[ก้าวสู่ปีที่ 31] กฏหมาย “เปิดป่า ค้าสัตว์” บทบาทอันน่าฉงนของกรมอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2549

[ก้าวสู่ปีที่ 31] กฏหมาย “เปิดป่า ค้าสัตว์” บทบาทอันน่าฉงนของกรมอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2549

ก่อนที่เราจะมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับปัจจุบัน (2562) เราเกือบได้กฎหมายที่มีการร่างใหม่เมื่อราวๆ ปี 2549 แล้วครับ ผมเขียนบทความต่อต้านกกหมายฉบับนี้ไว้อย่างรุนแรงทีเดียว มีนักอนุรักษ์เห็นด้วยกับผมเยอะสู้กันอยู่หลายปี จนกระทั่งเราได้กฎหมายที่ร่างใหม่ที่ค่อนข้างลงตัวเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

แผนการของคณะทำงานกฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เสนอร่างกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2549 หากพวกเรายังจำกันได้ ระหว่างสิงหาคมปีก่อนหน้า คนทั้งประเทศต่างกำลังตื่นตัวในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และคงจำสาเหตุที่มาที่กระตุ้นเราให้สำนึกเช่นนั้นร่วมกันเป็นอย่างดี

คนทำงานอนุรักษ์ต่างมีความหวังต่อพลังการตื่นตัวนั้น ทั้งในระดับหน่วยงานและบุคคล

แต่ไม่น่าเชื่อว่า ผ่านมาไม่ถึงปี องค์กรอนุรักษ์หลายองค์กรต้องมาวิตกในภัยคุกคามใหม่ของผืนป่า สัตว์ป่า เป็นภัยที่ใหญ่กว่าเลื่อยยนต์ หรือไรเฟิลล่าสัตว์กระบอกโต นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า 2 ฉบับใหม่ ที่กรมอุทยานฯ จ้างนักวิชาการชื่อดังจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งร่างให้เสร็จ เป็นเอกสารวิชาการตั้งแต่ปี 2547-2548

นักวิชาการทั้งภายในกรมและนอกกรมงงงวยกับมาตราต่างๆ ที่ออกมา ต่างเปรยกันดังๆ ว่าคนร่างกฎหมายนี้คงขาดประสบการณ์ในงานรักษาระบบนิเวศป่าไม้ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเรื่องต่างๆ ที่คิดมาจะทำให้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่คุ้มครองดังกล่าวหมดสิ้นไป

“คนคิดนี่ช่างอ่อนหัดเสียจริงๆ” เสียงหนึ่งจากนักอนุรักษ์มือเก๋าวัยใกล้เกษียณที่บ่นจนได้ยิน

แน่นอน พวกเราต่างดูแคลนที่ไปที่มาของแนวคิดที่เริ่มจากคนในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เชี่ยวชาญงานแปลงโน่นแปลงนี่เป็นทุน และเปิดช่องให้ธุรกิจเอกชนเครือข่ายพุ่งเสียบโอกาส และแน่นอน คนระดับร่างกฎหมายนี้ที่มีประสบการณ์ในงานตรวจการแผ่นดินระดับรัฐสภา ย่อมต้องเข้าใจดีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ปฏิบัติที่เป็นข้าราชการสามารถทำพันธกิจนี้ได้โดยไม่พลาดพลั้งผิด 

และยิ่งแน่นอน พวกเราต่างหากที่ยิ่งกว่าอ่อนหัด เมื่อเทียบกับระบบคิดที่ซับซ้อนซ่อนนัยเช่นนี้ 

ทว่าในที่สุดเมื่อเข้าใจตามเจตนาของคนเขียนกฎหมายจนแจ้ง ก็พบว่าร่างนี้มุ่งให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อผลทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบโดยมีเป้าที่ “เปิดป่า ค้าสัตว์” กันเต็มๆ 

