ปีนี้ผมตั้งใจว่า จะทำความเข้าใจกับเรื่องใหญ่ทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ว่ากันว่า จะเข้าสู่ห้วงเวลาของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลก หรือ The Sixth Extinction ที่เขาว่ากันว่า โลกที่เคยผ่านเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง 5 ครั้ง ตามหลักฐานทางธรณีกาล และเรากำลังย่างเข้าสู่ครั้งที่ 6 ครั้งถัดมาจากเหตุการณ์อุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลก ทำให้สิ้นสุดยุคไดโนเสาร์เมื่อหกสิบกว่าล้านปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า การสูญพันธุ์ระดับสิ่งมีชีวิตหายไปครึ่งค่อนโลกในครั้งนี้ ไม่น่าจะต้องพึ่งระดับอุกกาบาตหรือภูเขาไฟระเบิด เพราะแค่มนุษย์ทำการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างที่เห็นกัน ก็เดาได้อยู่แล้วว่าโลกนี้ไม่มีที่ให้สัตว์และพืชชนิดอื่นอยู่ได้อีกสักเท่าไหร่แน่ ๆ
หนังสือที่ออกมาในชื่อเรื่องนี้ได้รางวัล Pulitzer เชียวล่ะ เขียนโดยคุณ Elizabeth Kolbert มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย คุณสุนันทา วรรณสินธ์ เบล (ประวัติศาสตร์นับศูนย์ สู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6) นี่ก็เป็นเป้าหมายการอ่านให้จบของผมเช่นกัน มีภาษาไทยก็อ่านง่ายหน่อย
และก็ตั้งใจว่าจะอ่านอีกเล่มชื่อ Half-Earth ของนักชีววิทยาชื่อ Edward O.Wilson ผมยังไม่เห็นใครแปลออกมา แต่มีเพื่อนส่งมาให้อ่านจากเมืองนอกสองสามปีแล้วยังไม่มีโอกาสได้อ่านเลย ปีนี้ตั้งใจว่าจะใช้ความพยายามในการอ่านให้จบ
ผมเข้าใจเอาเองว่า สองเล่มนี้น่าจะมีเนื้อหาออกไปทางเสริม ๆ เหตุผลและข้อมูลกัน ลองเปิดไปอ่าน Half-earth ในบทแรกเขาตั้งชื่อว่า สิ้นสุดโลก, สองครั้ง หรือ The World End, Twice
การสิ้นสุดโลกครั้งแรกของเขาหมายถึง การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อ 65 ล้านปีที่ดาวเคราะห์น้อยกว้าง 12 ไมล์พุ่งเข้าชนโลกด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงวิ่งชนโลก บริเวณชายฝั่งเม็กซิโก ทำให้เกิดหลุมลึกสิบกิโลเมตร รัศมีกว้าง 180 กิโลเมตร ทำให้โลกสั่นเป็นระฆังเลยล่ะ
ผลของการชนก็ทำให้ แผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิดตูมตามคลื่นยักษ์รอบโลก จากนั้นก็เกิดฝนกรดจากหมอกควันภูเขาไฟที่ละลายกับฝน ท้องฟ้ามืดเพราะฝุ่นภูเขาไฟฟุ้งกระจาย แสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ได้ อากาศเย็นลง ผลใหญ่ ๆ ของมันนอกจากสรรพชีวิตจะตายทันทีเพราะแรงระเบิดและภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ตามมาในระยะยาวก็ทำให้ พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้เข้าสู่ช่วงเวลาหนาวเย็นยาวนาน ประมาณการว่า 70% ของสิ่งมีชีวิตตายแหงแก๋ไปหมด ไม่ใช่เฉพาะที่เราดูในหนังบ่อย ๆ ว่าเป็นไดโนเสาร์ที่วิ่งกันจ้าละหวั่น แต่หมายถึงระดับจุลินทรีย์ เห็ดรา และแมลงต่าง ๆ ไม่เฉพาะพืชและสัตว์ใหญ่ ๆ เท่านั้น
นั่นคือช่วงเวลาธรณีกาลที่สิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิค ซึ่งมีพวกสัตว์เลื้อยคลานโดดเด่น และเข้าสู่มหายุคซีโนโซอิค ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาของพวกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อ้ายมนุษย์อย่างพวกเราก็คงถือเป็นสุดยอดผลผลิตของมหายุคซีโนโซอิคนั่นเอง
