ปลายเดือนกันยายน 2558 ผมไปทำบุญงานครบรอบวันตายของพี่ที่เคารพนับถือกันที่ชัยนาท บ้านของแกต้องเดินทางผ่านทุ่งนาสวยๆ เข้าไปใกล้ๆ ต้นน้ำท่าจีน ที่แยกสายน้ำออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา พี่คนนี้เคยให้ขบวนการเดินทักท้วงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของหลายสิบคนแวะพักค้างนอนบ้านเมื่อ กันยายน 2556
หลังจากนั้นอีกสองปี พี่ตุ๊ แครี่ออน (ชื่อในวงการดนตรี) ก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร ในเดือนกันยายน เช่นกัน
จำได้ดีว่าช่วงนั้นพี่ตุ๊ นอนอยู่โรงพยาบาล ขณะที่ผมพานักวิชาการด้านการจัดการน้ำคณะหนึ่งตระเวนดูทางน้ำเพื่อขอความช่วยเหลือในวางรูปแบบการจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง ในพื้นที่ที่เรียกร้องต้องการทำเขื่อนแม้ว่าต้องทำรายบริเวณที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ระหว่างการพักทานอาหารกลางวัน โทรศัพท์จากภรรยาของพี่ตุ๊ ก็โชว์เบอร์ขึ้นมา แน่นอนว่าผมเดาได้ตั้งแต่ยังไม่กดรับสายว่าต้องเป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี
การต่อสู้เรื่องเขื่อนแม่วงก์ของเรา มีรายละเอียดบันทึกอยู่ที่ความทรงจำของผมมากมายกว่าที่คนเอาใจช่วย หรือเคยมาร่วมเดินทางไกลเมื่อปี 2556 ได้รับรู้มากมาย คนทั่วไปเมื่อเจอผมก็ทักทายว่าเขื่อนแม่วงก์จะมาใหม่ไหม?
ทั้งๆ ที่ โครงการนั้นอาจจะถูกชะงักจากขบวนคนมากมายที่มีหัวใจอนุรักษ์ แต่หน่วยงานเจ้าของโครงการก็ยังคาเรื่องที่เสนอสร้างเขื่อนไว้ที่ขั้นตอนการเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม แต่เนื่องจากเหตุผลที่มีคนแสดงออกไม่เห็นด้วยมากมาย ก็ทำให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างกรมอุทยานแห่งชาติผู้ดูแลป่าแม่วงก์มีกำลังใจไปหาข้อมูลความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมายืนยันเหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนในป่าได้มากขึ้นจนการพิจารณาการผ่านรายงานไม่สามารถคืบหน้าต่อไปได้
ระหว่างเส้นทางที่ผมขับรถไปชัยนาท ซึ่งกูเกิ้ลแมบบอกเราว่าจะใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงกว่าๆ แต่ผมมีโอกาสทบทวนเหตุการณ์เมื่อสี่ปีที่แล้วที่ใช้เวลา ถึงสิบวันในการเดินทางเท้ามากับขบวนคนที่ไม่เคยรู้จักกันเลยในวันนั้นที่เวียนกันมาเดินเป็นกำลังใจให้กัน
ผ่านทางตรงนี้เคยแวะพักนอน พักนั่ง มีคนเอาขนมเอาน้ำมาให้ มีคำพูดดีๆ ที่ให้กัน มีอุปสรรคปัญหาทั้งภายนอกภายในจิตใจให้ต้องแก้ไขกันเฉพาะหน้า
ที่จำได้แม่นคือสภาพขาแข้ง และฝ่าเท้าที่ค่อยๆ ทวีความเจ็บเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่เดิน
นอกจากทบทวนเหตุการณ์ตอนเดินจากป่าสู่เมือง ผมก็ไล่ชีวิตหลายปีเต็มที่คร่ำเคร่งอยู่กับเรื่องการต่อสู้กับโครงการเขื่อนนี้ ซึ่งจริงๆ ก็เริ่มๆ มาตั้งแต่ปลายๆ ปี 2553
