นานแล้วที่ผมไม่ได้มีโอกาสแวะมาเยี่ยมหมู่บ้านห้วยหินดำ หมู่บ้านกะเหรี่ยงในหุบเขาที่ขอบอำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการปัญหาที่ดินป่าไม้ และมีแนวทางการสร้างเครือข่ายการทำงานภายในชุมชนที่ค่อนข้างก้าวหน้าไปไกล ดังนั้นในช่วงหลังที่พวกเราขยายงานจอมป่าสู่พื้นที่ใหม่ หมู่บ้านนี้จึงเป็นพื้นที่ที่ผมไม่ค่อยได้มีกิจกรรมร่วมกับเขามากนัก แต่เราก็ยังมีอาสาสมัครที่คอยทำงานช่วยเหลือประสานงานกันอยู่
วันนี้มีเพื่อนจากสายงานธุรกิจธนาคารที่มีความประสงค์จะใช้พื้นที่ทำงานของเราในการพัฒนาแนวคิดการทำงานเพื่อสังคมให้กับองค์กรต้นสังกัดมาขอให้พาไปหาความรู้เรื่องธนาคารข้าวโดยใช้เวลาสั้นๆ พวกเราจึงตัดสินใจพาไปดูธนาคารข้าวที่ห้วยหินดำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำมาร่วมสิบกว่าปีตั้งแต่ครั้งพี่พยงค์ ศรีทอง NGO ผู้เข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านและเริ่มวางรากฐานให้ห้วยหินดำเป็นหมู่บ้านพิเศษที่กระบวนการจัดการพื้นที่และชุมชนอย่างดีมาถึงทุกวันนี้ก่อนที่ RECOFTC และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะมาต่อยอด
นริศ บ้านเนิน หัวหน้าภาคสนามพื้นที่สุพรรณบุรี นัดหมายให้ลุงไกว ผู้ใหญ่ไก่ อบต.โจ และพี่ต่ะ ประธานธนาคารรวมถึงคนอื่นๆ รอเราอยู่แล้วที่ใต้ร่มไม้ในหมู่บ้าน การอธิบายเรื่องธนาคารข้าวใช้เวลาไม่นานนักกับการทำความเข้าใจเพราะก็เป็นหลักการเดียวกับการฝากเงินถอนเงินยืมเงิน ดังนั้น สาวๆ กรุงเทพจากสายงานธนาคารจึงสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วโดยแทบไม่มีข้อสงสัยใดๆ
แต่งานต่อมาที่เราถือโอกาสอธิบายงานจอมป่าที่ห้วยหินดำนี่สิที่เป็นงานยาก เพราะแขกของเราแทบไม่เคยมีพื้นฐานงานอนุรักษ์ป่า และความเข้าใจในสภาพปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทำกินในป่าอนุรักษ์มาก่อนเลย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเดินตามลุงไกวขึ้นไปดูสภาพภูมิประเทศบนภูเขาท่ามกลางแดดแรงของวันสุดท้ายเดือนกุมภา ก็ดูว่าทุกๆ คนค่อยเข้าใจและมากระจ่างตอนได้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนจากลูกที่ชาวบ้านช่วยกันไปเก็บและปอกเฉาะดื่มให้ในสวนบ้านเรียนรู้ลุงไกวนั่นเอง
เราออกจากห้วยหินดำตอนเย็นแล้ว ขับรถลงใต้ข้ามมายังพรมแดนเขตจังหวัดกาญจนบุรีมายังสามแยกเข้าอำเภอศรีสวัสดิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เป็นป้อมเฝ้าระวังการทำลายทรัพยากรจากบนภูเขาและใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวที่จะลงมาชุมชนเมืองด้านล่างที่เรียกกันว่า “จุดสกัดประตูป่า”
ประตูป่าเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการคิดต่อยอดงานจอมป่าของผู้นำชุมชนที่มีความคับข้องใจในข้อหาจากคนด้านนอกและหน่วยงานของรัฐว่าเป็นต้นเหตุของการลักลอบทำลายป่าล่าสัตว์ป่านำไม้สัตว์ป่าออกไปขาย จึงรวมตัวกันตั้งเป็นจุดสกัดร่วมกับฝ่ายรัฐซึ่งให้ความร่วมมือทำกิจกรรมโดยอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ พื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในพื้นที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมจุดสกัด และในแต่ละเดือนก็มีผลงานป้องปรามและร่วมยับยั้งการนำทรัพยากรออกไปจากพื้นที่จากคนนอกและผู้มีอิทธิพลได้หลายกรณี
ผมพบกับพี่ผู้พัน อดีตทหารที่เกษียณอายุมาอยู่บริเวณนี้และบริจาคที่ดินให้สร้างป้อมและตัวเองก็เป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทำงานรักษาทรัพยากรอย่างเข้มแข็ง โดยในวันนี้นอกจากผู้พันแล้วเหล่าผู้นำและอาสาสมัครก็ได้มารอคุยกับพวกเราหลายคน ทำให้แขกของเราเข้าใจว่านอกจากฝ่ายรัฐแล้วการมีส่วนร่วมเอาใจใส่ของชุมชนนี่เองที่จะเป็นคำตอบของความสำเร็จในการรักษาป่า และเป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาทรัพยากรตามสิทธิในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
วงข้าวเย็นที่สำนักงานภาคสนามสุพรรณบุรี กลายเป็นวงสนทนาถึงความเป็นไปได้ในการทำโครงการสนับสนุนจากภาคธุรกิจพวกเรามีโอกาสเล่าให้แขกฟังถึงรายละเอียดของการทำงานและแนวทางที่เราคิด มีแนวคิดดีๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงค่ำคืนที่บ้านพักของอุทยานเฉลิมรัตนโกสินทร์หรือถ้ำธารลอดอีกมากมายที่น่าจะได้ทำงานร่วมกัน อันนี้กระมังที่เขาเรียกว่า CSR อะไรทำนองนี้ หรือปล่าว? เห็นกำลังเป็นกระแสที่ภาคธุรกิจกำลังให้ความสนใจ
วันต่อมามีโอกาสได้ดูพื้นที่ทำงานผ่านประตูป่าขึ้นไปถึงบ้านบ้านบึงชะโค ซึ่งตรงกับงานไหว้เจดีย์ประจำปีของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านละแวกนั้นพอดี ขนมทองโย๊ะและเสียงร้องเพลงโบราณที่บอกเล่าถึงคำสอนคำทำนายของปู่ย่าตายายจากป้าไม้แคะและเพื่อนร่วมรุ่น และเสียงแคนของผู้เฒ่า สอดประสานกับการแปลความหมายลึกซึ้งหม่นเศร้าจากพี่วันดี และพี่ยุพิน เสริมความเข้าใจในการทำงานและสิ่งที่ชุมชนคิดได้อย่างพอดี
ก่อนกลับเรามาแวะเยี่ยมผู้ใหญ่ชล พันธมิตรที่สำคัญของเราที่บ้านตีนตก วันนั้นที่บ้านผู้ใหญ่กำลังใช้เป็นที่นัดหมายประชุมการทำงานเรื่องไฟป่าอยู่พอดี ผู้ใหญ่ชลปรารภให้เราฟังถึงปัญหาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่บ้านนั่นคือมีฝูงช้างเปลี่ยนที่หากินเดินมาประชิดแนวพื้นที่เกษตรของหมู่บ้านและเริ่มปรากฎผลเสียหายและน่าจะบานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอีกแห่งหนึ่ง
เป็นงานที่เราคงจะต้องเกี่ยวข้องและหาวิธีการแก้ไขกันต่อไป
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)