หลังจากผ่านงานครบรอบ 20 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โจทย์ใหญ่ขององค์กรคือ การทำงานสื่อสารสาธารณะกับคนเมือง เพื่อสืบทอดแนวคิดของสืบ นาคะเสถียรกับคนรุ่นปัจจุบัน ขึ้นปี 2554 ก่อนที่น้ำจะท่วมใหญ่ประเทศไทยเราได้มีโอกาสรีวิวประวัติคุณสืบอย่างสั้นที่เก็บส่วนสำคัญของเนื้อความให้หมดไว้ในบทบรรยายประกอบการแสดงเทคนิคแสง-เสียง ก่อนพิธีจุดเทียนรำลึกคุณสืบ และได้จัดทำสรุปรายงานสถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทยเพื่อรายงานสถานการณ์ให้กับสังคมได้รับรู้
.
“สืบ นาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งผู้ยิงตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้-สัตว์ป่า
.
“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
ประมาณตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนที่ดังขึ้นจากบ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งดังขึ้นและเงียบไปกับเสียงสายธารข้างบ้าน เหมือนเสียงปืนนัดอื่นๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาในราวป่ามืดทึบแห่งนี้
สี่เดือนก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ว่ามีการลักลอบตัดไม้ที่ห้วยขาแข้ง สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งเขา สืบถูกเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้มีอิทธิพลในอำเภอลานสักหนุนหลัง
สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจงเพียงแต่ได้รับคำบอกสั้นๆว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม”
“ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย”
ต้นทุนชึวิตของสืบในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งประสบการณ์ในการเติบโตมากับธรรมชาติในวัยเด็ก ความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของข้าราชการที่ซื่อสัตย์ นิสิตวนศาสตร์ผู้ขยันหมั่นเรียน
การเริ่มชีวิตป่าไม้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว—เขาชมภู่ การทุ่มเททำงานวิชาการเรื่องสัตว์ป่ามากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะผลงานการเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน การทำงานเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งกรุง เขื่อนเหวนรก และการสัมปทานทำไม้ที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งรวมถึงการขอประชามติไม่สนับสนุนให้มีการทำสัมปทานไม้ครั้งนี้ที่มีผู้ลงชื่อนับหมื่นคน หลายครั้งในเวทีสาธารณะผู้คนรู้จักคำพูดจากใจเขาที่ว่า “ผมขอพูดในนามสัตว์ป่าทุกตัว” ทุนชีวิตของการอนุรักษ์ทั้งหมดได้นำมาทำงานในตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532
สืบเคยพูดไว้ว่า “ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม่เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”
แปดเดือนของหัวหน้าสืบที่ทำงานหนักในการทำงานปกป้องสัตว์ป่า ปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่ขอบป่าที่เป็นรากสำคัญของการเข้าไปล่าสัตว์ตัดไม้ ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งมีอาหารสัตว์ป่าไว้บริการลูกค้าทั้งปี มินับรวมการค้าเขากระทิง ควายป่า และซากสัตว์อื่นๆ ปัญหาอิทธิพลและการคอรัปชันภายในสังกัดของเขา และอิทธิพลจากนายทุนร่วมกับข้าราชการในพื้นที่
ระหว่างการทำงานที่นี่ลูกน้องหัวหน้าสืบถูกพรานยิงตายไปถึงสองคน สืบเดินทางประสานงานทั่วทิศเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อปกป้องป่า ทำงานเผยแพร่ความรู้กับเด็กและเยาวชนรอบป่าด้วยตัวเอง วิ่งเต้นหาแหล่งทุนส่วนตัวเพื่อเป็นสวัสดิภาพสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ นำเสนอผลักดันแนวคิดเรื่องป่ากันชนป่าชุมชนให้ชาวบ้าน
สืบทำทุกอย่างตั้งแต่เช้ายันค่ำ บางครั้งเที่ยงคืนเขายังอุตสาห์ขับรถจากในเมืองเข้ามาในป่า ตื่นเช้ามืดมาเขียนเอกสารที่คั่งค้างไว้ พอรุ่งสางก็ขับรถออกไปตามโรงเรียนบรรยายให้นักเรียนฟังต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
“จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”
สืบเคยประกาศความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว แต่ในช่วงเวลานั้นการอนุรักษ์ป่าและการทำงานหนักแบบหัวหน้าสืบดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยและวงการราชการคุ้นเคย เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งยังต้องพบกับการล่าสัตว์ มีหัวค่างหลายหัว พร้อมปลอกกระสุนที่ใช้ เจ้าหน้าที่ที่ลาดตระเวนตามคำสั่งก็ถูกลอบยิงที่ลำห้วยขาแข้ง สืบโมโหมากถึงกับตะโกนออกไปว่า
“ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า”
สืบรู้ว่าเสียงตะโกนก้องจากพงไพรของเขามันไม่ได้ยินไปถึงไหนในความมืดของสังคมไทย แสงเทียนที่สืบจุดหน้าบ้านเพื่อเขียนรายงานวิชาการเสนอให้ป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกน่าจะเป็นแสงสว่างเดียวของการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ หลังจากงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้เสร็จลง
สืบรู้ตัวดีว่าสักวันเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย สักวันลูกน้องของเขาต้องถูกยิงตายอีกอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ สืบไม่ใช่คนกลัวตายแต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้าโดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้ เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อลูกทีมของเขา แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้
สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการและความมุ่งมั่นของตนเอง บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้
.
สถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทยหลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร
.
สถิติเนื้อที่ป่าไม้ ปี 2532 ก่อนที่สืบจะเสียชีวิต ประเทศไทยมีเนื้อที่ป่าไม้ 27.95% หลังจากนั้นหนึ่งปี หลังจากสืบเสียชีวิต เนื้อที่ป่าไม้ลดลงเหลือ 26.64 % ลดลง 1.31% ของเนื้อที่ประเทศไทย = 6,721.8 ตารางกิโลเมตร เนื้อที่นี้คือ 2.4 เท่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ 3.1 เท่าของเนื้อที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ 4.3 เท่าชองเนื้อที่กรุงเทพมหานคร !!!
นั่นคือภาพของการทำลายป่าของประเทศไทยเมื่อ 21 ปีที่ผ่านมา ที่เราใช้ป่าภายใน 1-2 ปี เท่านั้น
ในราว 50 ปี ที่ผ่านมา ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าเทียบกับพื้นที่ประเทศไทย เป็น 6 ช่วง ได้แก่
- ช่วงปี 2504-2516 (12 ปี) พื้นที่ป่าลดลง 10.12 %
- ช่วงปี 2516-2525 (9 ปี) ลดลง 12.96 %
- ช่วงปี 2525-2534 (8 ปี) ลดลง 3.61% (ก่อนระหว่างนโยบายยกเลิกสัมปทานมาจนถึงยกเลิก)
- ช่วงปี 2534-2541 (7 ปี) ลดลง 1.36 %
- ช่วงปี 2543-2549 (6 ปี) ลดลง 2.23%
- ช่วงปี 2547-2552 (5 ปี) เพิ่มขึ้น 2.52 %
.
ปัจจุบันเนื้อที่ป่าไม้ประเทศไทยมีการสำรวจล่าสุดถึงปี 2552 มีเนื้อที่ 171,585.65 ตารางกิโลเมตร หรือ 33.44 % ลดลงจาก ข้อมูลในปี 2504 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจโดยวิธีการแปลภาพถ่ายดาวเทียมในปีแรกที่มีการจัดเก็บข้อมูล ที่มีเนื้อที่ 273,629.00 ตารางกิโลเมตร หรือ 53.33 % ถึง 102,043.35 ตารางกิโลเมตร หรือ 19.89 % หรือลดลงร้อยละ 37.3 % ของพื้นที่ป่าไม้ที่เคยมีในปี 2504
นั่นหมายถึงว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเราใช้พื้นที่ป่าไปเท่ากับ เนื้อที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 88 ที่ จึงสรุปได้ว่าประเทศไทยบริโภคเนื้อที่ป่าเฉลี่ยปีละเกือบสองเท่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
ดีที่หลังจากคุณสืบเสียชีวิตลง สถิติเนื้อที่ป่าไม้ของไทยในช่วงต่อมา จนถึงปี 2541 มีเนื้อที่สถิติที่ลดลง 1.36 % ในช่วงเวลา 7 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าการทำลายป่าของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 70
หลังจากนั้นจากสถิติป่าไม้ในปี 2543-2549 กลับมีการลดลงของเนื้อที่ป่าไม้มากขึ้นถึง 2.23% ในช่วงเวลา 6 ปี เท่ากับว่าในช่วงหลังจากคุณสืบเสียชีวิตสิบปี มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการทำลายป่าเกือบเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม สถิตป่าไม้หลังจากปี 2549 ถึง 2552 มีการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ป่าไม้ 2.52% หรือเฉลี่ยปีละ 0.84% ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนนโยบายและสถานการณ์ส่งเสริมการปลูกยางพาราที่กำลังเป็นปัญหาในการบุกรุกป่าอย่างมากในปัจจุบัน
เมื่อเข้าสู่ปีที่ 21 ผมลองถามเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาว พบว่าแทบไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือความสำคัญของวันที่ 1 กันยายน ไม่รู้ว่าคนชื่อสืบ นาคะเสถียร เคยฝากอะไรไว้ให้กับผืนป่าและสัตว์ป่า
แต่เชื่อว่าความทรงจำทั้งหลายยังคงชัดเจนอยู่กับคนรุ่นสี่สิบอย่างผม และผู้คนที่ผ่านวันเวลานั้นร่วมกันอย่างไม่ลืมเลือน ผู้คนที่ผ่านวันเวลานั้นต่างร่วมกันยกอุดมการณ์อนุรักษ์ขึ้นเป็นหลักคิด หลักยึดถือที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศไทยจนถึงวันนี้
ในระดับนโยบาย ปรากฏการณ์ปฏิเสธการสัมปทานตัดไม้จากป่า การยกความสำคัญในการออกกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนทำโครงการขนาดใหญ่ การประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การคำนึงถึงสิทธิของชุมชนและคุณภาพชีวิตของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ เหล่านี้ใช่หรือไม่ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศไทยในการรักษาสิ่งแวดล้อม
