เผ่าพันธุ์ผู้รุกราน

เผ่าพันธุ์ผู้รุกราน


ในหนังสือการสูญพันธุ์ครั้งที่หก ได้ยกตัวอย่างการรุกรานของสายพันธุ์ต่างถิ่นที่สามารถผ่านขั้นตอนสำคัญสองเรื่องคือ “ตั้งหลักแหล่ง” และ “แพร่กระจาย” โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจดังนี้

กรณีของด้วงญี่ปุ่น หรือ Japanese beetle ที่พบในเรือนเพาะรัฐนิวเจอร์ซีในปี ค.ศ. 1916 มันแพร่กระจายไปทุกทิศทุกทางและพบได้ในบริเวณมากกว่า 3 ตารางไมล์ ในปีต่อมาตัวเลขกระโดดขึ้นเป็น 7 ตารางไมล์ และเพิ่มเป็น 48 ตารางไมล์ แทบจะมีจำนวนประชากรทวีคูณเมื่อดูแหล่งพื้นที่การแพร่กระจาย โดยตลอดยี่สิบปีด้วงญี่ปุ่นได้แพร่กระจายไปได้ตลอดรัฐทางตะวันออกและขยายไปทางตะวันตกเกินครึ่งทวีปอเมริกาเหนือ

Photo: pestcontrolincollegestation.com

ต้นลูสสไตรฟ์สีม่วง หรือ Purple Loosestrife เป็นพืชที่นำมาปลูกในอเมริกาเหนือโดยถูกนำมาจากยุโรป โดยพืชชนิดนี้ในทวีปยุโรปมีผู้ควบคุมการกระจายและศัตรูทางธรรมชาติหลายชนิด เช่น กลุ่มของแมลงปีกแข็ง และมอดหลายชนิดกินพืชชนิดนี้เป็นอาหาร แต่เมื่อต้นลูสสไตรฟ์สีม่วงถูกนำไปถูกในอเมริกาพบว่าพืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดี แพร่กระจายได้รวดเร็ว และไม่มีศัตรูพืชท้องถิ่นคอยควบคุมการกระจายทำให้พืชชนิดนี้แพร่กระจายจากเวสต์เวอร์จิเนียไปจรดวอชิงตันได้ในที่สุด

Photo: iNaturalist

หอยทากวูลฟ์ หรือ Rosy wolfsnail เป็นหอยทากบกที่ถูกนำเข้ามาที่ฮาวายเพื่อใช้ในการควบคุมหอยทากบกอีกชนิดหนึ่งที่เป็นชนิดพันธุ์รุกรานก่อนหน้านี้เหมือนกัน คือ หอยทากยักษ์แอฟริกา หรือ Giant African Snail ผลที่ได้รับจากการนำหอยทากวูลฟ์เข้าในพื้นที่คือเป็นตัวสร้างความเสียหายให้แก่พืชเกษตรแทนที่จะช่วยกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา  ผลการศึกษายังพบอีกว่าหอยทากวูลฟ์เลือกที่จะไม่กินหอยทากยักษ์แอฟริกามากนักแต่ไปกินหอยทากพื้นเมืองที่สีสันสวยงามของฮาวาย ซึ่งทำให้หอยทากบกสายพันธุ์เฉพาะถิ่นกว่า 700  สายพันธุ์สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 90%

Photo: en.wikipedia.org

งูต้นไม้สีน้ำตาล หรือ Boiga irregularis เป็นงูที่มีการกระจายอยู่ในปาปัวนิวกินีแต่พบว่างูติดขึ้นมากับเรือที่มีการขนส่งทางทหารไปยังเกาะกวม ซึ่งธรรมชาติของเกาะกวมนั้นแทบไม่มีงูอะไรเลยยกเว้นงูตาบอดที่มีขนาดลำตัวไม่ใหญ่ไปกว่าไส้เดือน เมื่องูต้นไม้สีน้ำตาลสามารถหลุดรอดเข้าไปอาศัยและกระจายพันธุ์ในพื้นที่แล้ว ทำให้สัตว์ท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ บนเกาะกวมมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เนื่องจากวิถีชีวิตของสัตว์ในเกาะไม่มีการปรับตัวให้หนีจากผู้ล่า หรือป้องกันตัว ทำให้งูจอมตะกละจากต่างถิ่นสามารถจับเหยื่อกินได้โดยง่าย เช่น นกพื้นเมือง และค้างคาวจนเกือบสูญพันธุ์ไปหมด ในหนังสือยังอ้างอิงถึงความเห็นของนักเขียนคนหนึ่งชื่อ เดวิด ควอมแมน ว่าสิ่งที่งูชนิดนี้ทำที่กวมก็เหมือนกับสิ่งที่โฮโมซาเปียนส์ทำมาทั่วโลก นั่นคือการตั้งถิ่นฐานสำเร็จรุ่งเรืองโดยสายพันธุ์อื่น ๆ ต้องรับเคราะห์

