วันนี้มาเจอพี่ประกอบอีกครั้งที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หลังจากผมตระเวนไปประชุมทีมงานภาคสนามมา 4 วัน จริงๆ แล้วตามกำหนดการผมต้องประชุมกับนริศ บ้านเนิน หัวหน้าภาคสนามพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรีด้านตะวันออก แต่เนื่องจากนริศได้รับการประสานงานมาจากพี่เอิบ เชิงสะอาด เพื่อนร่วมรุ่นวนศาสตร์ของพี่สืบ ซึ่งวันนี้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าของสำนักงานบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์เขตบ้านโป่งที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าจังหวัดสุพรรณและกาญจนบุรีด้วย
พี่เอิบ ชวนนริศ และทีมงานวิชาการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่มีข้อมูลเรื่องเส้นทางเดินของช้างที่กำลังมีปัญหากับพื้นที่ชุมชนหลายชุมชน เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เราจึงนัดหมายหารือกันเมื่อคืน และวันนี้นริศก็ฝากให้ผมมาช่วยพี่ประกอบเพื่อจัดเวทีการประชุมเรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับอุทยานเขื่อนศรีฯแทน
ขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้อยู่พี่ประกอบกำลังชี้แจงหลักการ “การมีส่วนร่วม” กับที่ประชุมอยู่และแน่นอนว่าเวทีประชุมที่มีผู้ชำนาญการเชิงวิทยากรกระบวนการมือเก๋าอย่างพี่ประกอบก็น่าจะผ่านไปได้ตรงตามเป้าหมายอย่างราบรื่น
สองวันที่ผ่านมาคณะของเราอันประกอบด้วยอาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภาณุเดช เกิดมะลอ และเอ็ม เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ที่ร่วมเดินทางจากนครสวรรค์ไปยังสำนักงานอุ้มผางที่ห่างไกลออกไปกว่า 500 กิโลเมตร เราไปพักค้างที่แม่สอดหนึ่งคืนก่อนออกเดินทางผ่านเส้นทางลอยฟ้าแม่สอดอุ้มผางกว่า 1,000 โค้ง
ที่สำนักงานอุ้มผาง เราคุยกันถึงงานขยายกลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านพี่น้องกระเหรี่ยงปากะญอและโผล่ว ซึ่งวันนี้พัฒนาความรู้จากการทอแบบดั้งเดิมไปสู่การทอผ้าที่มีการย้อมสีจากธรรมชาติ และพัฒนาการค้นคว้าหาสีจากธรรมชาติรอบๆ บ้านของเขา
งานทั้งหมดถูกขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครสาวจากหมู่บ้านกล้อทอชื่อน้องพัช และสาวจากป่าลึกหมู่บ้านทิบาเกอย่างน้องยี่ วันนี้ทำท่าจะสร้างเครือข่ายทอผ้าออกไปได้ไกล หลังจากเมื่อปีที่แล้วพวกเราพากันออกไปหาความรู้กันมาจากแม่ฮ่องสอนและอุทัยธานี
จากนั้นพวกเราหารือกันอีกหลายเรื่องในส่วนของการหนุนเสริมวิถีชีวิตไปสู่การพึ่งตนเองบนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการพริกแลกเกลือ โครงการบ้านเรียนรู้เกษตรสี่ชั้น โครงการอาสาสมัครสุขภาพชุมชน จากนั้นก็ได้ทบทวนกำหนดการในการพัฒนาเครือข่ายร่วมลาดตระเวนเฝ้าระวังทรัพยากรร่วมกับเจ้าหน้าที่
ตลอดบ่ายที่อุ้มผางเรานำแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนมาทบทวนความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ในภาคสนามกับเรา ซึ่งผลของการสำรวจแนวเขตอย่างมีส่วนร่วมส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันระหว่างวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมการทำไร่ข้าวกระเหรี่ยงกับกรมอุทยานฯ ได้ในระดับพื้นที่อย่างดียิ่ง และขยายผลความเข้าใจไปสู่สำนักบริหารฯ และกรมไปได้อย่างคืบหน้า
นอกจากนี้ ผลดีอีกอย่างคือการไม่เกิดคดีการจับกุมขึ้นเลยในพื้นที่นั่นก็หมายความว่าการบุรุกขยายเขตเกษตรกรรมเข้าในพื้นที่ป่าก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ก่อนเลิกประชุม เชน เจ้าหน้าที่ชาวปากะญอ คนเก่งของเราขอลาจากหน้าที่ไปสมัครครูตามความตั้งใจของเขาซึ่งเป็นการจากกันที่ต่างเสียดายบทบาทและความสามารถที่ได้ร่วมมือกันจนเห็นฝีมือ แต่ก็หวังว่าเราจะได้เป็นพันธมิตรร่วมงานกันในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของ NGO อย่างพวกเราที่มีปัญหาในเรื่องความมั่นคงของโครงการและลักษณะงานที่เรียกร้องจากคนทำงานให้เสียสละตัวเองอย่างมากมายเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนที่น้อยนัก