พ.ศ. 2553 โครงการขอเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบใหม่ ผมเป็นกรรมการอ่านรายงาน EIA คนหนึ่ง พยายามทักท้วงให้ศึกษาทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์อื่นๆ แต่ไม่เป็นผล
พ.ศ. 2554 เริ่มประชุมโครงการ มวลชนคึกคักสนับสนุนเขื่อน รัฐบาลเปลี่ยนตัว คณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ EIA เอาผมออกจากคณะกรรมการก่อนเลย และเปลี่ยนระบบ ให้ข้าราชการประจำที่สั่งได้มาเป็นประธาน แทนผู้ทรงคุณวุฒิ
พ.ศ. 2555 รัฐบาลอนุมัติในหลักการให้สร้างเขื่อนในขณะที่เพิ่งเริ่มทำรายงาน EHIA เราศึกษาข้อมูลคู่ขนาน และ ออกหนังสือวิชาการ “เหตุผลในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์” ในเดือนพฤศจิกายน
พ.ศ. 2556 รายงานเสร็จสมบูรณ์เดือนพฤษภาคม คณะกรรมการผู้ชำนาญการเดินหน้าพิจารณาเต็มที่ ระหว่างนั้นหากมีกรรมการท่านใดทักท้วงรายงานมากๆ ในจุดสำคัญ จะโดนเปลี่ยนตัว เช่น ดร.อุทิศ กุฏอินทร์ คุณสมศักดิ์ โพธิสัตย์ รัฐบาลตั้งใจใช้เขื่อนนี้นำร่องโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน หลังอุทกภัยปี 54 โดยไม่สนใจว่า เขื่อนนี้ลดน้ำท่วมภาคกลางแค่ไม่ถึง 1% เราตัดสินใจเดินประท้วงรายงาน EHIA จากแม่วงก์สู่กรุงเทพ ในเดือนกันยายน 13 วัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตัดสินใจชะลอการพิจารณารายงาน และแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อมูลวิชาการขึ้นมาศึกษาเองนี้
พ.ศ. 2557 หลังจากรัฐประหารได้รัฐบาลใหม่ คณะกรรมการพิจารณา EHIA มีท่าทีจะผ่านรายงานเขื่อนแม่วงก์อีกครั้ง แม้ผลการพิจารณาข้อมูลวิชาการของกรรมการที่ตั้งขึ้นจะสอดคล้องกับการทักท้วงข้อมูลของเราอย่างยิ่ง เราตัดสินใจนั่งแสดงสัญลักษณ์ หน้าสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม 3 วัน 2 คืน พร้อมข้อเสนอ “การจัดการน้ำทางเลือก ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ ” คณะกรรมการยังไม่ผ่านรายงานให้แก้ไขข้อมูลใหม่ และประเมินการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ ตามข้อมูลวิชาการที่ค้นพบคุณค่ามากมายของระบบนิเวศบริเวณที่จะสร้างเขื่อนจากกรมอุทยานแห่งชาติ
พ.ศ. 2558 กรมชลประทานยังผลักดันการผ่านรายงานเป็นระยะ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขข้อมูลและลดผลกระทบโครงการจากข้อมูลระบบนิเวศที่ชัดเจนได้ ผู้แทนกรมอุทยาน ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ควรสร้างเขื่อนในอุทยานแม่วงก์ เราได้จัดทำแผนที่การจัดการน้ำทางเลือกขนาดใหญ่มอบให้คณะกรรมการเพื่อเตือนใจว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ นอกจากสร้างเขื่อน โดยยื่นในการประชุม เดือนกันยายน
พ.ศ. 2559 มีข่าวการใช้มาตรา 44 เพื่อสั่งให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ จากรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร เรายื่นจดหมาย และเสนอข้อมูลการจัดการน้ำทางเลือกไม่สร้างเขื่อน ต่อกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และขอเข้าพบรัฐมนตรี ซึ่งมีการยืนยันไม่มีการเสนอให้ใช้มาตรา 44 ตามข่าว
