นับแต่กลางปี 2554 จนถึงกลางปี 2555 ปัญหาป่าไม้ได้รับการสนใจอย่างยิ่งจากสังคมไทย เนื่องจากการทำงานบู๊ ทะลุดุดันขยันออกข่าวของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติคนใหม่ที่ชื่อ “ดำรงค์ พิเดช” ผมเป็นคนที่เริ่มที่ใช้คำว่า “ปรากฏการณ์ดำรงค์ พิเดช” อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยความคาดหมายอยู่แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดวูบแล้วหายไป ซึ่งหลังจากนั้นการทำงานแบบนี้ก็ดูจะหายไปจริงๆ ซึ่งผมเคยเสนอแนะคนที่เข้ามาทำงานในสถานการณ์ต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ที่ว่าไว้ในช่วงนั้น ซึ่งเข้าใจว่าคงใช้ได้ดีไม่ว่าจะมีใครมารับไม้ต่อคนต่อไป และต่อไป
…
ปรากฏการณ์ ดำรงค์ พิเดช
กลางปี 2555 มีข่าวหนาหูทางการเมืองแทรกแซงเรื่องการจะโยกย้ายอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คนดัง ทั้งๆ ที่ดูเหมือนท่านจะเป็นคนตั้งใจทำงานดี มีผลงานเชิงบู๊ลุยจับลุยทุบรีสอร์ตวังน้ำเขียว เอาจริงเอาจังกับปัญหาการลักลอบตัดไม้พยุง จนทำให้มีการแถลงข่าวจากองค์กรอย่างสมาคมนิสิตเก่าวนศาสตร์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิเพื่อนช้าง รวมถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ได้รับชวนไปร่วมแถลงข่าวเพื่อให้คุณดำรงค์ได้อยู่ทำงานต่อให้ถึงเกษียณอายุในเดือนหน้า ในเวทีวันนั้นพูดกันถึงขั้นน่าจะต่ออายุให้เลยด้วยซ้ำ ก็ว่ากันไป
ผมทำงานใกล้ชิดในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มานาน พบ “ท่านอธิบดี” กรมนี้มาก็หลายคน ผมคิดง่ายๆ ว่าทำงานกับโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตกมาราวเก้าปีเขาก็เปลี่ยนอธิบดีไปเก้ารอบ เฉลี่ยปีละคน มีแต่คุณดำรงค์นี่แหละที่มารอบสอง และก็รู้ๆ กันอย่างกว้างขวางว่าสายคุณดำรงค์ก็คือการเมืองสายเชียงรายของพรรครัฐบาล มารอบแรกก็มีข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาปราบม็อบสวนลุมเมื่อปี 49 รอบหลังนี่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีข่าวเรื่องมาช่วยม็อบธรรมกายต่อด้วยเขาดินตอนพ.ร.บ.ปรองดอง เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ “ไม่ถูก” แน่ๆ
นอกจากนี้หากใครใกล้ชิดวงในก็จะรู้ดีว่ารอบหลังนี้พี่น้องป่าไม้สายโรงเรียนป่าไม้แพร่ก็โดนกระเจิดกระเจิงย้ายกัน ทำให้มีเสียงบ่นกันหนาหูว่าท่านเอาแต่สถาบันวนศาสตร์
แต่อย่างไรก็ตาม ถามว่าคุณดำรงค์ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญอะไรในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการแสดงออกถึงการทำงานที่เอาจริงเอาจังในเรื่องการทำงานในวิชาชีพการรักษาป่าในระดับที่จับต้องได้ ดูเห็นๆ ในเรื่องพื้นที่ป่าก็มีการดำเนินการเกี่ยวกับรีสอร์ตที่อุทยานแห่งชาติทับลานแถววังน้ำเขียว และโชว์ทุบทิ้งเห็นๆ ในคดีที่สิ้นสุด มีการจัดกำลังสกัดปราบขบวนการไม้พะยูง และกระตือรือล้นในการแก้ไขปัญหาการเรื่องช้างป่าในเรื่องทะเบียนช้าง
