การแสดงแสงสีเสียง รำลึก สืบ นาคะเสถียร เป็นกิจกรรมที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งร่วมกันจัดทำขึ้นในคืนงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร วันที่ 31 สิงหาคม ก่อนการจุดเทียนหน้ารูปปั้นสืบเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มต้นทำกิจกรรมนี้ครั้งแรกในวาระ 21 สืบ นาคะเสถียร เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อความต่อเป็นไปนี้ เป็นบทแสงสีเสียงที่ใช้ครั้งแรกในคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2554
…
“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
ประมาณตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนที่ดังขึ้นจากบ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งดังขึ้นและเงียบไปกับเสียงสายธารข้างบ้าน เหมือนเสียงปืนนัดอื่นๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาในราวป่ามืดทึบแห่งนี้
สี่เดือนก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ว่ามีการลักลอบตัดไม้ที่ห้วยขาแข้ง
สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งเขา
สืบถูกเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้มีอิทธิพลในอำเภอลานสักหนุนหลัง
สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจงเพียงแต่ได้รับคำบอกสั้นๆ ว่า
“คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม”
“ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย”
ต้นทุนชึวิตของสืบในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งประสบการณ์ในการเติบโตมากับธรรมชาติในวัยเด็ก ความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของข้าราชการที่ซื่อสัตย์ นิสิตวนศาสตร์ผู้ขยันหมั่นเรียน การเริ่มชีวิตป่าไม้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว—เขาชมภู่ การทุ่มเททำงานวิชาการเรื่องสัตว์ป่ามากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะผลงานการเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน
การทำงานเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งกรุง เขื่อนเหวนรก และการสัมปทานทำไม้ที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งรวมถึงการขอประชามติไม่สนับสนุนให้มีการทำสัมปทานไม้ครั้งนี้ที่มีผู้ลงชื่อนับหมื่นคน
หลายครั้งในเวทีสาธารณะผู้คนรู้จักคำพูดจากใจเขาที่ว่า “ผมขอพูดในนามสัตว์ป่าทุกตัว” ทุนชีวิตของการอนุรักษ์ทั้งหมดได้นำมาทำงานในตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532
สืบเคยพูดไว้ว่า “ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม่เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”
แปดเดือนของหัวหน้าสืบที่ทำงานหนักในการทำงานปกป้องสัตว์ป่า ปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่ขอบป่าที่เป็นรากสำคัญของการเข้าไปล่าสัตว์ตัดไม้ ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งมีอาหารสัตว์ป่าไว้บริการลูกค้าทั้งปี มินับรวมการค้าเขากระทิง ควายป่า และซากสัตว์อื่นๆ ปัญหาอิทธิพลและการคอรัปชั่นภายในสังกัดของเขา และอิทธิพลจากนายทุนร่วมกับข้าราชการในพื้นที่
ระหว่างการทำงานที่นี่ลูกน้องหัวหน้าสืบถูกพรานยิงตายไปถึงสองคน
สืบเดินทางประสานงานทั่วทิศเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อปกป้องป่า ทำงานเผยแพร่ความรู้กับเด็กและเยาวชนรอบป่าด้วยตัวเอง วิ่งเต้นหาแหล่งทุนส่วนตัวเพื่อเป็นสวัสดิภาพสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ นำเสนอผลักดันแนวคิดเรื่องป่ากันชนป่าชุมชนให้ชาวบ้าน
สืบทำทุกอย่างตั้งแต่เช้ายันค่ำ บางครั้งเที่ยงคืนเขายังอุตสาห์ขับรถจากในเมืองเข้ามาในป่า ตื่นเช้ามืดมาเขียนเอกสารที่คั่งค้างไว้ พอรุ่งสางก็ขับรถออกไปตามโรงเรียนบรรยายให้นักเรียนฟังต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
“จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”
สืบเคยประกาศความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว แต่ในช่วงเวลานั้นการอนุรักษ์ป่าและการทำงานหนักแบบหัวหน้าสืบดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยและวงการราชการคุ้นเคย
เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งยังต้องพบกับการล่าสัตว์ มีหัวค่างหลายหัว พร้อมปลอกกระสุนที่ใช้ เจ้าหน้าที่ที่ลาดตระเวนตามคำสั่งก็ถูกลอบยิงที่ลำห้วยขาแข้ง สืบโมโหมากถึงกับตะโกนออกไปว่า
“ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า”
สืบรู้ว่าเสียงตะโกนก้องจากพงไพรของเขามันไม่ได้ยินไปถึงไหนในความมืดของสังคมไทย แสงเทียนที่สืบจุดหน้าบ้านเพื่อเขียนรายงานวิชาการเสนอให้ป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกน่าจะเป็นแสงสว่างเดียวของการอนุรักษ์ป่าผืนนี้
หลังจากงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้เสร็จลง สืบรู้ตัวดีว่าสักวันเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย สักวันลูกน้องของเขาต้องถูกยิงตายอีกอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ
สืบไม่ใช่คนกลัวตายแต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้าโดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้
เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อลูกทีมของเขา แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้
สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการและความมุ่งมั่นของตนเอง
บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้
กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาเสียงตะโกนจากพงไพรของเขาก้องกังวาน จากเสียงปืนนัดนั้น บัดนี้ธงของการอนุรักษ์ได้ปักแน่นอย่างมั่นคงในสังคมและประเทศไทย พวกเรายังคงจุดเทียนต่อกันเพื่อส่องแสงเป็นกำลังใจให้กันและกัน รำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อคืนวันนั้น เพื่อร่วมกันประกาศการสืบทอดเจตนาร่วมกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ขอพวกเราทุกคนเดินผ่านกาลเวลาเพื่อบอกกับสืบ นาคะเสถียร ว่า ภาพฝันของเขาจะดำรงค์อยู่สืบไป
– จบ –
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)