[ก้าวสู่ปีที่ 31] เดินแม่วงก์ ได้อะไร?

[ก้าวสู่ปีที่ 31] เดินแม่วงก์ ได้อะไร?

กันยายน 2556 ผมตัดสินใจใช้วิธีเดินเท้าประท้วงการพิจารณารายงาน EHIA (Environmental and Health Impact Assesment) โครงการเขื่อนแม่วงก์ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นที่รับรู้กันว่าน่าจะมีผลทำให้การพิจารณารายงานเลื่อนล่าออกมาถึง 1 ปี ในขณะนั้น

.
หลังจากเดินมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 ข้อมูลเหตุผลการประท้วงรายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ได้กระจายไปสู่การรับรู้ของสาธารณะชน ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ผมตระเวนให้สัมภาษณ์สื่อหลายช่องทาง จนน่าจะเป็นสาเหตุให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งที่ 427/2556 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2556 หลังจากสิ้นสุดการเดินเท้า 18 วัน

คำสั่งฉบับนี้ลงนามโดยท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุชัดเจนว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มิได้มีผลกับการพิจารณาผ่านรายงานของ คชก. ตามระเบียบกฎหมาย แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างทางวิชาการ 

องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยรองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จากสาขาวิชาการหลักๆ สามด้านได้แก่ ด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ และด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้แทนหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนผู้แทนเจ้าของโครงการเขื่อนอย่างกรมชลประทาน มีเจ้าหน้าที่ของ สผ. เป็นกองเลขานุการ

ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์ที่คัดค้านรายงาน EHIA ฉบับ นี้ มีผมเป็นผู้แทน เข้าร่วมประชุม

คณะกรรมการชุดนี้ มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสามด้าน ได้แก่ 1) ด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า 2) ด้านการบริหารจัดการน้ำ 3) ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพิ่มเติมนักวิชาการจากสถาบันการศึกษามาช่วยหาความกระจ่างทางวิชาการที่ว่าเพิ่มมาอีกหลายคน แยกย้ายไปอ่านรายงาน EHIA และรายงานผลมายังคณะทำงานชุดใหญ่

ผมซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายไม่อยากให้สร้างเขื่อนในป่าแม่อุทยานแม่วงก์ และผู้แทนจากกรมชลประทานมิได้อยู่ในคณะอนุกรรมการทั้งสามด้านที่ว่า ปล่อยให้นักวิชาการเขาพิจารณาอย่างอิสระ

มีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้หลายครั้งตลอดหนึ่งปี ที่ผ่านมา

เพื่อรับรองการประชุมที่คณะอนุกรรมการรายงานผลการอ่านรายงานหาความกระจ่างทางวิชาการเป็นระยะๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นการทำงานไปในเดือนสิงหาคม 2557 รวมเวลาที่คณะกรรมการชุดนี้ทำงานอยู่เกือบหนึ่งปี

บรรยากาศการประชุม มีบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความเห็นต่างๆ บนความอึดอัดของเจ้าของโครงการและคณะที่ปรึกษาผู้รับจัดทำรายงานวิเคราะห์พอสมควร แต่ส่วนใหญ่ก็รับฟัง และโต้แย้งกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ผมเองก็มีโอกาสชี้แจงเหตุผลที่คัดค้านรายงานฉบับนี้ และนำเสนอข้อมูลต่างๆ เป็นระยะๆ

ที่สำคัญคือ ในเวทีนี้ผมก็แสดงการยอมรับประโยชน์ของการสร้างเขื่อนเพื่อจัดการน้ำอยู่ทุกครั้ง เพียงแต่ทักท้วงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่มีผลกระทบทางระบบนิเวศป่าไม้อย่างมากเกินกว่าที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ และได้เพียรพยายามที่จะร้องขอให้ผู้มีความรู้ความสามารถในการจัดการน้ำศึกษาทางเลือกที่สามารถบรรเทาน้ำท่วม ภัยแล้งโดยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่า

ระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ผ่ายวิชาการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้พยายามเก็บข้อมูลสภาพปัญหาในการจัดการน้ำ และรวบรวมผลกระทบต่อระบบนิเวศเพิ่มเติม ร่วมกับนักวิชาการหลายท่านของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการด้านการจัดการน้ำ ทั้งจากคณะวิศวกรรมแหล่งน้ำ และจากผู้เชี่ยวชาญในระดับท้องถิ่น

