะเหรี่ยงอดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลิตี้ล่าง ในป่าลึกของอุทยานแห่งชาติลำคลองงู กำลังสาละวนกับการต่อเติมบ้านช่อง ปรับไม้กระดานพื้นบ้านให้เข้าที่ ขณะที่ผมกับแป๊ะ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบฯ ขับรถไปจอดที่ลานหน้าบ้านโดยมิได้นัดหมาย

“สวัสดีพี่ต๊ะ ผมมาเยี่ยมพี่เฉยๆ นะ มาเยี่ยมจริงๆ ไม่มีงานอะไรเป็นพิเศษ ไม่ได้เข้ามานานแล้วพี่” ผมออกตัวทักทายขณะก้าวลงจากรถจี๊บคันเล็กที่ลุยผ่านทางลูกรังมาไกลหลายสิบกิโลเมตรกว่าจะถึงบ้านกลางป่า เกือบสองปีแล้ว ที่ผมมาประชุมร่วมกับชุมชนและอาศัยบ้านผู้ช่วยต๊ะในการพักค้าง

หลังการแบ่งปันยาเส้นใบกระโดนสูบกันตามธรรมเนียมระหว่างผมกับต๊ะที่ทำงานร่วมกันมานับสิบปี ตั้งแต่เรื่องสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ มาจนถึงปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนการประกาศอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ไปจนกระทั่งเรื่องปัญหาอื่นๆ ในหมู่บ้าน บางทีคำออกตัวที่ว่ามาก็ปิดบังเรื่องที่อยากรู้อยากคุยจริงๆ กันไม่ได้หรอก แต่ก็เพียงบอกว่ามาคุยกันแบบไม่เป็นทางการแค่นั้น

หนุ่มใหญ่เบื้องหน้าผม จริงๆ แล้วรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม เราต่างเปลี่ยนสภาพไปเป็นคนวัยกลางคนด้วยกันทั้งคู่ สีขาวแทรกแซมผมหนวดใกล้ๆ กัน แววตาของต๊ะเนือยลงไปกว่าสมัยเป็นแกนนำชุมชน ในการต่อสู้กับโรงแต่งแร่ และเจรจากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการแก้ไขปัญหาซ้อนทับที่ทำกินเมื่อหลายปีที่แล้ว 

คำสนทนาของเราได้แต่เพียงย้อนไปทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมานานและคลี่คลายไปตามเวลา ต๊ะบอกว่าแม้ปัญหาต่างๆ จะยังคงมีอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ช่วยกันหาข้อตกลงไปเยอะแล้ว ชาวบ้านเองบางส่วนก็ไม่หยุดฟันป่า ถ้าเราหยุด ปัญหามันก็หยุดด้วย เราคุยกันบนพื้นฐานความจริงของมนุษย์ ที่ไม่สามารถกำหนดกติกาให้คนทำตามได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ ระดับเมือง หรือแม้แต่แค่ชุมชนเล็กๆ ในป่าแบบนี้ อย่าว่าแต่ปัญหาจากส่วนราชการที่เปลี่ยนแปลงหัวหน้าอุทยานมาให้เราทำงานด้วยคนแล้วคนเล่าต้องทำความเข้าใจกันใหม่เสมอๆ 

ผมมวนยาเส้นกะเหรี่ยงฝีมือแม่บ้านของต๊ะ ที่เก็บมาหั่นซอยไว้เมื่อหลายเดือนที่แล้วมวนกับใบกระโดนเป็นมวนที่สองหรือสาม กว่าเราจะมาสนทนากันถึงเรื่องส่วนตัว เมื่อแป๊ะเดินไปขนกล้าไม้ที่เพาะเองที่เป็น ยืนต้นประเภทที่ส่งเสริมความยั่งยืนและรายได้ในระยะยาวมาจากหลังรถ เป็นของฝากพี่ต๊ะของเขา ทั้งสะตอ ลูกเนียงป่า หมาก และอื่นๆ

“ผมก็กำลังคิดจะปลูกอะไรเพิ่มรอบๆ บ้าน แต่ก็ต้องเว้นไว้ให้ลูกปลูกบ้านด้วย มันโตแล้ว มีครอบครัวไปบ้าง ผมมามองชีวิตที่ผ่านมาจากไม่มีอะไร มาจากหมู่บ้านทิพุเย ไกลโน้นมาเป็นลูกเขยบ้านนี้ สร้างทำไร่สวน จนมีบ้านช่องเอง ทำงานให้ชุมชน ออกไปต่อสู้กับปัญหาถึงข้างนอกก็เยอะ วันนี้ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว” ต๊ะเดินไปช่วยขนต้นไม้ไปวางไว้ริมห้องน้ำที่แยกออกมาจากบ้าน ผมสังเกตว่าเดี๋ยวนี้เขาผ่อนคลายไปมาก ปีที่แล้วพืชไร่ได้ดี ปลดหนี้สินกองทุนต่างๆ ได้หมด ลูกก็เติบโตออกเรือน งานสาธารณะก็ได้แก้ไขไปในระดับหนึ่ง จนน่าจะส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อไป