Photo: Pavel Kirillov

เชื้อรา Cryphonectria parasitica ถูกนำเข้ามาในอเมริกาซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 ในสภาพธรรมชาติปกติมันอยู่ได้กับต้นเกาลัดญี่ปุ่นโดยไม่ทำอันตรายต่อกัน แต่เมื่อมันเข้ามาอาศัยอยู่ในต้นเก่ลัดที่อเมริกาผลปรากฎว่ามันฆ่าต้นเกาลัดอเมริกาที่ยืนต้นสมบูรณ์ ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้สามารถนำไม้ต้นไปใช้ประโยชน์ได้ต่าง ๆ ได้มากมาย และเป็นต้นไม้ชนิดเด่นที่ถึงแม้ว่าจะตัดไปใช้ประโยชน์ก็ไม่มีวันหมด แต่เชื้อรา C. parasitica เป็นตัวปัญหาใหญ่ที่ทำให้ต้นเกาลัดอเมริกันหายไปทั้งหมด โดยจากการศึกษาสามารถประเมินขั้นต้นได้มากกว่า 4,000 ล้านต้น ที่ต้องตายไป นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเนื่องให้ผีเสื้อกลางคืนหลายสายพันธุ์ที่อาศัยต้นเกาลัดชนิดนี้หายไปด้วยเช่นกัน

Photo: forestfloornarrative.com

หอยแมลงภู่น้ำจืด หรือ Zebra mussel หอยน้ำจืดมีถิ่นการกระจายมาจากยุโรปตะวันออกที่และมีการกระจายเข้ามาในอเมริกาด้วยการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากมนุษย์ขนส่งโดยตรงแต่เกิดจากพวกมันทั้งระยะตัวอ่อนที่ร่องรอยเป็นแพลงก์ตอนและตัวเต็มวัยติดเข้ามาในท้องเรือเมื่อมีการปล่อยน้ำอับเฉาเรือ (Ballast) ที่ต้องระบายออกก่อนเข้าอู่เรือทุกครั้ง หอยชนิดนี้เป็นหอยสองฝาที่กินได้หลากหลายซึ่งรวมถึงตัวอ่อนของสัตว์เศรษฐกิจด้วย ดังนั้นท่าเรือในแต่ละประเทศจึงต้องมีการออกมาตราการณ์ให้ท่าเรือแต่ละพื้นที่ต้องมีป้ายเตือนให้ทำความสะอาดเรือก่อนจะนำลงน้ำทุกครั้ง

Photo: invadingspecies.com

ปัจจุบันแทบทุกแห่งในโลกนี้มักพบสายพันธุ์ผู้รุกรานจากต่างถิ่นมากมายซึ่งเป็นผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ประเภทต่าง ๆ ในหนังสือนี้ได้ยกการศึกษาพื้นฐานเรื่องนี้ของ ชาร์ลส์ เอลตัน นักชีววิทยาชาวอังกฤษ อธิบายการแพร่กระจายของสายพันธุ์ในโลกจากกระบวนการนำพาไป/ขนส่งของมนุษย์ว่าเหมือนเราทดลองเอาถังน้ำใส ๆ ใหญ่ ๆ หลายถังมาต่อเชื่อมโดยท่อน้ำเล็ก ๆ และค่อยใส่สารละลายทางเคมีที่แตกต่างกันลงไปที่ทุกถัง เปิดวาล์วให้น้ำไหลถึงกันวันละนาทีเดียว สารจะไหลเป็นสารประกอบใหม่ บางสารก็จะหมดไปจนในที่สุดทุกถังก็จะกลายเป็นสารประกอบเดียวกันในเวลาหนึ่งจนได้ เอลตันบอกว่าในที่สุดสภาวะโลกทางชีววิทยาจะลดความซับซ้อน เรียบง่ายขึ้น แต่จะแย่ลง

มีการคาดการณ์ว่าหากเป็นที่ว่าโลกเชื่อมทางการแพร่กระจายของสยพันธุ์ต่างๆถึงกันหมด จะมีสายพันธุ์ที่รุกรานและตั้งหลักฐานแพร่กระจายได้ทำลายสายพันธุ์อื่นหายไป โดยน่าจะมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายไปสองในสามของสายพันธุ์ที่เคยมี และสายพันธุ์พวกนกคงหายไปราว ๆ ครึ่งหนึ่ง

ในหนังสือได้ยกสมมติฐานของรอย ฟาน ดรีเช่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสายพันธุ์ผู้รุกรานจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสสว่าทุก ๆ 100 สายพันธุ์ที่ย้ายเข้าสู่ท้องถิ่นใหม่ จะมี 5-15 สายพันธุ์ที่ตั้งหลักแหล่งใหม่ได้ และจะมีหนึ่งสายพันธุ์ที่เป็นกระสุนในรังเพลิงที่พร้อมจะระเบิดแพร่กระจาย

มีงานวิจัยเปรียบเทียบว่ามีสายพันธุ์ใหม่ที่กลายเป็นผู้รุกรานแพร่กระจายในแคลิฟอร์เนียทุก ๆหกสิบวัน แต่ที่ฮาวายมีสายพันธุ์ผู้รุกรานเกิดขึ้นทุกเดือน ผู้เขียนหนังสือเปรียบเทียบว่าหากไม่มีโฮโมซาเปียนส์สายพันธุ์ใหม่อาจจะตั้งรกรากบนหมู่เกาะสำเร็จในหมื่นปี

เมื่อมองไปในอนาคต หากการเดินทางและการค้าของมนุษย์หยุดลงด้วยสาเหตุใดก็ตาม อาจจะนับเป็นเวลาอีกหลายล้านปี สายพันธุ์ที่แพร่กระจายไปรุกรานตอนนี้อาจจะวิวัฒนาการแยกจากกันอีกครั้งเหมือนเมื่อมหาทวีปแพนเจียในอดีตแยกจากกัน สายพันธุ์ใหม่จะวิวัฒนาการโดยคาดเดาว่าฮาวายอาจจะมีหนูยักษ์ และออสเตรเลียจะมีกระต่ายยักษ์ 

 

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)