หลังจากมหาอุทกภัยในปี 54 ผมตัดสินใจยุ่งกับน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่แล้วแบบจับพลัดจับผลู ชีวิตเปลี่ยนแปลงในช่วงข้ามเดือน เป็นที่รู้จักของผู้คนในเรื่องน้ำๆ ทั้งๆ ที่ออกตัวอยู่บ่อยๆ ว่ามิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไร
จนกระทั่งวันนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่ารู้อะไรเยอะมากจากโรงเรียนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นความรู้ในภาพกว้างว่าน้ำมาอย่างไร ไปอย่างไร เมื่อไหร่ที่น่าจะเยอะ จะน้อย กระทั่งประเมินว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากการตั้งรับป้องกันในภาพใหญ่โตของที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำเจ้าพระยาท่าจีน อันนี้ล้วนใช้ความรู้ดั้งเดิมสมัยเป็นนักเรียนธรณีวิทยา สมัยสอนหนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยาวิศวกรรม และจากการเป็นลูกแม่น้ำเจ้าพระยา–ป่าสัก คนหนึ่ง
โดยไม่คาดหมายเช่นกัน รัฐบาลฉวยโอกาสวิกฤติมาสร้างโครงการจัดการน้ำใหญ่โต 3.5 แสนล้าน เพื่อสร้างตวามเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่าจะไม่มีน้ำท่วมตลอดกาลดังว่า ผมเขียนบทความเพื่อขอร้องให้รัฐบาลทบทวนการสร้างเขื่อนที่เป็นองค์ประกอบแรกในการจัดการน้ำไว้เมื่อปี 2555 หลังจากมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเพื่อให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ทั้งๆ ที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังเพิ่งเริ่มทำ
…
เคยอ่านหนังสือมาว่า ในสมัยโบราณครั้งประเทศจีนมีน้ำท่วมใหญ่ต่อเนื่องทุกปีนานเป็นสิบปี มีขุนนางอาสาแก้ไขนับรุ่นได้จากพ่อถึงลูก พ่อชื่อกุ่น ทำไม่สำเร็จจนถูกประหารหลังทำงานมาอีกนับสิบปี จนถึงรุ่นลูกชื่ออวี่ที่เปลี่ยนจากการกั้นน้ำมาเป็นการระบายน้ำจนสำเร็จ สุดท้ายกลายเป็นผู้นำการปกครอง กลายเป็นต้าอวี่ หรือ อวี่ผู้ยิ่งใหญ่
เรื่องในตำนานนี้ดูเหมือนจะร้ายแรงกว่าอุทกภัยที่ผ่านมาปีที่แล้วของที่ราบภาคกลางประเทศไทยมากนัก แต่ดูเสมือนว่ามีความพยายามคล้ายกันที่จะเป็นการให้ได้สร้างทำระบบใหญ่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จ
วันนี้มีการทำแผนงานต่างๆ ยิ่งใหญ่ มีเป้าหมายตามงบประมาณถึงสามแสนห้าหมื่นล้าน แต่คล้ายกับได้ยินรัฐมนตรีที่รับผิดชอบให้ข่าวว่าว่าโอกาสเกิดน้อยเป็นหนึ่งในร้อย หรือปีนี้มีโอกาสท่วมน้อยมากมาเป็นระยะเหมือนกัน แต่ความพยายามที่ว่ามาก็เป็นเรื่องที่อาจจะได้แสดงฝีไม้ลายมือแก้ปัญหา ให้เป็นที่ยอมรับ และก็คงกล่าวหาปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่โชว์แผนงานใหญ่ก็สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และประชาชนได้ลำบากเหมือนกัน
ในแผนงานใหญ่ที่ว่ามีโครงการเขื่อนใหญ่น้อยมากมาย ที่เด่นๆ และเป็นข้อขัดแย้งกับหลักๆ น่าจะมีสองเขื่อน คือ เขื่อนแม่วงก์ กับ แก่งเสือเต้น ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ให้ข่าวมาว่าขอให้ประชาชนช่วยกันต่อต้าน NGO ที่ไม่ยอมให้สร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นที่สังเกตว่า ในแผนงานใช้คำว่าสร้างอ่างเก็บน้ำ แทนที่การสร้างเขื่อนทั้งที่เมื่อก่อนเราก็รู้กันดีว่า อ่างเก็บน้ำก็เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำนั่นเอง
นอกจากนั้นก็ดูเหมือนจะมีแผนงานที่ครอบคลุมทั้งปลูกป่า ขุดลอก สร้างทำนบและระบบสูบระบายใหญ่โต รวมถึงการใช้ทุ่งโน้นทุ่งนี้รับน้ำ ระบายลงทะเล ก็ต้องนับว่าคนวางแผนคิดงานได้ครอบคลุม เป็นแบบเป็นแผนน่าเชื่อถือ