ในระดับปฏิบัติ ความตื่นตัวในการรักษาป่า การปลูกป่าทดแทน การใช้หลักการรีไซเคิล รียูส ใช้ถุงผ้า และมาตรการลดขยะทั้งหลาย การหันกลับมานิยมวัสดุธรรมชาติ ผักปลอดสารพิษ การรังเกียจการนุ่งห่มประดับประดาด้วยซากสัตว์ รวมถึงการประหยัดน้ำ ไฟฟ้า พลังงาน ต่างเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และผู้คนจำนวนมากไม่ปฏิเสธที่จะร่วมมือเท่าที่โอกาสจะอำนวย
ในระดับเยาวชน แทบไม่มีใครไม่รู้จักความสำคัญของผืนป่า ผลกระทบจากโลกร้อน กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและค่ายอนุรักษ์เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นใน โรงเรียน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาเมื่อก่อนปี 2533 และยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
มาตรฐานทางความคิดเช่นนี้ หากจะว่าไปแล้วนับเป็นการยกระดับ “ความเจริญ” หรือการเป็นประเทศที่ก้าวไปสู่การ “พัฒนา” ครั้งสำคัญทีเดียว
ดังนั้นไม่ว่าวันนี้ใครจะจำพี่สืบได้หรือไม่ ล้วนไม่มีความสำคัญ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรียกว่าการอนุรักษ์ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในระดับ หนึ่งแล้วในประเทศไทย แต่หากจะว่ากันตามจริงแล้ว ความตื่นตัวในครั้งนั้นอาจจะดูมีพลังไม่มากเมื่อเทียบกับการก้าวกระโดดของ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภคแบบทุนนิยมที่กลืนกินโลกทั้งใบไป พร้อมๆ กันกับกระแสอนุรักษ์ที่ก้าวตาม แต่เชื่อว่าเมื่อถึงวันหนึ่งสังคมไทยที่มีการเตรียมพร้อมอย่างที่ว่ามายาว นานก็จะสามารถร่วมกันรวมพลังแก้ปัญหาและรักษาประเทศไทยเอาไว้ได้จากภัยใหญ่ จากสิ่งแวดล้อมในที่สุด
.
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชีวิตหลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก่อตั้งขึ้นจากผู้คนที่มีจิตใจอนุรักษ์และเข้าใจเจตนารมณ์นั้นของคุณสืบ ช่วยกันสร้างองค์กรแห่งนี้ขึ้นภายหลังจากคุณสืบเสียชีวิต 18 วัน เวลาที่ผ่านมาหลายปีเปิดโอกาสให้ผู้คนหลากหลายได้เข้ามาร่วมกันทำงานให้พี่ สืบ
เราช่วยกันคิดว่าถ้าพี่สืบยังอยู่เขามีความคิดจะทำอะไร และพวกเราก็ช่วยกันทำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นแนวคิดของพี่สืบ
ผลงานที่ชัดเจนของมูลนิธิในช่วงแรกหลังการจากไปของคุณสืบ คือการสร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร และรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยการประสานงานการระดมทุนและการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2536 และยังสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนถึงการเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าซึ่งได้จัดสรรเงินให้ความ ช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ราชการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบุตรธิดาเรียนจบการศึกษา ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้ช่วยเหลือดังกล่าวไปแล้วนับกว่า 100 นาย
ผลงานที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของมูลนิธิได้แก่ การรณรงค์ทักท้วงโครงการที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าสัตว์ป่า แหล่งธรรมชาติ และสิทธิชุมชน ดังเห็นตามข่าวต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
ในปี 2547-2554 เป็นช่วงสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของมูลนิธิ มาทำงานในพื้นที่ชุมชนในป่าตะวันตกได้ครบ 131 ชุมชนในผืนป่า ส่งผลให้สามารถลดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ได้ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับชุมชนขอบป่าได้สนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชนบริเวณขอบป่า รวมจำนวนเกือบ 140 ชุมชน
21 ปีที่ผ่านมา การทำงานของเราในนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่รักษาสัญลักษณ์และความทรงจำบางอย่างไว้ แต่การสืบจิตวิญญาณของพี่สืบที่แท้จริงคงต้องหวังไว้กับผู้คนทุกๆ คนที่มีจิตใจอนุรักษ์ดังกล่าวมาแล้วในทุกระดับ เพื่อเตรียมพร้อมในการกอบกู้วิกฤตใหญ่ทางสิ่งแวดล้อมที่คุกคามโลกในวันที่ ใกล้เข้ามาทุกที ไม่ว่าเขาจะจำได้หรือรู้จักว่า “สืบ นาคะเสถียร” เป็นใครหรือไม่ก็ตาม
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)