แต่ที่น่าผิดหวังก็มีเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ที่ดูเหมือนว่าอธิบดียังไม่กล้าแอ็คชั่นให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการคัดค้านเขื่อนใหญ่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในความรับรู้ที่ผมสัมผัสกับคนทำงานที่เป็นข้าราชการในระดับหัวหน้าอุทยาน หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายท่านก็คือ รู้สึกมีชีวิตชีวาในการได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ดูเหมือนเป็นวิชาชีพของเขาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ได้มีส่วนร่วมในการไปตรวจสอบพื้นที่รีสอร์ตแถวทับลานร่วมกัน เรื่องที่คาใจกระอักกระอ่วนที่มีมานานอย่างน้อยก็ได้ใช้กฏหมายมาคลี่ดูเสียที
นอกจากนี้การวิ่งเต้นโยกย้ายตำแหน่งหัวหน้าพื้นที่ที่มีมายาวนาน ก็มีข่าวว่าลดลง และดูเหมือนจะเป็นอธิบดีที่รัฐมนตรีต้องฟังมากที่สุดคนหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้ที่ปลุกวิญญาณข้าราชการระดับปฏิบัติมาได้ขนาดนี้ก็ต้องนับเครดิตให้อธิบดีไปเต็มๆ เหมือนกัน
คนแบบคุณดำรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีความกล้าทำในเรื่องที่ตัวเองเชื่อ มียุทธศาสตร์ในการทำงานหลายอย่างที่ทำให้งานเดินหน้าแบบมีผลงานรูปธรรม และมีเบื้องหลัง (การเมือง) เบื้องหน้า (ข้าราชการในกรม) ที่เอาด้วยอย่างเต็มใจส่วนหนึ่ง แต่จุดอ่อนใหญ่ก็คือเรื่องที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน อย่างเช่นรีสอร์ตวังน้ำเขียวที่ดำรงค์กล้าแตะคนรวยมากมาย หลายคนมีเครือข่ายผูกกับอิทธิพลการเมือง บางคนก็ขาดเจตนาในการรุกป่า ก็ซื้อมาต่อๆ กันที่มันก็เตียนแล้วจริงๆ โดยขาดความรู้ว่าที่เตียนในอุทยานฯ แบบนี้มันอยู่ในเงื่อนไขพื้นที่ควบคุมรอการพิสูจน์สิทธิตามมติคณรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 41 ซึ่งการเปลี่ยนมือจากชุมชนผู้บุกเบิกมาเป็นรีสอร์ตนั้นก็ผิดกฏหมายอุทยานฯ ฐานยึดถือครอบครองแน่ๆ หากปล่อยไปมีแต่ลามเข้าป่า และเกิดเหตุการณ์ซ้ำไปในที่ชุมชนในอุทยานฯ สวยๆ ผมยังหวั่นๆ ที่แถวข้างเขื่อนศรีนครินทร์ที่เป็นอุทยานแห่งชาติเอราวัณและเขื่อนศรีฯ จะเกิดซ้ำรอยวังน้ำเขียวได้ง่ายๆ เพราะวันนี้ถนนดี ไฟฟ้าเข้า
ดังนั้นเรื่องของวังน้ำเขียวจึงเป็นการให้ความเข้าใจและป้องปรามการรุกป่าผ่านที่ชุมชนได้ดีทีเดียว แต่อย่างว่าถ้ายาวๆ หามาตรการรื้อถอนฟื้นฟูที่สังคมรับได้มากกว่านี้ก็จะทำให้เกิดการยอมรับได้มากกว่า
และเรื่องที่น่าทำคือ สะสางการปล่อยปละละเลยจากคนในเสียด้วยนั่นแหละ จึงจะแก้ปัญหาอย่างครบถ้วน
ผมไม่เชียร์ให้ต่ออายุคุณดำรงค์ครับ แต่แนวทางการทำงานที่ทำให้คนทำงานส่วนใหญ่ในกรมกลับมามีจิตวิญญาณ ได้ทำตามสำนึกวิชาชีพ แบบนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการทำงานที่คนต่อไปจะต้องเกรงใจหากจะลดเพดานลง ที่สำคัญคือสิ่งที่คุณดำรงค์ทำไว้ที่มีประโยชน์กว่าทุบรีสอร์ตก็คือดึงวิญญาณวิชาชีพของข้าราชการในการอนุรักษ์ให้กลับมาจากความหดหู่สิ้นหวังมากว่าสิบปี
.