Wilson อธิบายถึงช่วงเวลาทางธรณีวิทยาในมหายุคซีโนโซอิคมาจนถึงปัจจุบันว่าแบ่งเป็น 7 ช่วงเวลา หรือที่ทางธรณีวิทยาเขาใช้ศัพท์คำว่า Epoch หรือ ‘สมัย’ เป็นสมัยใหญ่ ๆ เจ็ดสมัยที่แบ่งตามความโดดเด่นของการพบฟอสซิลพืชหรือสัตว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา มีการวิวัฒนาการมาตั้งแต่การสิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิค สมัยต่าง ๆ มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า อีโอซีน โอลิโกซีน ไมโอซีน ไพลโอซีน มาจนถึง ไพลสโตซีน หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อเรียกว่า ‘ยุคน้ำแข็ง’
ต่อจากยุคน้ำแข็งก็เข้าสู่ช่วงปัจจุบันทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า ช่วงของสมัยโฮโลซีน นับจากเวลา 11,700 ปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงน้ำแข็งเริ่มถดถอยไปอยู่ขั้วโลกและสิ่งมีชีวิตก็เพิ่มจำนวนชนิดพันธุ์กันปุบปับเยอะแยะ
ในช่วงหมื่นกว่าปีนั้น มีมนุษย์กระจายตัวไปทั่วโลกแล้ว Wilson บอกว่ามนุษย์นี้แหล่ะที่มีศักยภาพในการทำลายสูงเท่า ๆ กับครั้งที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อครั้งที่แล้วเลย การทำลายในสามระดับชีวิตจะครบถ้วนทั้งระดับระบบนิเวศพัง เช่น แนวปะการัง แม่น้ำ ป่า ระดับชีวิต ทั้งปลา สัตว์อื่น ๆ ปะการัง ต้นไม้ สุดท้ายจะทำลายถึงระดับพันธุกรรมในแต่ละชนิดพันธุ์กันเลย
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไม่ใช่ว่าเคยเกิดมาแค่ครั้งเดียว แต่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในประวัติธรณีกาล ในช่วง 600 ล้านปีที่ผ่านมา ก็มาห้าครั้งเฉลี่ย ๆ ก็ร้อยกว่าปีมาสักทีนึงจากปัจจัยที่แตกต่างกัน และใช้เวลาประมาณสิบล้านปีในการฟื้นฟูชนิดพันธุ์ใหม่กลับมา การเข้าสู่ยุคที่มนุษย์จะเป็นสาเหตุนี้จะเป็นการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก นับจากหลักฐานที่พบชนิดพันธุ์ขึ้นบนโลก
Wilson บอกว่ามีผู้เขียนคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็คิดว่า โลกวันนี้มีความพร้อมของข้อมูลที่มีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ลักษณะของสิ่งมีชีวิต ที่จะเข้าสู่การสิ้นสุดสมัยโฮโลซีนและเข้าสู่อีกช่วงเวลาสมัยหนึ่งได้แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาสัตว์น้ำที่มีชื่อเสียง ชื่อ Eugene F.Stoermer ตั้งแต่ปี 1980 และนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีของสภาวะอากาศ ชื่อ Paul Crutzen ในปี 2000 ได้ใช้ชื่อช่วงสมัยใหม่ต่อจากโฮโลซีนว่าเป็น ช่วง Anthropocene ซึ่งคือ Epoch of Man หรือสมัยของมนุษย์
คิดว่าในอนาคตหากยังมีนักธรณีวิทยาในอนาคตขุดเปลือกโลกพันปีข้างหน้ามาถึงชั้นตะกอน ในยุคปัจจุบันก็จะพบการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดของชั้นหินที่ปรากฏความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะไม่พบซากสิ่งมีชีวิตจากธรรมชาติมากแต่จะพบสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีมนุษย์ และพบซากเครื่องจักร และอาวุธสงครามอยู่เต็มหมด
นักธรณีวิทยาในอนาคต (หลายพันปีข้างหน้า) น่าจะกล่าว “น่าเสียดายว่าในสมัย Anthropocene ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความเลวร้ายของมนุษย์ เป็นห้วงเวลาที่หายนะของผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่เหลืออย่างที่สุด”
นี่คือเนื้อหาบทแรกของหนังสือ Half-Earth ของ Edward O. Wilson
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)