เวลานึกถึงงานชุมชนลุ่มน้ำแม่จันที่อุ้มผางต้องนึกถึงประวัติศาสตร์ เป็นชั้นๆ ที่เคลื่อนผ่านกันตามห้วงเวลาครับ…
เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้วพร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วบ้านเลตองคุ (บ้านบนน้ำตก) ก่อตั้งขึ้นในหุบเขากลางป่าลึกพร้อมความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาสายพระศรีอารยเมตไตรยจากรัฐคะหยิ่นในพม่าด้วยหวังว่าจะดำรงชุมชนที่ดีสืบทอดกันเพื่อรับพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ ชาวชุมชนพร้อมใจไว้ผมมวยหน้า นุ่งโสร่ง เสื้อผ่าอก กินมังสะวิรัติในวันพระ มีผู้นำนุ่งขาวห่มขาวเรียกกันว่าเป็นฤๅษี สร้างสายวัฒนธรรมความเชื่อกระจายไปสู่ชุมชนด้านตะวันออกซึ่งเป็นพี่น้องปากะญอ ที่มีชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านหม่องกั๊วะและแกวอทะ และเรียงรายขึ้นไปทางต้นน้ำของห้วยแม่จัน บ้านมอทะ บ้านพอกะทะ บ้านกุยเคล๊อะ กุยต๊ะ และ กุยเลอตอ รวมถึงบ้านริมน้ำแม่จันทางทิศใต้ คือชุมชนเกริงโบ ที่เป็นโผล่ว ถือด้ายขาว เหมือนชุมชนบ้านจะแกที่ฝั่งกาญจนบุรี
วัฒนธรรมทั้งหมดถูกโอบล้อมไว้ด้วยผืนป่าขนาดมหึมา ปิดตัวเองไว้จากการเปลี่ยนแปลงของคนพื้นราบฝั่งเจ้าพระยาในประเทศไทย หรือลุ่มอิระวดี ในประเทศพม่าดำรงตนตามความเชื่อมาจนกระทั่ง…
เกือบห้าสิบปีที่แล้ว พี่น้องโผล่วด้ายเหลืองอพยพข้ามป่าห้วยขาแข้งมาจากป่าฝั่งตะวันออกแถวบ้านเจ้าวัดในอุทัยธานีจนถึงทุ่งมะกอกในสุพรรณบุรีด้วยเหตุผลเรื่องอะไรสักอย่าง ทยอยกันมาตั้งถิ่นฐานรอบสบห้วยแม่จัน-แม่กลองใต้ลงมาจากเกริงโบ เรียกว่าบ้านแม่จันทะ (หมายถึงบริเวณน้ำแม่จันปะทะกับแม่กลอง) กระจายออกเป็น ชุมชน ทิบาเก แม่จันทะ ตะละโค่ง และซ่องแป๊ะ และรับอิทธิพลความเชื่อเรื่องฤๅษีอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน พี่น้องปากะญอจากกำแพงเพชรก็ตามสมทบและตั้งบ้านอยู่ระหว่างเกริงโบและหม่องกั๊วะ เรียกว่า บ้านยูไนท์ และนี่เป็นชุมชนที่เรียงรายอยู่ที่ลุ่มน้ำแม่จัน-แม่กลองในป่าลึกอุ้มผางที่ปัจจุบันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและมรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
และประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติในสงครามประชาชนครั้งใหญ่เมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมาก็เคลื่อนอุดมการณ์สังคมนิยมเข้าปกคลุมหมู่บ้านทั้งหมดเป็นเขตงานปฏิวัติภาคตะวันตกที่ยิ่งใหญ่ หลังจาก พ.ศ. 2526 หลังสงครามปฏิวัติสิ้นสุด สหายในเมืองทยอยกลับ วัฒนธรรมปฏิวัติคลี่คลาย ชุมชนกลับมาเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ตามวิถีวัฒนธรรมที่ผสานกับการจัดการปกครองของรัฐไทย มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและผู้ใหญ่บ้านเป็นสัญลักษณ์ใหญ่อยู่ที่ศูนย์กลางเขตงานที่บ้านบ้านแม่จันทะ และหม่องกว๊ะ
