กบสีทองปานามา และ ค้างคาวเล็กสีน้ำตาล ตัวอย่างของสาเหตุการสูญพันธุ์จากเชื้อโรคข้ามทวีป

กบสีทองปานามา และ ค้างคาวเล็กสีน้ำตาล  ตัวอย่างของสาเหตุการสูญพันธุ์จากเชื้อโรคข้ามทวีป


โคลเบิร์ต ผู้เขียนหนังสือเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้เล่าเรื่องสาเหตุของการสูญพันธุ์จากสาเหตุที่เราพบพานกันทุกเมื่อเชื่อวันซึ่งน่าจะเชื่อมโยงถึงโรคระบาดอย่างที่มนุษย์โลกกำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ด้วย ในหนังสือที่เธอได้ไปสัมผัสมาจริง ๆ ในพื้นที่เธอเล่าถึงเหตุการณ์การหายไปของกบชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวในประเทศปานามา ซึ่งถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่พบได้ทั่วไปของเมืองนี้ และการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของค้างคาวเล็กสีน้ำตาลในถ้ำที่นิวยอร์ก ถือว่าเป็นสัตว์ที่พบเจอได้ทั่วไปเช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุมาจากเชื้อราที่ขนส่งมาข้ามทวีป

เอ็ดการ์โด กริฟฟิธ เป็นผู้อำนวยการของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เมืองเอลบาเย ประเทศปานามา (El Valle Amphibian Conservation  Center ใช้อักษรย่อว่า EVACC) พาโคลเบิร์ตไปดูอาคารเก็บรักษาพันธุ์กบที่บางชนิดก็สูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติแล้ว อาคารทั้งหลังเต็มไปด้วยตู้แทงก์ตั้งเรียงรายกันตามกำแพง โคลเบิร์ตบรรยายว่าตู้เหล่านี้ซ้อนกันเหมือนหนังสือบนชั้นในห้องสมุด ตู้ทรงสูงเป็นที่อยู่ของสายพันธุ์อย่างปาดลีเมอร์ ซึ่งอาศัยอยู่ตามยอดไม้ในป่า ตู้เตี้ย ๆ ใช้สำหรับสายพันธุ์อย่างกบจอมโจรหัวโตซึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นป่า ตู้กบตาหนามซึ่งเก็บไข่ไว้ในกระเป๋าหน้าท้องตั้งถัดจากตู้กบหมวกเหล็กซึ่งจะวางไข่บนหลัง และอีกหลายสิบตู้เป็นตู้กบสีทองปานามา (Atelopus zeteki)

กบสีทองปานามาเป็นสัตว์ที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดธรรมชาติที่เป็นป่าดิบชื้นที่นี่ มีของที่ระลึกรูปกบสีทองเป็นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาและอื่น ๆ มากมาย แต่จู่ ๆ ไม่เฉพาะกบชนิดนี้เลย รวมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วยก็หายไปจากเมืองจนแทบไม่พบมันอีกเลย

กริฟฟินทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์กบ เขาเป็นคนแรก ๆ ที่สังเกตเห็นซากและการลดลงของประชากรกบ โคลเบิร์ตเปรียบว่ากริฟฟินคือโนอาห์ และ EVACC คือเรือที่พยายามเก็บสิ่งมีชีวิตคู่หนึ่งไว้ตอนน้ำท่วมโลก และโคลเบิร์ตก็ได้ตามกริฟฟินและทีมงานออกไปจับกบสายพันธุ์ที่ยังไม่มีมาเก็บรักษาไว้ด้วยแต่ก็พบว่าแทบไม่มีกบหลงเหลือในป่ารอบเมือง ความหวังของทีมงานคือเมื่อสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุของการตายของกบหายไปจะนำกบออกมาปล่อยในสภาพธรรมชาติให้ได้อีกครั้ง โดยการพบว่าประชากรกบที่นี่ลดลงอย่างชัดเจนจนแทบหมดไปเกิดในราวปีค.ศ. 2002-2004

สาเหตุของการสูญพันธุ์ของกบเหล่านี้คือเชื้อราในชื่อกลุ่มไคทริด (chytrid) เชื้อรากลุ่มนี้อยู่ได้เกือบทุกที่ตั้งแต่ยอดไม้และลึกลงไปในดิน เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกตั้งชื่อว่า Batrachochyrium dendrobatidis (batracho เป็นภาษากรีกแปลว่ากบ) เชื้อนี้ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า Bd เชื้อรา Bd นี้มีผลต่อความสามารถในการดูดซึมสารอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นผ่านผิวหนัง เป็นผลให้กบหัวใจวาย

เชื้อรา Bd ที่ปรากฏในปานามาเดินทางมาจากโคลอมเบียและผ่านแคริบเบียน จนกระจายไปเกือบทั่วโลกแม้แต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่รอบเมืองเอลบาเยพบว่าแม้กบจะน้อยลงแล้วแต่เชื้อไคทริดก็อยู่ได้เองในธรรมชาติ จึงมีความหวังน้อยมากที่จะนำกบมาปล่อยคืนได้จริง ๆ

