เมื่อเริ่มมารับงานเป็นผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมที่ต้องทำงานจัดการความขัดแย้งระหว่างพี่น้องชาวบ้านในป่าตะวันตกที่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ผมจำได้ดีถึงงานแรกที่เราพยายามผลักดันให้สังคมรับรู้ว่าไร่ข้าวหมุนเวียนของคนกะเหรี่ยง ไม่เหมือนกับไร่เลื่อนลอยที่บุกรุกทำลายป่า
ความทรงจำของผมย้อนไปถึงวันที่เราพาคณะนักข่าวไปที่อำเภอสังขละบุรี ชายแดนตะวันตกของเมืองกาญจน์ เรานัดหมายรถตู้ที่เช่ามาจากกรุงเทพฯ ให้มารับที่หน้าที่ทำการ อบต. ไล่โว่ ในอีก 2 วันข้างหน้าและขนของขนคนขึ้นรถปิกอัพของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มุ่งหน้าไต่ภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงชันบนทางดินเพื่อเข้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าสะเนพ่อง ที่นี่เรามีนัดกับชาวบ้านสะเนพ่อง และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตกไว้ในตอนเย็น เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วหัวหน้าเขตทุ่งใหญ่เป็นเพื่อนของคุณสืบ นาคะเสถียร ชื่อ เอิบ เชิงสะอาด (ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว)
เจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิสืบฯ ขับรถลงเนินลุยผ่านห้วยโรคี บดล้อไปบนพื้นกรวดใต้สายน้ำใสอย่างชำนาญ แต่ก็ทำให้เป็นที่ตื่นเต้นของคณะเดินทางได้พอสมควร ทุกคนมีอาการโล่งใจหลังจากรถทะยานขึ้นถนนได้ และพาเรามาจอดอยู่บนสนามหญ้าหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า
ในวิถีความเชื่อของกะเหรี่ยงโผล่ว ดินแดนฝั่งนี้เป็น “ซ่งปะไต่” หรือ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้มาควรเคารพและรักษาศีลรักษาธรรม
ใต้ร่มไม้ในความมืด ดูเหมือนแสงเทียนบนโต๊ะไม้จะส่องแสงริบหรี่ แต่ก็เป็นแสงที่ขับไล่ความมืดพอให้คนรอบโต๊ะได้เห็นหน้าตายามซักถามพูดคุยกัน
กำนันอานนท์ เป็นผู้นำกะเหรี่ยงที่ดูแลทุกข์สุขของผู้คนใน 7 หมู่บ้านของตำบลไล่โว่ ได้แก่ สะเนพ่อง กองม่องทะ เกาะสะเดิ่ง ซาราวัก ไล่โว่ ทิไร่ป้า และ จะแก บนอาณาบริเวณทางการปกครองที่ไม่น้อยกว่าจังหวัดขนาดกลาง บอกเล่าวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงกลางป่าว่ามีความจำเป็นต้องทำไร่ข้าว ที่เรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” ที่เป็นวิถีชีวิตและเทคนิคทางการเกษตรที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
กำนันอธิบายถึงวงจรที่ต้องถางกอไผ่ใน “ไร่ซาก” ทิ้งไว้ให้แห้งและรวมเผา รื้อออก เพื่อเตรียมพื้นที่ทำไร่ข้าวให้คณะสื่อมวลชนที่ขอให้มูลนิธิสืบ ฯ พามาสัมผัสปมขัดแย้งกลางป่าอย่างตั้งใจ
การเผาไผ่นี้เองที่ทำให้ผู้มีหน้าที่ดูแลป่าตามกฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯลำบากใจ แม้ในระดับพื้นที่จะรู้และคอยดูแลอย่างเข้าใจอย่างไร แต่นั่นก็ไม่สามารถขยายไปสู่การรับรู้ของคนในกรม และสาธารณะชนที่พิพากษาชาวกะเหรี่ยงว่าเป็นพวกทำ “ไร่เลื่อนลอย” และเป็นต้นเหตุของการทำลายป่าได้ ปัญหานี้นำมาสู่การจับกุมชาวกะเหรี่ยงในข้อหา
“ทำลายป่า” “เผาไร่” และ หาว่า “ด้อยพัฒนา”
