ตั้งใจไว้ว่าจะทำความกระจ่างในเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลกที่เขาพูดกัน จริง ๆ แล้วมีความเป็นมาอย่างไร
ทราบว่าหลัก ๆ แล้วมีหนังสือตามชื่อนี้ที่ออกมาขายในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) หรือราว ๆ 6 ปีที่แล้ว ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์ (ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์) ชื่อ Elizabeth Kolbert และในประเทศไทยก็มีผู้แปลออกมาในอีกสองปีต่อมา (2016) โดย สำนักพิมพ์ โอเพ่นบุ๊คส์ แปลโดยคุณสุนันทา วรรณศิลป์ ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ (ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อีกเช่นกัน) แต่หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ออกจะเป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ แต่เขียนออกมาเชิงสารคดี ที่ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจให้ออกไปค้นคว้า และเดินทางไปดูกรณีศึกษาต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกันจนเป็นวรรณกรรมระดับได้รางวัลพูลิตเซอร์
คนที่เรียนวิทยาศาสตร์ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้จะรู้สึกอ่านยาก และอาจจะรู้สึก (เหมือนผม) ว่าทำไมต้องไปอธิบายอะไรที่เป็นการศึกษาพื้นฐานขนาดที่ว่าความขัดแย้งเรื่องที่นักวิชาการแยกออกเป็นสองพวกว่ามีการสูญพันธุ์แบบฉับพลันทันที หรือกระทั่งมีการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นหัวข้อถกเถียงตั้งแต่ก่อนสมัยชาลส์ ดาร์วิน โน่นแน่ะ !!!
คือโดยพื้นฐานคนเรียนวิทยาศาสตร์เรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันผ่านมานานแล้ว และกลายเป็นความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานไปแล้ว หนังสือเล่มนี้เลยดูจะ “พยายาม” อธิบายกลับไปไกลไปมาเสียหน่อย
และด้วยความที่ผู้เขียนและผู้แปลไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ศัพท์แสงต่าง ๆ แม้จะไม่ผิด แต่วิธีการเขียนสารคดีวิทยาศาสตร์โดยมุมมองนักหนังสือพิมพ์มันก็เลยอ่านค่อนข้างวกวนไปมามากเสียหน่อย เพราะพยายามจะอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่าตนเองไปพบความรู้ที่น่าตื่นเต้นย้อนกลับไปเป็นร้อยปีทางวิทยาศาสตร์แบบนั้นอย่างไร
เมื่อค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับลำดับความพยายามของ Kolbert ผมก็เริ่มรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานว่านักหนังสือพิมพ์คนนี้คงจะตื่นเต้นกับการค้นพบเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์โบราณที่ค่อย ๆ พัฒนา หาข้อพิสูจน์อะไรต่อมิอะไร เสริมด้วยคำบอกเล่าของนักวิทยาศาสตร์ที่เก็บข้อมูลและค้นคว้าวิจัยในพื้นที่ปัจจุบันในหลายพื้นที่สำคัญ ที่เกิดปรากฏการณ์สูญพันธุ์ที่ชัดเจนและเชื่อมโยงกับการค้นพบการสูญพันธุ์ในอดีตอย่างตั้งอกตั้งใจเพียงใด
เรื่องต่าง ๆ ที่เราได้เรียนมาคร่าว ๆ เพียงแค่นั้นกลับได้รับการขยายเกร็ดความรู้ให้ได้ความกระจ่างมากมาย
หนังสือของเธอเท้าความไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ของสรรพสัตว์ (History of Animal) ที่เขียนขึ้นจากจินตนาการของอริสโตเติล และ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History) ที่รวบรวมบรรยายลักษณะของสัตว์ต่าง ๆ ของพลินีในยุคโบราณ จนกระทั่งการเกิดตำราการจำแนกรายชื่อสัตว์อย่างเป็นระบบในหนังสือชื่อระบบธรรมชาติ (Systema Naturae) ของคาร์ล ลินเนียส ในปี ค.ศ.1758 โดยเธอเท้าความประมาณว่าความเชื่อเก่า ๆ นั้นไม่เชื่อเรื่องการสิ้นสูญของเผ่าพันธุ์เพราะเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวพันกับการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและพระเจ้า