“ตอนนี้ หมู่บ้านนี้ขาดผู้นำ รุ่นผมก็หมดวาระกัน ผู้ช่วยสามคน ตั้งแต่พ่อยะเสอะ ผู้ช่วยกิตติและผม ก็ไม่ได้มีตำแหน่งแล้ว ผู้ใหญ่บ้านก็ยังอยู่ที่คลิตี้บน บ้านนี้ก็มีคนหนุ่ม ชื่อ ไอ้หนิง หลานพ่อยะเสอะ มารับตำแหน่งผู้ช่วย ยังไม่มีประสบการณ์ มันก็ต้องเรียนรู้ปัญหา ให้เราช่วยแนะนำ มันก็ต้องทำงานต่อไป กรรมการหมู่บ้านก็ไม่ได้ประชุมมานานแล้ว แต่เรื่องต่างๆ ตอนทำบุญออกพรรษา น่าจะได้เริ่มคุยกันใหม่” ต๊ะเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การดูแลหมู่บ้าน ที่เราก็รู้ดี

ผมเริ่มทำงานแก้ไขปัญหาทับซ้อนชุมชนกับป่าอนุรักษ์ในป่าตะวันตกครั้งแรกที่หมู่บ้านนี้ เนื่องจากคุ้นเคยกันมาจากกรณีปัญหาสารตะกั่วก่อนที่อุทยานจะทับที่ ทำให้มีความไว้วางใจกันเป็นทุนเดิม ในขณะที่ผมต้องมาทำความรู้จักกับไร่หมุนเวียนกะเหรี่ยงว่าต่างจากไร่เลื่อนลอยที่ถูกกล่าวหาอย่างไร แต่ก็นั่นแหล่ะ บริษัทเม็ดข้าวโพดยักษ์ใหญ่ก็สร้างกลไกส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาถึงนี่ในเวลาใกล้ๆ กัน พื้นที่ที่เราพยายามช่วยชาวบ้านชี้แจงพวกป่าไม้ว่ารักษาวัฒนธรรมกลายเป็นภูเขาข้าวโพดสุดตา ไร่ข้าวเหลือแทรกอยู่บ้างพร้อมทั้งรอบหมุนเวียนที่ลดลงอย่างไม่เกรงใจทฤษฎี และเรื่องราวตามภูมิปัญญาเก่าก่อน แต่การทำงานแก้ไขความขัดแย้งก็ยังดำเนินไปบนฐานความจริง 

ปีต่อมาเราได้เส้นสำรวจร่วมกันถึงพื้นที่ชุมชนผ่านปัญหาทางกฎหมาย และความคับแคบของการทำงานส่วนราชการ ความไม่เข้าใจของชาวบ้านบางคน NGO บางกลุ่ม และความไม่พอใจของทุนข้างนอกที่จ้องหาผลประโยชน์จากพื้นที่ห่างไกลของชาวบ้านที่เป็นเป้าหมายขยายผลปลูกยางสร้างรีสอร์ต   

แต่ก็นั่นแหล่ะเราช่วยกันสร้างมาตรการทางสังคมและขอร้องให้เจ้าหน้าที่ยอมรับพื้นที่ที่ว่า ต้องแก้ไขเรื่องการแหกกฎของคนในไม่รู้กี่ครั้ง 

เจ้าแป๊ะคนทำงานพื้นที่นี้ของมูลนิธิแทบจะเป็นจำเลยอยู่ตรงกลางทั้งฝ่ายป่าไม้ว่าเอาแต่ชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านก็คิดว่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับป่าไม้ก็ต้องเป็นพวกเดียวกัน รอดพ้นอันตรายจากอาวุธเท้าเข่าศอก ในความไม่เข้าใจของกลุ่มวัยรุ่น และแกนนำบางคนมาได้ถึงวันนี้ก็นับว่าเป็นบุญ 

ผมขอซื้อยาเส้น และใบกระโดนจากเมียของต๊ะมาถุงใหญ่พร้อมใบไม้ป่าที่ใช้มวนยา เพื่อเอาไว้คิดถึงภารกิจในป่าที่ยังไม่ลุล่วงของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรต้นสังกัดของผมกับแป๊ะ การทำงานอนุรักษ์ที่มุ่งรักษาป่าที่มีความขัดแย้งบนสิทธิชุมชนเป็นเรื่องซับซ้อน เวลาเกือบสิบปีที่เรามายุ่งกับชาวบ้านที่ห่างบ้านเกิดมาหลายร้อยกิโลเมตรบนภูเขาสูง ภูมิประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับทุ่งข้าวในที่ราบน้ำท่วมถึงที่ผมคุ้นเคย

ผมกับแป๊ะ ขับรถผ่านทุ่งข้าวโพดเข้าสู่ทางในป่าอีกครั้ง ไม่รู้ทำไมผมติดตาความเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของหนวดสีขาวบนใบหน้าของอดีตผู้ช่วยต๊ะ ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองที่ก็มีหนวดหงอกๆ แบบนี้มาหลายปีโดยไม่ได้คิดอะไรมาก

บางทีเราก็ต้องอาศัยใบหน้าของเพื่อนในการสะท้อนถึงชีวิตตัวเองว่าเราได้ผ่านพบอะไรมาแค่ไหน   

 


บทความเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร ค.คน ฉบับ 84 | พฤศจิกายน 2555

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)