เราพบโครงสร้างเพื่อจัดการน้ำรูปแบบต่างๆ ที่ถูกสร้างทิ้งขว้างจากหลากหลายหน่วยงาน อยู่ตลอดลำน้ำแม่วงก์ รวมถึงคูคลองระบายน้ำ ที่ขาดการจัดการ การบำรุงรักษา สร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถูกลักขโมย ชิ้นส่วนจนใช้การไม่ได้ อยู่เต็มระบบระบายน้ำในเทศบาลลาดยาว ส่วนใหญ่เป็นตัวกั้นน้ำ และสะสมขยะเศษไม้ ต้นไม้ จนน้ำระบายไม่ได้ เราตรวจสอบข้อมูลกระทั่งมั่นใจว่านี่คือสาเหตุใหญ่ของน้ำท่วมเทศบาลเมือง ในเวลาฝนตกหนัก รวมถึงการทำนาตลอดทั้งปีและมีการวางกระสอบทรายเป็นทำนบกั้นน้ำเข้านา จนน้ำจากที่สูงด้านตะวันตก ทั้งจากลำน้ำแม่วงก์ ลำน้ำอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนแม่วงก์อีกนับสิบสายพุ่งผ่านบนถนนเข้าสู่ตัวเมืองโดยไม่แบ่งไปสู่แก้มลิงที่ท้องทุ่ง

นักวิจัยจากกองทุนสัตว์ป่าโลก พบร่องรอยเพิ่มเติมของสัตว์ป่ามากมายในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ และความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปสู่ระบบนิเวศใหญ่ที่มีเสือโคร่งมากมายที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าที่เราทักท้วงข้อมูลในรายงาน 

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เราทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการชุดนี้ ปัจจุบันกำลังเก็บข้อมูลเพื่อเสนอการจัดการน้ำทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนในป่าให้รัฐบาล

เมื่อสิ้นสุดการทำงานของคณะอนุกรรมการ ทั้งสามด้าน มีรายงานการประชุมที่ผมเข้าร่วมประชุมทุกครั้งสามารถสรุปได้ว่า ด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า มีการสำรวจเก็บข้อมูลมีการใช้เวลาที่ไม่สัมพันธ์กับปริมาณข้อมูลที่ต้องการ ส่งผลให้เก็บข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุม ขาดความสมบูรณ์ ทำให้ข้อมูลคุณภาพต่ำลง และไม่น่าเชื่อถือ ควรนำข้อมูลการสำรวจสัตว์ป่าของหน่วยงานอื่นๆ หรือนักวิชาการอื่นๆ เข้าไปผนวกไว้ใน EHIA เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสในการอนุรักษ์ โดยต้องพิจารณาให้ครอบคลุมผลกระทบที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศดังกล่าว และประเมินคุณค่าใหม่ 

รวมถึงป่าที่ราบริมน้ำและมีลำน้ำไหลผ่านบริเวณกลางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อสัตว์ป่า ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารและน้ำ ดังนั้นการสร้างเขื่อนในบริเวณดังกล่าว จะส่งผลกระทบทำให้สัตว์ป่าต้องไปอาศัยอยู่บนที่สูงหรือลาดชันซึ่งไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าดังกล่าว

ด้านการจัดการน้ำขาดรายละเอียดในแต่ละทางเลือก ขาดความชัดเจนด้านวิศวกรรม เช่น ข้อสมมุติการคำนวณ water demand (อดีตปัจจุบัน), ข้อสมมุติด้านปริมาณน้ำต้นทุน (อดีตปัจจุบัน) และข้อมูลสมดุลน้ำตามอนุกรมเวลาของแต่ละช่วงของลำน้ำ เห็นควรมีข้อสรุปของผลการศึกษาให้ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาก หลากหลายประเด็น และผู้ศึกษาไม่อาจแก้ประเด็นการศึกษาเหล่านั้นจนเป็นที่ยอมรับแก่ทุกภาคส่วนได้

ส่วนด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์จะไม่ผ่านเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการตามที่ที่ปรึกษาดำเนินการและเข้าใจ เนื่องจากประโยชน์ที่คำนวณนั้นสูงเกินจริง ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่คำนวณต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มาเป็นผลประโยชน์ และมีค่าตอบแทนสุทธิที่เป็นมูลค่าปัจจุบันเป็นลบ

ไม่ว่าจะอย่างไร การเดินเท้าของคนที่ร่วมกันเมื่อปีที่แล้วหลายพันคนก็นับว่าได้สิ่งที่เรียกว่า ความกระจ่างทางวิชาการ

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2557

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)