จนถึงอีกเกือบห้าสิบปีต่อมาในช่วงคาบเกี่ยวศตวรรษที่ 19 จึงเกิดการศึกษาซากมหึมาของช้างดึกดำบรรพ์จากทวีปอเมริกาของกูวีเย (Cuvier) นักธรรมชาติวิทยาซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องกายวิภาคศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ต่อสู้ให้เกิดความคิดเรื่องการสูญพันธุ์ หรือ เรื่อง “โลกที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าโลกของเรา” โดยมีแนวคิดอีกทฤษฎีของเพื่อนที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเดียวกับเขาที่นักเรียนไทยคุ้นเคยชื่อคือ ลามาร์ก (Jean-Baptiste Lamarck) ที่อธิบายว่าสัตว์มีการ “วิวัฒนาการ” นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากอดีตมาต่างหาก โดยไม่ยอมรับแนวคิดการสูญพันธุ์ของกูวีเย (นักเรียนไทยจะจำได้ว่าลามาร์กเสนอว่ายีราฟคอยาวเพราะมันยืดคอกินยอดไม้)
หลายสิบปีต่อมาเกิดการพัฒนาการศึกษาด้านธรณีวิทยาเป็นสาขาหนึ่งของเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์มีการเสนอทฤษฎีมหาวิบัติ (catastrophism) โดยวิลเลียม ฮิวเอลล์ ที่ในหนังสือบอกว่าเป็นหนึ่งในประธานคนแรก ๆ ของสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอน (ฮิวเอลล์ เป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในยุคนั้น ซึ่งในหนังสืออ้างว่าเขาเป็นคนบัญญัติคำสำคัญทางวิทยาศาสตร์หลายคำเช่น แอโนด-anod, แคโทด-cathod, อิออน-ion และคำว่า scientist-นักวิทยาศาสตร์) ตอนนั้นศาสตร์สาขาทางวิทยาศาสตร์น่าจะยังไม่ได้แบ่งชัดเจนเหมือนยุคปัจจุบัน แต่ทฤษฎีที่ว่าไม่ได้อธิบายรายละเอียดในหนังสือ แต่เล่าว่าทฤษฎีนี้ไม่ได้รับการยอมรับมากนักออกจะเหยียด ๆ กันด้วยซ้ำ โดยมีนักธรณีวิทยาหนุ่มไฟแรงคนหนึ่งซึ่งภายหลังเป็นคนวางรากฐานสำคัญในการศึกษาธรณีวิทยาพื้นฐานที่เรียนสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันในชื่อหนังสือ หลักธรณีวิทยา-Principles of Geology : อธิบายความเปลี่ยนแปลงผิวโลกในอดีตโดยอ้างถึงกระบวนการที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน สมัยผมเรียนเราก็ท่องตามกันมาว่า ปัจจุบันคือกุญแจไขไปสู่อดีต เปล่าหรอกไลเออล์มิได้ต่อยอดความคิดเรื่องการมีมหาวิบัติทำให้ชีวิตสูญพันธุ์ไปหรอก แม้ว่าเขาเชื่อเรื่องการสูญพันธุ์เพราะศึกษาชั้นหินต่าง ๆ ที่ทับกันและแยกแยะประเภทของซากดึกดำบรรพ์ที่หายไปจากชั้นหินช่วงหนึ่ง ๆ ว่ามีการสูญพันธุ์จริง แต่มันค่อย ๆ หายไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ปุบปับหายไปแบบมีเหตุการณ์มหาวิบัติแบบที่ฮิวเอลล์เสนอไว้ นี่เป็นเรื่องราวเมื่อราว ๆ สองร้อยปีที่แล้ว
หนังสือพื้นฐานการศึกษาซากฟอสซิลในชั้นหินของไลเอลล์นี้เองกลับเป็นตำราหลักที่ชาลส์ ดาห์วินใช้เป็นตำราหลักในการเดินทางศึกษาซากฟอสซิลในชั้นหินระหว่างเดินทางสำรวจโลกทางเรือบีเกิลตั้งแต่อายุ 22 ถึง 27 ปี (น่าจะราว ๆ ปี ค.ศ. 1831-1836) โดยระหว่างทางได้สั่งซื้อหนังสือที่ไลเอลเล่มที่สองและสาม ซึ่งอยู่ระหว่างเขียนเช่นกันให้มาส่งที่มอนเตวิเดโอ (ที่ไหนก็ไม่รู้) และเล่มสามไปได้ที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (หมู่เกาะมัลวีนัส) การศึกษาชั้นหินและกระบวนการทางธรณีวิทยาประกอบกับสำรวจสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทำให้เขาพัฒนาความรู้เรื่องการวิวัฒนาการ และหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โดยเชื่อเหมือนไลเอลล์ว่าไม่มีการสูญพันธุ์แบบมหาวิบัติ แต่การสูญพันธุ์และเปลี่ยนแปลงจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ตามในหนังสือเรื่อง กำเนิดสปีชีส์ของเขา บ่งชัดว่าดาห์วินคุ้นเคยกับการสูญพันธุ์ที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์