พ.ศ. 2560 เกิดการประชุมปรึกษาหารือระหว่าง ปลัดกระทรวงเกษตร อธิบดี และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กับผู้แทนกรมอุทยาน ผู้แทนคณะกรรมการผู้ชำนาญการ EHIA และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีมติให้เริ่มการจัดการน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน หากไม่สำเร็จจึงให้พิจารณาเรื่องสร้างเขื่อนอีกครั้ง แต่ยังไม่ถอนการเสนอ รายงาน EHIA จาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการ จากการประชุมครั้งนี้เกิดคณะทำงานเรื่องนี้ในจังหวัดนครสวรรค์ กรมชลประทาน และองค์การบริหารส่วนตำบล เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยตั้งแต่ต้นฤดูฝน จนถึงบัดนี้ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมลาดยาวได้แม้เพิ่งเริ่มทำการปรับปรุงทางน้ำแบบชั่วคราว
นอกจากนี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ยังไม่ผ่านรายงานในการประชุมครั้งล่าสุด มีมติเพิ่มเติมข้อมูลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ไปพิจารณาอีกมากมาย การประชุมครั้งสุดท้ายนี้ก็เป็นเวลาก่อนที่ผมจะเดินทางไปทำบุญที่ชัยนาทครั้งนี้ไม่กี่วัน
หลังเลี้ยงพระทำบุญเสร็จ ผมลาครอบครัวและมิตรสหายของพี่ตุ๊ เดินทางต่อไปที่อำเภอลาดยาว มีจุดหมายเพื่อไปดูผลงานการจัดการน้ำขององค์การบริหารท้องถิ่นตำบลลาดยาว ที่กำลังเตรียมการรับมือฝนช่วงสุดท้ายของปี ที่ตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำมาสองวันแล้วคาดการณ์ว่าวันนี้แหล่ะที่มวลน้ำฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนจะเข้าโจมตีเมืองที่มีการจัดการลำน้ำไว้แบบชั่วคราว
เหมือนเป็นเดิมพันเล็กๆ ว่าหากผ่านฝนลูกนี้ไปได้ ปีนี้ลาดยาวก็คงพ้นจากน้ำท่วมแน่ๆในปีนี้ และแนวคิดการจัดการน้ำทางเลือกคงได้รับการสานต่อจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอย่างกรมชลประทาน และมีโอกาสที่จะมาทดแทนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้จริงๆ
อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ผมก็พบตัวเองอยู่ที่พื้นที่สมรภูมิความคิดเรื่องน้ำที่คุ้นเคย นายช่างอบต. คนเก่งพาผมตระเวนดูระดับน้ำที่ไม่เพิ่มขึ้นและการขุดลอกคลองเบี่ยงน้ำไม่ให้ท่วมเมือง ซึ่งเราต่างเห็นตรงกันว่าทำอย่างนี้ยังไงๆ ก็ “เอาอยู่”
เย็นวันนั้นผมไปทานอาหารในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ปกติแล้วผมหวั่นเสมอว่าคนที่นี่เขาจะไม่ต้อนรับผมเพราะผมค้านเขื่อนที่เขาเชื่อว่าทำให้น้ำไม่ท่วม ปรากฏว่าเจ้าของร้านอาหารนี้เข้าใจเรื่องราวเป็นอย่างดี และเอาใจช่วยเรามาตลอด และขอเลี้ยงอาหารเราหนึ่งมื้อเสียอีก
หลายปีที่ผ่านมา การต่อสู้เรื่องเขื่อนแม่วงก์คืบหน้าไปมาก แม้ว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดเสียทีก็ตาม
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)