ผมมาถึงห้วยขาแข้งเมื่อสองทุ่มของวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
ทีมงานภาคสนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังวุ่นวายอยู่ในความมืดของสนามหลังบ้านไม้เก่าๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไฟฟ้าที่ปั่นจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขตไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเปิดไฟทุกดวงที่เตรียมมาฉายไปยังรูปปั้นคุณสืบ ทางเดิน ป่าข้างห้วยทับเสลา และบ้านพักเก่าๆ หลังเดิมนั้นได้หมดทุกดวง เราปรับแผนกันกระทันหัน มาใช้การเปิดไฟฟ้าทีละดวงส่องออกมาจากบ้านของคุณสืบ และลำห้วยประกอบบทบรรยายถึงเรื่องราวและความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ่นเมื่อ 21 ปีที่แล้ว
บทบรรยายของเราเริ่มต้นว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” (เสียงปืน… ปัง)
และจบว่า “สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการและความมุ่งมั่นของตนเอง บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้”
ประโยคแรกมาจากบันทึกสุดท้ายของสืบนาคะเสถียร ประโยคหลังผมเอามาจากบทความในหนังสือสารคดีเมื่อคราวครบรอบ 10 ปีของคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ผมใคร่ครวญระหว่างนอนดูยอดไม้ในเปลที่ลานกางเต๊นท์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งว่าเราผ่านยี่สิบเอ็ดปีนี้มาอย่างไร
คนอายุเท่าผมผ่านตาสารคดีการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชียวหลานของสืบ ภาพที่คุณสืบปั๊มหัวใจกวางยังคงคุ้นอยู่ในความรู้สึก สืบ นาคะเสถียร ประกาศชัดเจนว่าขอทำงานเป็นฝ่ายอนุรักษ์รักษา และพร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่เต็มกำลังทุกวิถีทางเพื่อนำงานและทีมงานไปสู่เป้าหมายอย่างทุ่มเท และทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ที่แหลมคมดังเช่นการเขียนรายงานเสนอห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่เป็นมรดกโลก
แต่คนอายุน้อยกว่าผมหลายคนก็ยังรู้จักอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งผู้กลายสถานภาพจากข่าวดังร่วมสมัยไปสู่ตำนานประวัติศาสตร์ และการพลิกประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ของประเทศไทย
สิบปีที่ผ่านมาผมเดินทางมากมายในป่าตะวันตก มีเส้นทางหลักๆ ที่คุ้นเคยอยู่ 5 สาย นั่นคือ สายที่หนึ่งจากกรุงเทพฯ มาเมืองกาญจน์ และผ่านไทรโยคไปทองผาภูมิและสังขละบุรี เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ผมไปทำงานกับอุทยานแห่งชาติไทรโยค ลำคลองงู เขาแหลม ทองผาภูมิ และทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
สายที่สองคือ จากกรุงเทพออกสายสุพรรณมายังอำเภอด่านช้าง ที่นี่ผมแตกทางออกไปทำงานกับอุทยานถ้ำธารลอด พุเตย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และทะลุทางป่าเขาและข้ามแพไปยังอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์
สายที่สามผมใช้ทางสายเอเซียเข้าผ่านอุทัยธานีไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สายที่สี่ผมผ่านนครสวรรค์ไปทางอำเภอลาดยาว สู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คลองลาน คลองวังเจ้า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง
ส่วนสายสุดท้าย เป็นสายมุ่งสู่จังหวัดตากและแยกต่อไปแม่สอด และไต่ทางลอยฟ้าไปสู่อุ้มผางเพื่อทำงานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
งานของพวกเราเป็นงานที่เข้าไปทำความรู้จักกับวิถีชีวิตชุมชนและการทำงานแบบเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อหาทางลดความขัดแย้งในเรื่องที่ดินทำกินที่ชาวบ้านอ้างว่าอุทยานมาทับที่ และภาครัฐก็คิดว่าชาวบ้านขยายพื้นที่ออกจากพื้นที่ดั้งเดิมไปมาก
นอกจากนั้นเรายังทำงานกับชุมชนขอบป่า เพื่อหาทางจัดตั้งป่าชุมชนร่วมกับชาวบ้านเพื่อลดการเข้าไปใช้ทรัพยากรที่มากเกินในป่าใหญ่
วันนี้หลายๆ ฝ่ายยอมรับการทำงานของเราพอสมควร ชุมชนต้อนรับเราอย่างดีในฐานะเพื่อนมิตร ที่มาพร้อมกับการชักชวนให้ใช้สันติวิธีในการอยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่คลายความแคลงใจไปมากเมื่อรู้ว่าเป้าหมายของเราและเขาอยู่ที่การรักษาป่าเหมือนกัน
ภารกิจกับชุมชนที่เราทำงานเกือบสามร้อยชุมชนในพื้นที่คุ้มครอง 17 แห่งกับเนื้อที่ป่าที่ทับซ้อนอยู่กับขอบหกจังหวัด เราเหลือเจ้าหน้าที่อยู่ 26 คน ทั้งทำงานในกรุงเทพฯ และภาคสนาม
วันนี้แม้งานยังหนักหนา แต่ฐานข้อมูลแนวเขตพื้นที่ที่เสร็จแล้วกว่า 90% ป่าชุมชนที่ทยอยประกาศยอมรับจากกรมป่าไม้ เป็นช่วงเหนื่อยหนักที่เราผ่านมันมาแล้ว
วันนี้มีภาคเอกชนไทยมาสนับสนุนการทำงานแบบนี้ของเราต่อจากทุนที่ได้รับจากต่างประเทศยังเปิดโอกาสให้เราสานงานไปสู่เป้าหมายที่ให้คน ให้ป่า สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่มีความสันติสุขบนแนวทางรักษาป่าร่วมกัน ไปได้อีกห้าปี
แต่เมื่อคำนวณกองทุนที่เป็นแหล่งเงินเดือนน้อยนิดของเจ้าหน้าที่เรายังอยู่กันได้อย่างมีข้าวกินได้เพียงสามปี ซึ่งเป็นงานหนักของกรรมการมูลนิธิสืบที่จะต้องตัดสินใจว่าอย่างไรในการแก้ไขและรักษาทีมงานไว้ให้ได้เพื่อทำงานให้พี่สืบ นาคะเสถียร
ผมนั่งอยู่ในอนุสรณ์สถานของห้วยขาแข้งหลังได้รับความไว้วางใจจากกรรมการและประธานมูลนิธิชุดเดิมให้ทำหน้าที่เลขาธิการต่อไปอีกสี่ปีได้สองวันจากการประชุมเมื่อวันที่ 29 ที่ผ่านมา
ผมไม่รู้ว่าจะสามารถผ่านอุปสรรค์ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะจำนวนเงินในกองทุนที่มีไม่พอระยะที่เราต้องทำงานให้เสร็จโครงการไปได้อย่างไร แต่ผมรู้ว่า พวกเราจะตั้งใจทำงานเรื่องนี้ให้ดีที่สุดให้กับพี่สืบ
นี่เป็นความตั้งใจของพวกเราทุกคนที่ประกาศว่า “เราทำงานให้พี่สืบ”
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)