แต่เท่าที่ผ่านมา เชนก็ได้ฝากผลงานสุดยอดไว้ให้เราหลายเรื่อง โดยเฉพาะการประสานงานสำรวจแนวเขตกับหมู่บ้านเลตองคุ หมู่บ้านชายแดนไกลสุดของพื้นที่
แต่ลูกผู้ชายเมื่อถึงเวลาก็ต้องไปตามเสียงเรียกร้องในหัวใจ
ตอนเย็นภาณุเดชตัดสินใจขับรถกลับจากอุ้มผางมาถึงตากเพื่อทุ่นระยะทางในการเดินทางมาสู่จังหวัดอุทัยธานีในวันรุ่งขึ้นซึ่งหมายความว่าพวกเราจะเพิ่มประสบการณ์ขับรถไปกลับอุ้มผางในวันเดียวให้กับเขาและผู้ร่วมทางของผม เนื่องจากผมเคยทำอย่างนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง เราพบว่าทางลอยฟ้าบนอุ้มผางไม่ได้ไกลอย่างที่เราคิดมาตลอด
ที่สำนักงานอุทัยธานี เราทบทวนกิจกรรมและสถานการณ์ในป่าชุมชน 64 ชุมชนที่เราทำงานในพื้นที่ขอบป่าห้วยขาแข้ง ที่เราเริ่มทำงานกันมาประมาณสี่ปีในโครงการป่าชุมชน 30 ป่า รักษาทุกโรคได้ 30 ชุมชน และขยายสู่พื้นที่อำเภอบ้านไร่ทางตอนใต้ในอีกสองปีที่ผ่านมา ทีมงานอุทัยธานีได้เจ้าหน้าที่ใหม่หน่วยก้านดีชื่อ “แพะ” เป็นหนุ่มใหญ่จากบ้านไผ่งามเคยเป็นเจ้าหน้าที่โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ที่เชียวชาญในพื้นที่อย่างดี ซึ่งหวังว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานอนุรักษ์อย่างดี
ปัญหาของงานป่าชุมชนมีมากมาย ส่วนใหญ่มาจากระยะทางของพื้นที่ที่ดูว่าไกลเกินกำลังของพวกเราที่จะเข้าพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อทบทวนข้อมูลกันแล้วก็ได้วันนัดหมายที่จะร่วมกันทำเวทีคืนข้อมูลไปสู่ชุมชนและตั้งหลักกันใหม่อีกสักครั้งเพื่อวางแนวทางการทำงานกันต่อไป ในเดือนมีนาคม
เราจากพื้นที่อุทัยข้ามภูเขาอุทยานแห่งชาติพุเตยมาสู่พื้นที่สุพรรณบุรีและกาญจนบุรีด้านตะวันออก เพื่อมาพบกับนริศ วรรโณบล เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ และเอก เว็บมาสเตอร์ ที่เริ่มงานเรื่องข้อมูลช้างกันตั้งแต่เช้า คณะของนริศตื่นเต้นและสนุกมากกับข้อมูลที่ได้รับพวกเราวางแผนกันทันทีเพื่อ การทำงานแก้ปัญหาเรื่องทางเดินช้างผ่านชุมชนในขั้นตอนต่อไปทั้งการประสานสู่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง การหาแหล่งทุนสนับสนุน และกระบวนการทำงานกับชุมชนต่างๆ
คืนนั้นเราได้กำหนดการและวันเวลาที่จะทำเวทีคืนข้อมูลชุมชนที่ทำงานป่าชุมชน 28 ชุมชนในพื้นที่ตอนปลายเดือนมีนาคม แต่เอ็ม เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ต้องปรับแก้แผนที่ทางเทคนิคอีกนิดหน่อยจึงจะสามารถประสานงานกับชุมชนได้ และเราก็ได้หารือกันถึงเวทีใหญ่ “สืบชะตาป่าชุมชน” ที่หัวหน้าภาคสนามทุกพื้นที่ตกลงกันจัดขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้คณะกรรมการ
กว่าจะหารือเสร็จก็ล่วงเข้าวันใหม่ ผมตัดสินใจไปผูกเปลนอนที่หลังสำนักงานเนื่องจากฟ้าโปร่งดาวสวย และอากาศดูจะไม่หนาว หลังจากหลับไปสองชั่วโมงพบตัวเองหนาวสั่นอยู่กลางแสงดาวกับผ้าห่มผืนบาง
อากาศเย็นลงมาก แต่ผมก็ไม่ได้เพิ่มผ้าห่มหรือเปลี่ยนที่นอนให้อุ่นสบายขึ้น
บางทีเราก็ทำอะไรในแบบที่ไม่มีเหตุผลเพื่อให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ลำบากโดยไม่จำเป็นอยู่บ่อยๆ เหมือนกับการจงใจเคี่ยวกรำตัวเองเพื่อให้พร้อมและไม่ชะล่าใจไปนักกับสถานการณ์ที่ไม่มีกำหนดแน่นอนในวันพรุ่งและต่อไปว่าเราจะต้องฝ่าเผชิญกับเรื่องใด
แต่อารมณ์นอนหนาวห่มแสงดาวที่งดงามแบบคืนนี้นั่นก็อาจเป็นอารมณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการทำงานในป่าตะวันตกของเรา
ฟ้าและแดดสวยมากสำหรับเช้าหลังคืนหนาวบนเส้นทางข้ามแพบนผืนน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เรารู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีทั้งความหนาวและความงามให้เราเหมือนที่ผ่านมาเช่นกัน
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)