จริงๆ แล้ว วันนี้ประเทศไทยก็มีเขื่อนที่กั้นลำน้ำสายหลักๆ เกือบหมดแล้ว เหลือแม่น้ำยม ที่เป็นแม่น้ำสายหลักที่ยังไม่มีเขื่อน และแม่วงก์ที่ว่ากันก็เป็นเพียงลำห้วยเล็กๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากเราพัฒนาเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตต์ เมื่อราวสี่สิบกว่าปีที่แล้ว หลังจากนั้นเราสามารถควบคุมน้ำหลากที่ท่วมทุ่งทุกๆ ปี ไม่ให้ท่วมเมือง และบรรเทาความเสียหายให้นาข้าวได้
แต่กระนั้น ก็จะมีน้ำท่วมใหญ่เข้าเมืองต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างมาเป็นครั้งคราว พอดีกับชีวิตผมที่เกิดมาก็อยู่ในช่วงสร้างเขื่อนใหญ่ที่ว่านั้นพอดี ทำให้ชีวิตผมเป็นชีวิตที่ห่างน้ำท่วมไปกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีน้ำหลากตามทุ่งมาท่วมบ้านให้เห็นทุกๆ ปีที่จังหวัดอยุธยา
ที่จำได้แม่นๆ ก็ ปี 2518 (คล้ายกับว่า 2521 และ 2523 ก็น้ำเยอะเช่นกัน) แล้วก็ 2526 เกือบๆ ท่วมในปี 2533 จนน้ำหายไปยาวถึง 2538 มีน้ำเยอะอีกทีก็ปี 2545 ปี 2549 ปี 2553 แล้วก็ สุดๆ ที่ 2554 ระยะห่างปีน้ำเยอะๆ ที่ว่า ก็คือ 2 ปี, 3 ปี, 3 ปี, 7 ปี, 5 ปี, 7 ปี, 4 ปี, 4 ปี, และ 1 ปี ถ้าเอาระยะห่างที่มีน้ำเยอะ ก็เฉลี่ยได้ว่า 4 ปี น้ำมากทีหนึ่ง แต่ที่ท่วมหนักนับได้ ปี 2518, 2526, 2538, และ 2554 (ท่วมเมือง) จะห่างกัน 8 ปี 12 ปี และ 16 ปี ก็เฉลี่ยได้ 12 ปี ครั้ง นะครับ
นี่เป็นข้อสังเกตของผมเองนะครับไม่ได้อ้างถึงหลักวิชาการใดๆ
การมีเขื่อนใหญ่ที่กลางน้ำปิง และกลางน้ำน่าน รวมถึงการควบคุมน้ำประตูเจ้าพระยาชัยนาทลดน้ำหลากทุ่งตามฤดูกาลได้แน่นอนครับ แต่ปีที่น้ำมากนั้นผมว่าถึงจะกั้นแม่ยมและห้วยเล็กๆอย่างแม่วงก์เพิ่มเติมก็คงไม่มีผลอะไรต่อ “ภาพใหญ่” ของทุ่งเจ้าพระยา
เท่าที่อ่านๆ ข้อมูลมาก็ประมาณการว่าลดน้ำท่วมใหญ่ได้ไม่ถึงสิบเปอร์เซนต์ เพราะน้ำฝนที่มาเหนือเขื่อนก็จะมากเสียจนเขื่อนเก็บไม่ได้ และฝนที่ตกใต้ที่ตั้งเขื่อนก็มีพื้นที่รับน้ำฝนตั้งมากมาย แต่ผลกระทบในเชิงนโยบายเรื่องการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในป่าอนุรักษ์ต่างๆ จะถูกเรียกร้องต้องการให้สร้างตามมาอีกมากมาย ทั้งๆ ที่จำได้ว่า เขื่อนใหญ่สุดท้ายที่สร้างในป่าสมบูรณ์ คือ เขื่อนเชียวหลาน เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วทีเดียว
ผมว่าคนเก่งเรื่องน้ำบ้านเรารู้เรื่องแบบนี้ดีกว่าผมเยอะทีเดียว ว่าถึงสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็ยังคงมีน้ำท่วมน้ำหลากมาถึงพื้นที่นาด้านใต้เหมือนเดิม แต่ถ้าขยับเขื่อนออกมาหน่อยหนึ่งให้เขื่อนมันใหญ่รับน้ำในพื้นที่รับน้ำมากกว่าเดิมถึงจะเอาอยู่จริงๆ เช่นเดียวกับเขื่อนที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม ก็ไม่น่าจะทำให้น้ำที่สุโขทัยลดลงมากนัก ยกเว้นว่าจะขยับลงมาสร้างด้านใต้ใกล้ๆ ที่ราบน้ำท่วมถึง เพราะเขื่อนสองตัวนี้เก็บน้ำเทียบไม่ได้กับเขื่อนใหญ่ที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน
ท่านรัฐมนตรี อย่าเปิดศึกเรื่องเขื่อนอะไรมากมายกับฝ่ายอนุรักษ์ป่าเลยครับ ท่านระบายน้ำดี ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้อง ก็บรรเทาปัญหาได้มากแล้ว แผนของท่านที่ทำดีๆมีเยอะ อย่าไปติดแค่ประเด็นเขื่อนเล็กๆนี่เลยครับ
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)