[ก้าวสู่ปีที่ 31] ก้าวสู่ 20 ปี สืบ นาคะเสถียร

[ก้าวสู่ปีที่ 31] ก้าวสู่ 20 ปี สืบ นาคะเสถียร

คืนวันที่ 31 สิงหาคม ล่วงเข้าสู่เช้าวันที่ 1 กันยายน ปี 2533 เป็นคืนที่พี่ “สืบ นาคะเสถียร” ตัดสินใจยิงตัวตาย ใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยหันมาสนใจการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งนับถึงสิ้นเดือนนี้ก็ครบ 19 ปีเต็ม ที่ชีวิตผู้ชายคนหนึ่งสร้างปรากฏการณ์กระแส “อนุรักษ์” ขึ้นในประเทศไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
.

เหตุการณ์คัดค้านเขื่อนน้ำโจน ในป่าทุ่งใหญ่ ภาพการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน การทำงานแก้ปัญหาสารพัดเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าห้วยขาแข้งในช่วงเวลาเพียงแปดเดือนของงานหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การตระเวนบอกกล่าวถึงความสำคัญของการละเว้นชีวิตและอนุรักษ์บ้านของสัตว์ป่า และการทุ่มเทเขียนรายงานการสำรวจคุณค่าป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเสนอให้เป็นมรดกโลก 

จนถึงการตัดสินใจใช้ชีวิตเรียกร้องให้ผู้คนรู้จักกับการเสียสละเพื่อธรรมชาติโดยมีตัวอย่างของการทำงานด้วยชีวิต…

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ในอดีตไม่มีใครเคยทำ และทั้งประเทศก็แทบไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้อง “ทำ”

เมื่อใกล้ล่วงสู่ปีที่ 20 ผมลองถามเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาว พบว่าแทบไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือความสำคัญของวันที่ 1 กันยายน ไม่รู้ว่าคนชื่อสืบ นาคะเสถียร เคยฝากอะไรไว้ให้กับผืนป่าและสัตว์ป่า

แต่เชื่อว่าความทรงจำทั้งหลายยังคงชัดเจนอยู่กับคนรุ่นสี่สิบอย่างผม และผู้คนที่ผ่านวันเวลานั้นร่วมกันอย่างไม่ลืมเลือน 

ผู้คนที่ผ่านวันเวลานั้นต่างร่วมกันยกอุดมการณ์อนุรักษ์ขึ้นเป็นหลักคิด หลักยึดถือที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศไทยจนถึงวันนี้

ในระดับนโยบาย ปรากฏการณ์ปฏิเสธการสัมปทานตัดไม้จากป่า การยกความสำคัญในการออกกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนทำโครงการขนาดใหญ่ การประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การคำนึงถึงสิทธิของชุมชนและคุณภาพชีวิตของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ เหล่านี้ใช่หรือไม่ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศไทยในการรักษา สิ่งแวดล้อม

ในระดับปฏิบัติ ความตื่นตัวในการรักษาป่า การปลูกป่าทดแทน การใช้หลักการรีไซเคิล รียูส ใช้ถุงผ้า และมาตรการลดขยะทั้งหลาย การหันกลับมานิยมวัสดุธรรมชาติ ผักปลอดสารพิษ การรังเกียจการนุ่งห่มประดับประดาด้วยซากสัตว์ รวมถึงการประหยัดน้ำ ไฟฟ้า พลังงาน ต่างเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และผู้คนจำนวนมากไม่ปฏิเสธที่จะร่วมมือเท่าที่โอกาสจะอำนวย 

ในระดับเยาวชน แทบไม่มีใครไม่รู้จักความสำคัญของผืนป่า ผลกระทบจากโลกร้อน กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและค่ายอนุรักษ์เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างที่ไม่เคยปรากฏก่อนช่วงปี 2533 และยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

มาตรฐานทางความคิดเช่นนี้ หากจะว่าไปแล้วนับเป็นการยกระดับ “ความเจริญ” หรือการเป็นประเทศที่ก้าวไปสู่การ “พัฒนา” ครั้งสำคัญทีเดียว
.

ดังนั้น ไม่ว่าวันนี้ใครจะจำพี่สืบได้หรือไม่ ล้วนไม่มีความสำคัญ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรียกว่าการอนุรักษ์ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วในประเทศไทย 

.
แต่หากจะว่ากันตามจริงแล้ว ความตื่นตัวในครั้งนั้นอาจจะดูมีพลังไม่มากเมื่อเทียบกับการก้าวกระโดดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภคแบบทุนนิยมที่กลืนกินโลกทั้งใบไป พร้อมๆ กันกับกระแสอนุรักษ์ที่ก้าวตาม 

แต่เชื่อว่าเมื่อถึงวันหนึ่งสังคมไทยที่มีการเตรียมพร้อมอย่างที่ว่ามายาว นานก็จะสามารถร่วมกันรวมพลังแก้ปัญหาและรักษาประเทศไทยเอาไว้ได้จากภัยใหญ่ จากสิ่งแวดล้อมในที่สุด

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก่อตั้งขึ้นจากผู้คนที่มีจิตใจอนุรักษ์และเข้าใจเจตนารมณ์นั้นของคุณสืบ ช่วยกันสร้างองค์กรแห่งนี้ขึ้นภายหลังจากคุณสืบเสียชีวิต 18 วัน เวลาที่ผ่านมาหลายปีเปิดโอกาสให้ผู้คนหลากหลายได้เข้ามาร่วมกันทำงานให้พี่สืบ 

เราช่วยกันคิดว่าถ้าพี่สืบยังอยู่เขามีความคิดจะทำอะไร และพวกเราก็ช่วยกันทำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นแนวคิดของพี่สืบ

ผลงานที่ชัดเจนของมูลนิธิในช่วงแรกหลังการจากไปของคุณสืบ คือการสร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร และรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์สืบนาคะเสถียร รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยการประสานงานการระดมทุนและการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2536 และยังสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง 

ตลอดจนถึงการเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าซึ่งได้จัดสรรเงินให้ความ ช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ราชการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบุตรธิดาเรียนจบการศึกษา ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้ช่วยเหลือดังกล่าวไปแล้วนับกว่า 100 นาย

ผลงานที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของมูลนิธิได้แก่ การรณรงค์ทักท้วงโครงการที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าสัตว์ป่า แหล่งธรรมชาติ และสิทธิชุมชน ดังเห็นตามข่าวต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

ในปี 2547-2552 เป็นช่วงสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของมูลนิธิ มาทำงานในพื้นที่ชุมชนในป่าตะวันตกได้ครบ 131 ชุมชนในผืนป่า ส่งผลให้สามารถลดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ได้ในระดับที่น่าพอใจ 

สำหรับชุมชนขอบป่าได้สนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชนบริเวณขอบป่า รวมจำนวน 135 ชุมชน

20 ปีที่ผ่านมา การทำงานของเราในนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่รักษาสัญลักษณ์และความทรงจำบางอย่างไว้ แต่การสืบจิตวิญญาณของพี่สืบที่แท้จริงคงต้องหวังไว้กับผู้คนทุกๆ คนที่มีจิตใจอนุรักษ์ดังกล่าวมาแล้วในทุกระดับ

เพื่อเตรียมพร้อมในการกอบกู้วิกฤตใหญ่ทางสิ่งแวดล้อมที่คุกคามโลกในวันที่ ใกล้เข้ามาทุกที ไม่ว่าเขาจะจำได้หรือรู้จักว่า “สืบ นาคะเสถียร” เป็นใครหรือไม่ก็ตาม

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)