จนถึงวันนี้พี่น้องที่นี่ยังอยู่กับความเชื่อที่ผสมผสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม โผล่ว ปากะญอ ฤษีเลตองคุ ไว้อย่างเหนี่ยวแน่น แต่แน่นอนว่าในหลายแห่งเปลี่ยนไปจากการเป็นฐานที่มั่นของสหาย และการจัดการปกครองแบบรัฐไทย หลักฐานสำคัญที่เหลืออยู่อย่างเป็นรูปธรรมคือ ทุกหมู่บ้านล้วนมี “หมอปฏิวัติ” ยังคงทำงานรับใช้สหายอยู่อย่างสุดจิตสุดใจโดยไม่มีค่าตอบแทนเหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แม้ว่ายาและเครื่องมือจะขาดแคลนอย่างไร วันนี้หลายคนยังเป็นหมอตำแยมือหนึ่ง หมอสมุนไพรมหัศจรรย์ หมอตรวจมาลาเรียที่ใช้กล้องจุลทรรศน์และจ่ายยาอย่างแม่นยำ และหลายคนก็ถูกขอร้องให้เป็น อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขของหมู่บ้าน นอกจากนี้เครือข่ายความรู้ยังถูกประสานให้เข้ากับเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ที่เป็น อสม. ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานของอดีตนักรบเหล่านี้นั่นเอง ในยามฤดูฝนที่ถูกตัดขาดจากภายนอก บุคลากรต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำหน้าที่ “ช่วยชีวิต” พี่น้องในชุมชนมานับไม่ถ้วน
เมื่อห้าปีที่แล้วเราเริ่มรู้จักกับบุคลากรเหล่านี้ เพราะเข้าไปทำงานชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับการอนุรักษ์ป่าของรัฐ งานที่ควบคู่ไปกับการสำรวจแนวเขตใช้ประโยชน์ชุมชนและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมการทำไรข้าวหมุนเวียนก็คือการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนที่รวมเอาบุคลากรทางสาธารณสุขรุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาเติมยา เติมเครื่องมือ และเติมใจที่จะทำหน้าที่ในงานปฏิวัติที่พรรคมอบหมายไว้แต่ครั้งกระโน้น หากแต่ในวันนี้พวกเขาไม่ได้ทำงานให้กรรมการพรรคอย่างในอดีต แต่ทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทนนี้มาจากภายใน ซึ่งเรียกอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากคำว่า “จิตใจรับใช้”
ชื่อของบุคลากรแต่ละคนในเครือข่าย ล้วนบันทึกกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ สดใส แสงเดือน ภาราดร ท้าทาย วินิจ ธงชัย วิเชียร สุนี ทิมา ขณะที่หลายคนก็ยังคงใช้ชื่อในภาษาเดิม ดังเช่น มึ๊ตริเชอ พาทูแฮ เจละ ซงเงี่ย ถึงวันนี้เรามีบุคลากรในเครือข่ายอยู่กว่า 60 คน
การจัดอบรมประจำปี และนำยาไปให้ เครือข่ายเหล่านี้ที่สำคัญก็คือการให้กำลังใจกันและกัน หลายคนเกือบเลิกทำงานนี้ไปแล้วเนื่องจากมีภาระทำไร่ทำนา ก็กลับมาทำงานอีก เนื่องจากในงานอบรมแต่ละครั้งเราได้จัดให้มาเจอกัน พูดคุยสารทุกข์สุกดิบ ที่ปกติแล้วก็ไม่มีโอกาสมาเจอกันเลย ที่สำคัญการเจอกันแต่ละครั้งทุกคนล้วนมีความสุขที่ได้ร่วมร้องเพลง และรำวงเพลงปฏิวัติ ร่วมกัน แววตาที่ย้อนไปสู่อดีตที่ร่วมรบทำให้เราซึมซับจิตวิญญาณนี้มาอย่างประทับใจ
อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความผูกพันกับแนวร่วมนี้เป็นอย่างมาก ในงานรวมกันแต่ละครั้ง แม่ของอดีตสหายนักศึกษาเขตงานภูหินร่องกล้าคนนี้จะต้องดั้นด้นเข้าป่าไปด้วยแม้อายุจะใกล้ 80 เพื่อเข้าร่วมวงรำวงปฏิวัติที่แสนสนุก แน่นอนว่าภารกิจของอาจารย์ในวันนี้คือการหาทุนมาเพื่อสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ปีละสองครั้งคือ ก่อนเข้าหน้าฝนในช่วงนี้ และหลังจากหมดฝนที่ยาทั้งหมดจะหมดไปกับการรักษาคนไข้ร่วม 3,000 คนใน 14 ชุมชน นับเป็นสายใยจากเมืองสู่ป่าพึ่งพากัน
ปีนี้ผมและคณะเพิ่งจากออกมาจากการส่งยา และเก็บข้อมูลการรักษาในช่วงสามปีที่จัดตั้งเครือข่ายขึ้นมาเราสัญญากับเขาไว้ว่าตราบใดที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงทำงานอยู่ในผืนป่าตะวันตกสายใยเส้นนี้จะยังคงอยู่และผูกพันป่ากับเมืองให้เป็นเรื่องเดียวกันตลอดไป
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)