ข้อเสนอถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชหลังปรากฏการณ์ “ดำรงค์ พิเดช”
ไปๆ มาๆ ตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ คนต่อไปที่ต้องทำงานต่อจากคุณดำรงค์ พิเดช ก็กลายเป็นตำแหน่งที่มีปัญหา ว่าใครจะมาและถูกเฝ้ามองว่าจะเป็นใคร มาเพื่อทำงานต่อเนื่องกับคุณดำรงค์ หรือมาเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏการณ์ดำรงค์ พิเดชได้ทำให้เกิดขึ้น
จนวันที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าใครจะมานั่งเก้าอี้ร้อนๆ หรือเขารอให้อุ่นเสียก่อนค่อยตั้งก็ไม่รู้
แน่นอนว่าในปรากฏการณ์ดำรงค์ ที่ทำให้สถานการณ์ป่าเมืองไทยมีสีสันอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีทั้งฝ่ายบวก ฝ่ายลบ คิดเห็นต่างๆ กัน ผมลองสำรวจความเห็นของตัวเองในฐานะของคนนอกที่ทำงานเกี่ยวข้องว่าอยากให้อธิบดีคนใหม่ทำอะไรต่อจากคุณดำรงค์
1. ผมอยากให้มีการจัดการตรวจสอบพื้นที่เอกชนที่ยึดถือครอบครองในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง แต่ตั้งคณะทำงานเจ๋งๆ จากภายนอกมาร่วมทำงาน และสร้างกรอบการทำงานที่สามารถตอบคำถามสังคมว่าหากไม่ทุบทิ้งจะมีวิธีไหนที่ทำให้ได้พื้นที่ที่ทำหน้าที่ป่าคืนให้คนไทย แต่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ โดยไม่ต้องเกี้ยเซี้ย เบี่ยงไปเป็นการเช่า หรือผ่อนผันกันไม่รู้จบ แต่อาจจะเป็นการสร้างข้อตกลงแบบที่สังคมยอมรับบนหลักการทางกฎหมายและการมีส่วนร่วมบนหลักนิติธรรม
2. การไล่รื้อธุรกิจท่องเที่ยวรีสอร์ตในพื้นที่อุทยาน ถ้าจะให้สวย มันน่าจะมีการตรวจสอบบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมภายในกรมเองที่มีการปล่อยปละละเลยควบคู่ไปกับการตรวจสอบเอกชนให้ชัดเจนด้วยว่าหากปัญหาเกิดจากการทำงานของคนในเองก็ต้องมีมาตรการจัดการเช่นกัน
3. ผมอยากให้แยกแยะพื้นที่ปัญหาทับซ้อนชุมชนชาวบ้านออกจากพื้นที่บุกรุกโดยนายทุน โดยวางแผนแก้ไขปัญหาบนรัฐธรรมนูญที่บัญญัติมาตรารับรองสิทธิชุมชน ค่อยๆ ดำเนินการโดยอาศัยเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี ที่ผ่อนผันอนุโลมให้ชุมชนอยู่ และค่อยๆ หาทางควบคุมมิให้ขยายออกโดยมิเปลี่ยนมือ
4. อธิบดีกรมนี้คนใหม่ควรปรับทัศนคติเรื่องบุคลากรที่จบจากสถาบันการศึกษาสายวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนป่าไม้แพร่ เพราะเป็นเรื่องที่จบมานับสิบปี ความรู้ความสามารถที่เรียนมาคงไม่ต่างกันมาก แต่ต้องพิจารณาการทำงานจากผลงานที่ผ่านมา ผมเคยเจอคนที่จบจากป่าไม้แพร่ตั้งหลายคนที่ทำงานดีมีอุดมการณ์ ทำงานได้ ตัดสินใจเด็ดขาด ในขณะที่นักวนศาสตร์หลายคนก็มัวแต่อิงหลักการจนทำงานไม่คล่อง ที่ผ่านมากก็มีเรื่องรุ่นโน้นรุ่นนี้ทะเลาะกัน มาตั้งหลักกันใหม่บนเหตุผล และความเหมาะสมแต่ละบุคคลกันไป
5. ปัญหาใหญ่ของกรมนี้ อีกเรื่องคือเรื่องเงินทอน และเรื่องอัตราจ้างที่ไม่มีคนทำงานจริง ที่เรียกว่าผี จริงปัญหาเรื่องนี้อาจจะมีในทุกกรมเช่นกัน แต่กรมนี้มันเกี่ยวข้องกับทรัพยากรสำคัญ ค่อยๆ ปรับ ไม่รับส่งนาย ไม่เก็บก๊อก ค่อยๆ ลดๆเรื่องอย่างนี้ลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมว่าจะได้ใจคนทำงานส่วนใหญ่ แต่อย่างว่าปัญหาแบบนี้จะให้จบให้หมดแบบเบ็ดเสร็จเป็นไปไม่ได้ แต่หากอธิบดีมาจากคนทำงานก็ค่อยๆ ปรับให้ไม่หนักนัก ค่อยๆ ดีขึ้น ผมก็ว่าน่าจะพอทำได้
6. เรายังเก็บป่าที่สำคัญ ทรัพยากรทางชีวภาพระดับโลกไว้ได้พอสมควร งานที่ไม่ชัดคืองานศึกษาวิจัย ทำให้ป่าของเราเป็นป่าที่มีคุณค่าในด้านทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลกให้มีงานวิจัยออกมาให้ประจักษ์ เพื่อรักษาป่าเอาไว้อย่างถาวร ไม่ใช่เอะอะก็ให้กรมชลประทานมาขอทำเขื่อนกันง่ายๆ แบบเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น
7. อย่าลืมเรื่องสวัสดิภาพสวัสดิการเจ้าหน้าที่และลูกจ้างพิทักษ์ป่า ตลอดจนแม่บ้านในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการทำงานรักษาป่า
เอาแค่นี้แหล่ะครับ ถือเป็นคำขอจากเพื่อนร่วมงานอนุรักษ์ป่าที่หวังดีต่อสังกัดเก่าของพี่สืบตลอดมา
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)