ขณะที่ผู้คนอาจมีหวังและกำลังจะสิ้นหวังกับ Road Mark ที่กรุงเทพฯ ผมแอบหนีมาอยู่ตีนเขามอช้างใหญ่อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ได้สามวันแล้วครับ
เพราะตะวันฉาย หงษ์วิไล เหมือนจะรู้ว่าที่กรุงเทพฯ กำลังร้อนและตึงเครียดมากแค่ไหนเลยชวนผมมาทำกิจกรรมเล็กๆ ง่ายๆ กับทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่นี่
ตะวันฉายวานให้ผมช่วยอบรมการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่เหินห่างการอบรมแบบนี้มานานรวมถึงอยากให้อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ใหม่ของเราได้เรียนรู้ และได้ถือโอกาสนี้พาทีมงานฝ่ายวิชาการมาร่วมกิจกรรมด้วยเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่เกือบหมดเหมือนกัน
เมื่อเที่ยงวันเสาร์ที่รีสอร์ตเล็กๆ ร้อนไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เพียงแต่ที่นี่เป็นที่เปิดโล่งหายใจสะดวก เราเริ่มจากการทำความรู้จักกัน ผมก็เพิ่งรู้จักที่ไปที่มาของน้องๆ หลายคนทั้งที่เราก็เห็นหน้ากันมานาน
บางทีการที่คนเราพบเจอกันในหน้างานอย่างเดียว เจอกันในฐานะหัวหน้ากับลูกน้องอย่างเดียว มักทำให้เราก้าวข้ามความสัมพันธ์ที่เราควรรู้จักมักจี่ในฐานะส่วนตัวกันมากไปจริงๆ
เมื่อรู้จักกันแล้ว ผมนำเอกสารเรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เขียนเป็น วิถี (Way) ที่ยิ่งใหญ่ลึกซึ้งกว่า Road Map ใดๆ ในการสร้างชาติ เมื่อหลายสิบปีก่อน และเราก็เดินหลงวิถีที่ว่ากันไปไกล มาอ่านและถอดเป็น Mind Map กัน ผมรู้สึกดีจริงๆ ที่น้องๆ เข้าใจ เพราะนี้จะเป็นพื้นฐานและเป้าหมายเดียวในการทำงาน “พัฒนา” ใดๆ
การนำเสนอ Mind map ในบ่ายวันเสาร์ ทำให้เราเห็นความต่างๆ ของคนเก่าคนใหม่ ประสบการณ์ความรู้ ของคนทำให้ทักษะต่างๆ ห่างกันพอสมควร ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายให้เปรียบเทียบและถ่ายทอดระหว่างคนที่มาก่อนสู่คนใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเมื่อถึงตอนค่ำ การพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในการนำเสนองานของผู้ขาดประสบการณ์จะทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ล้วนมาจากความตั้งใจทั้งผู้เรียนรู้ และคำแนะนำจากผู้มาก่อน
คืนนั้นเราดูหนังด้วยกันเรื่อง “School of Rock” และเชื่อมโยงแนวคิดจากห้องเรียนชั้นประถมที่อเมริกากับครูตัวปลอมที่ไม่รู้จักห้องเรียน มาสู่เวทีการศึกษาเรียนรู้ และหนุนเสริมชุมชน กับงานเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ของเราอย่างเข้มข้น
วันอาทิตย์ ผมให้พวกเราศึกษาโมเดล ความสำเร็จของชุมชนในที่ต่างๆ และถอดบทเรียนออกเป็นแผนภาพโมเดล เพื่อใช้โอกาสนี้ดูการพัฒนาการของวิธีการนำเสนองานเชิงวิชาการ การพูดโดยใช้สื่อที่เหมาะสมในเวทีชาวบ้าน
ทีมงานได้ผลัดกันพูดผลัดกันประเมินเพื่อนๆ และค่อยปรับแก้จนกระทั่งในตอนเย็นเราเปลี่ยนมานำเสนอเรื่องที่ต้องใช้เทคนิคต่างๆ มากขึ้น ต้องจับประเด็นให้ชัดเจน และวางแผนกำหนดเวลา
นอกจากทีมงานได้เห็นพัฒนาการของเพื่อนร่วมทีม ยังได้เห็นจุดเด่นข้อด้อยต่างๆ ที่ต้องปรับปรุง และ “ช่วยเหลือกัน” ในการทำงานจริง
วันนี้ผมตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นแต่เช้า แสงส้มสวยค่อยๆ ขยับแถบไล่ความมืดเหนือแนวเขาแม่กะทู้ที่พาดยาวอยู่ทางตะวันออก จันทร์เสี้ยวหงายอยู่เหนือภาพแสงเช้าเหนือเขาแม่กะทู้ เงาไม้สีดำเริ่มปรากฏชัดตามตำแหน่งของพระอาทิตย์ที่ขยับขึ้นใกล้พ้นเขา ผมคิดว่าวันนี้เราจะโยงความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ที่ผ่านมาประยุกต์สู่การนำเสนอตัวแบบของงานชุมชนที่เราทำอยู่ เครือข่ายแม่เปิน ชุมชนห้วยหวาย และชุมชนเขาวังเยี่ยมเป็นเป้าหมายที่ผมวางไว้ในใจเมื่อพระอาทิตย์พ้นเขาขึ้นมาส่องแสงให้จันทร์เสี้ยวเลือนหายไป
ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความ คนรอบๆ ตัวผมกำลังร่างและวาดแผนภาพอันเป็นเสมือน “Road Map” ของการทำงานในพื้นที่ เป็นตัวแบบที่พวกเขาจะใช้เดินทางบนเส้นทางงานอนุรักษ์ป่าที่ใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมกับพี่น้องชุมชน ผมหวังว่าเมื่อเป้าหมายชัดอยู่ในใจของแต่ละคนแล้ว
“เราจะไม่หลงทาง”
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)