ดังนั้น องค์กรอนุรักษ์จึงได้ทักท้วงการเสนอร่างดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนมาจนกระทั่งร่างถูกตีกลับให้กรมอุทยานฯ เจ้าของเรื่องกลับไปทบทวนเนื้อหาใหม่

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เตรียมการเสนอร่างทั้ง 2 ฉบับ อีกครั้ง โดยแก้ไขเฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยเพียงบางส่วน แต่ยังคงเนื้อหาที่นำพื้นที่ป่ามาให้เอกชนลงทุนผูกขาดธุรกิจท่องเที่ยวและพักแรม เปิดขอบผืนป่าเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลและกลุ่มทุนเอาไว้เหมือนเดิม

ที่สำคัญอีกประการ คือ เจตนายกระดับธุรกิจการค้าขายสัตว์ป่าเป็นแนวทางหลักในการร่างกฎหมาย ทั้งที่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่การชักนำให้มีการลอบล่าสัตว์ป่าและจับสัตว์ป่าจากแหล่งธรรมชาติออกมาขายให้ธุรกิจค้าสัตว์ป่าในโฉมหน้าของผู้ประกอบการสวนสัตว์ มากกว่าการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมตามหลักวิชาการซึ่งมีข้อกฎหมายรองรับให้ปฏิบัติได้อยู่แล้วในปัจจุบัน 

ทั้งๆ ที่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ เปิดช่องทางเติบโตให้ธุรกิจค้าขายสัตว์ป่าที่ถูกกฎหมายก็ดี หรือที่ลักลอบทำก็ดี เปิดทางให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งธุรกิจค้าสัตว์ป่า สวมรอยสัตว์ป่าจากธรรมชาติให้เป็นสัตว์ตามทะเบียนเพาะเลี้ยงแหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของโลก แน่นอนว่าจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงภาพลักษณ์และการยอมรับของชาติในระดับสากล

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายซึ่งจัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ผ่านมาเองก็ตาม หรือการสัมมนาที่จัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ดี ปรากฏความเห็นขัดแย้งอย่างมากต่อการเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ 

มีผู้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ช่องโหว่ และความเสี่ยงที่จะใช้กฎหมายที่ว่า อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้แทนฝ่ายกฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติฯยังคงยืนยันดำเนินการเสนอกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป 

ดังนั้น คงจะคิดอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในวันนั้น ยอมเปลี่ยนเจตนาการอนุรักษ์ผืนป่าสัตว์ป่าจากระดับการสงวนรักษาที่เคยเป็นมาแต่เดิม เป็นการเปิดป่าให้นายทุนนางทุนเข้ามาเช่าทำโรงแรมทำรีสอร์ท และอนุญาตให้สวนสัตว์ค้าขายสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าไซเตส และสัตว์ประหลาดจากต่างประเทศที่ต้องควบคุม

นับแต่นี้ แหล่งธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่เหลืออยู่เพียงในพื้นที่อนุรักษ์ และเคยได้รับการยอมรับในหลักการทางวิชาการในระดับสากลจากนานาประเทศ คงต้องหมดสิ้นไป 

ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์ในพื้นที่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าหลายคน ยังไม่พบใครที่เห็นดีเห็นงามกับกฎหมายเปิดป่าค้าสัตว์ฉบับนี้เลยแม้แต่คนเดียว จึงได้แต่มึนงงว่าร่างกฎหมายนี้จะหลุดออกมาจากกรมโดยไม่มีการไถ่ถามรับฟังคนทำงานภายในกันบ้างเลยหรือไร

กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีหน้าที่รักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เหลืออยู่ และนั่นคือหลักประกันความมั่นคงดำรงอยู่ด้านสำคัญเกี่ยวกับน้ำ อากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมรดกความงามและความจริงของธรรมชาติแห่งพื้นที่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกกันว่า “ประเทศไทย”

เปลี่ยนใจเถอะครับ ก่อนที่ท่านจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การออกกฎหมายทำลายชาติ

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)