เชื้อรากลุ่ม Bd เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวของมันเอง มันสร้างสปอร์ขนาดจิ๋วที่มีหางเรียวยาว พวกมันแหวกว่ายในน้ำลูกพัดพาไปได้ไกล ทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าการแพร่กระจายของมันเกิดเพราะการขนส่งกบน้ำแอฟริกาซึ่งใช้ทดสอบการตั้งครรภยุค 1950-1960 (เมื่อฉีดปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ให้กบแอฟริกาตัวเมีย มันจะวางไข่ในไม่กี่ชั่วโมง) และดูเหมือนว่าเชื้อนี้จะไม่มีผลร้ายแรงต่อกบน้ำแอฟริกาแม้ว่ามันจะติดเชื้อเป็นวงกว้าง อีกทฤษฎีบอกว่าเชื้อรา Bd มาจากกบอเมริกาเหนือ พวกมันถูกส่งออกเพื่อการบริโภค กบนี้ติดเชื้อรา Bd อย่างแพร่หลายแต่ไม่เป็นอันตรายต่อพวกมัน

ในมุมของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มองว่าแม้การขนส่งทางเรือหรือเครื่องบินจะเป็นไปอย่างธรรมดาในปัจจุบัน แต่เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตร่วม 3,500 ล้านปี

กบสีทองปานามา (Atelopus zeteki)

ในหนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องเชื้อราจมูกขาวที่เกิดในค้างคาวเล็กสีน้ำตาล (Little brown bat) ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งค้นพบจากงานการสำรวจประชากรสัตว์ป่าตามปกติของกระทรวงอนุรักษ์ธรรมชาติของรับนิวยอร์กในปี ค.ศ. 2007 นักชีววิทยาพบค้างคาวที่เคยเกาะจำศีลตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวตกลงมาตายพร้อมแป้งสีขาว คล้ายกับมันถูกจุ่มลงในแป้งมันโดยเอาจมูกลงก่อน แป้งขาวที่ว่าคือเชื้อราที่ชอบความหนาว เรียกว่าไซโครไฟล์ (psychrophile) ซึ่งคาดว่าเข้ามาโดยบังเอิญจากทางยุโรป เชื้อราพวกนี้ทำให้ค้างคาวเป็นโรคจมูกขาว (White-nose syndrome) แพร่ไปไกลถึงเวสต์เวอร์จิเนีย โคลเบิร์ตมีโอกาสไปเก็บตัวอย่างค้างคาวพวกนี้กับนักชีววิทยาชื่อ อัล ฮิกส์ในเหมืองแร่เหล็กเก่าที่เป็นอุโมงค์ชื่อบาร์ตันฮิลล์ และถ้ำชื่อเอโอลัส โดยเก็บตัวอย่างถึงสี่ฤดูหนาวพบค้างคาวตายมากขึ้นมากมายทีเดียวด้วยตัวของเธอเองมีกองศพค้างคาวอยู่เต็มไปหมด และในปีที่สองก็มีกองศพค้าวคาวที่ย่อยสลายโดยพบว่าพบประชากรค้างคาวที่ยังมีชีวิตเหลือเพียง 1/30 ของประชากรปกติที่เคยนับได้

เชื้อราโรคจมูกขาวจะทำให้ค้างคาวไม่จำศีล ตื่นและออกมาบินว่อนตอนกลางวัน เชื่อว่าเชื้อราทำให้มันระคายเคืองจนมันไม่หลับ และมันก็ใช้ไขมันที่กักเก็บไว้ในฤดูหนาวจนหมด มันหิวเกือบตายและต้องออกไปหาแมลง ซึ่งในช่วงฤดูหนาวไม่มีแมลงให้มันกินได้ นอกจากนี้เชื้อรายังอาจทำให้มันเสียความชุ่มชื้นผ่านผิวหนัง ทำให้ขาดน้ำและกระตุ้นให้มันตื่นเพื่อไปหาน้ำ จนมันผอมแห้งและตายในที่สุด

โรคจมูกขาว (White-nose syndrome) ในค้างคาวเล็กสีน้ำตาล

ในช่วงที่เธอร่วมติดตามสถานการณ์เรื่องโรคราจมูกขาวในค้างคาวหลายชนิดไม่เฉพาะค้างคาวเล็กสีน้ำตาลจนถึงช่วงปี ค.ศ. 2013 โรคจมูกขาวได้แพร่ไปยัง 22 รัฐในอเมริกา และ 5 รัฐในแคนาดา ร่าชีวิตค้างคาวกว่า 6 ล้านตัว และเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ นี้เองค้างคาวเล็กสีน้ำตาลซึ่งเคยพบเห็นโดยทั่วไปถูกจัดอยู่ในรายชื่อสายพันธุ์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ของรัฐอย่างเป็นทางการแล้ว

การเดินทางไปติดตามข้อมูลของโคลเบิร์ตทำให้เธอเข้าใจเป็นอย่างดีของผลกระทบการแพร่กระจายและรุกรานของสายพันธุ์ต่างถิ่น และศึกษาย้อนไปถึงการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่สมัยอดีตกาลทางธรณีวิทยาที่ทวีปต่าง ๆ เคยเชื่อมติดกันเป็นทวีปเดียวที่ทางธรณีวิทยาเรียกว่าแพนเจีย และเมื่อทวีปแยกจากกันจากทฤษฎีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกสิ่งมีชีวิตก็วิวัฒนาการจนสามารถดำรงชีวิตในระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเกิดการเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตให้แพร่ย้ายเข้าหากันผ่านกิจกรรมของมนุษย์ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่คล้ายเกิดการเชื่อมของทวีปเป็นแพนเจียอีกครั้งโดยการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ

ตอนหน้าจะรวบรวมข้อมูลเรื่องการรุกรานของสายพันธุ์ข้ามทวีปในหนังสือการสูญพันธุ์ครั้งที่หกมาเล่าให้ฟังต่อครับ

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)