การศึกษาช่วงอายุและการสูญพันธุ์หรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามหลักฐานซากฟอสซิลชนิดต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในหนังสือของ Kolbert ได้อ้างถึงประธานสมาคมธรณีวิทยาในยุคใกล้ ๆ กับไลเอลล์ชื่อจอห์น ฟิลลิปส์ ที่แบ่งช่วงเวลาตามธรณีกาลออกเป็นสามช่วงใหญ่ ๆ เรียกว่าพาลีโอโซอิค (Paleozoic) หรือช่วงชีวิตโบราณ มีโซโซอิค (Mesozoic) หรือชีวิตตอนกลาง และซีโนโซอิค (Cenozoic) หรือ ชีวิตใหม่
ผู้ที่ทำให้มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องทฤษฎีมหาวิบัติคือนักธรณีวิทยาชื่อวอลเตอร์ อัลวาเรส (Walter Alvaez) กับพ่อของเขาซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชื่อหลุยส์ ได้ร่วมกันหาอายุธาตอิริเดียมที่ชั้นหินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่อ่าวเม็กซิโกจนนำไปสู่การยอมรับในทฤษฎีการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเมื่อ 65 ล้านปี ในช่วงก่อนถึงทศวรรษที่ 1980 ไม่นาน Kolbert ได้ไปเรียนรู้และค้นคว้าเรื่องการสูญพันธุ์ในอดีตจนมาถึงช่วงสำคัญในปัจจุบันที่บ่งชี้ว่ามนุษย์นี่แหละที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ได้เริ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยอ้างถึงการเสนอการสิ้นสุดช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่จัดกันว่าอยู่ในสมัยปัจจุบัน หรือ โฮโลซีน-Holocene โดยมีการเสนอชื่อช่วงเวลาใหม่ว่าเป็นช่วงเวลาของมนุษย์ที่ทำลายชีวิตและเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศโลกครั้งใหญ่โดยนักเคมีรางวัลโนเบลที่เป็นผู้ค้นพบสารประกอบที่ทำให้เกิดรอยโหว่โอโซนชื่อพอล ครุตเซน โดยเสนองานเรียงความเรื่องธรณีวิทยาของมนุษยชาติ (Geology of Mankind) และใช้คำว่าเข้าสู่ยุคสมัย Anthropocene สาระสำคัญคือมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของบรรยากาศผ่านการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง และกำลังทำให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ในระดับมหาวิบัติอีกครั้ง
ในหนังสือเล่มนี้ได้พยายามสอดแทรกเนื้อหาการสูญพันธุ์ทั้ง 5 ครั้ง ในอดีตกาลทางธรณีวิทยาโดยเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาหลายแห่งทั่วโลก เช่น การสูญพันธุ์ของกบที่ปานามา หรือการสูญหายไปของค้าวคาวที่นิวยอร์ค ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อราที่น่าจะมาจากการย้ายสายพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ จากทวีปอื่น หรือการเกิดทะเลกรดที่เกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่ละลายลงทะเลทำให้ปะการังอาจจะสูญพันธุ์ ซึ่งแต่ละกรณีสามารถอ้างอิงไปถึงสภาพที่คล้ายการสูญพันธุ์ในอดีตเมื่อ 5 ครั้งที่แล้ว
เป็นหนังสือที่ทำให้เราทำความเข้าใจกับอนาคตของเราได้อย่างชัดเจนว่าเรากำลังสร้างความหายนะให้สิ่งมีชีวิตร่วมโลกเรามากมายจนน่าจะทำให้พวกเราเองก็คงไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุขเหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
รายละเอียดความเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผมตั้งใจจะมาเล่าให้เข้าใจง่าย ๆ ในตอนต่อไปครับ
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)