หัวหน้าเอิบ เชิงสะอาด ดูจะเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี แต่สังเกตได้ถึงการระมัดระวังคำพูดเป็นอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้ดูเป็นเจตนาที่ “เข้าข้าง” ชุมชนมากเกินไป แน่นอนว่าการอะลุ้มอล่วยให้ชาวบ้านย่อมไม่ถูกใจนโยบายในกรมนัก
แต่แค่นี้ก็นับเป็นแสงริบหรี่กลางความมืด ทำหน้าที่ส่องภาพปัญหาคล้ายแสงเทียนเบื้องหน้าพวกเราแล้ว
บรรยากาศในค่ำคืนดูมีความเข้าใจกันทุกฝ่าย ในความเหมาะสมของการทำการเกษตรที่ต้องหมุนเปลี่ยนพื้นที่เพื่อพักฟื้นดิน และให้ธรรมชาติคงความสมบูรณ์
ในพื้นที่สูงที่ไม่มีตะกอนจากน้ำพัดมาทับถมเหมือนที่ราบเชิงเขา และที่ราบน้ำท่วมถึงหากไม่ปล่อยให้พืชพันธุ์ทำหน้าที่ถมตัวเติมอาหารก็ไม่มีทางจะปลูกอะไรได้หากไม่ใส่ปุ๋ยและยาเคมีอย่างหนักและมากขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันในสภาพพื้นดินบนภูเขาย่อมไม่มีความหนาของหน้าดินมากพอที่จะรองรับการไถพรวนทุกปี หากไม่พักดิน ก้อนหินก็จะโผล่และไม่สามารถทำอะไรได้อีกในไม่เกิน 4-5 ปี ยังมินับว่าพื้นที่สูงนี้คือต้นน้ำลำธารของแม่น้ำใหญ่หลายสายให้เราดื่มกิน
ในขณะเดียวกันการต้องรอให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวทดแทนถึงขั้นเป็นป่าไผ่ นี้เป็นตัวชี้วัดว่าเม็ดหญ้าได้หมดไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว พันธุ์ข้าวไร่นั้นชาวกะเหรี่ยงล้วนรู้ดีว่า “สู้หญ้า” ไม่ได้
การหมุนเวียนเปลี่ยนที่ ทำให้ในภาพรวมแล้วครอบครัวหนึ่งๆจะทำไร่ประมาณ 3-5 ไร่ ในพื้นที่ไร่ข้าวจะแทรกสลับด้วยต้นพริกกะเหรี่ยง แตงเปรี้ยว ฟักทอง มะเขือ และผักอื่นๆ รวมถึง ยาสูบและดอกไม้ ดังนั้นหากเทียบกันแล้วความหลากหลายของชนิดพืชในไร่เล็กๆ กลับมีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์การเกษตรอย่างน่าทึ่ง
แน่นอนว่าการดูแลพื้นที่แบบนี้ย่อมต้องใช้ “ฝีมือ” และความประณีต ในระดับหนึ่งทีเดียว
ข้าวเท่านี้ก็พอกินไปทั้งปี ทั้งครอบครัว และพอสำหรับปลูกข้าวเหนียวทำขนมในเทศกาลต่างๆได้อีก
พริกเท่านี้พอแล้วที่ตากเป็นพริกแห้ง เก็บไว้ขายพอเป็นเงินใช้สอยเล็กๆน้อยๆในสภาพหมู่บ้านกลางป่า
ผักเท่านี้ ก็แสนจะอุดมสมบูรณ์เหมือนมีตลาดผักสดปลอดสารพิษใกล้บ้านที่หลังจากดูแลไร่ข้าวก็ติดมือกลับมากินได้ทุกวัน ส่วนปลาก็แวะจับที่ริมห้วยข้างหมู่บ้าน
ยาสูบเท่านี้ก็พอที่จะให้เมียหั่นซอย ตาก แบ่งกันสูบทั้งปี ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ยิ่งถ้ามีต้นกระโดนให้ไปเก็บใบมาไว้มวนก็ยิ่งจะเข้ากันกับยาสูบกลิ่นหอมนุ่มกว่าบุหรี่ในเมืองยี่ห้อใด
ดอกไม้ในไร่ สีสวยพอแล้วที่จะเก็บมาบูชาพระทำบุญในวันพระ ทำพิธีต่างๆ
ไร่ซากปีที่แล้ว ปีนี้กลายเป็นป่าหญ้าคา และสาบเสือที่อนุญาตให้ เก้งกวาง ไก่ป่าเข้ามาหากิน ติดต่อไปในไร่ซากอายุ 2- 4 ปีที่ เริ่มปรากฏกอไผ่ขึ้นแทรกให้เห็นหนาตา
ไร่ซากอายุมากชักจะดูคล้ายป่าแก่ มีกอไผ่สูงเหนือต้นไม้อื่นปกคลุมหญ้าและพืชล้มลุกอื่นให้ค่อยๆตายเติมปุ๋ยธรรมชาติในระบบนิเวศผืนดิน และแน่นอนว่าพื้นที่เช่นนี้แม้แต่ หมี เสือ ช้าง ก็อาจใช้เป็นที่สัญจร
ส่วนป่าแก่จริงๆที่เป็นป่าสมบูรณ์ มีตาน้ำซับริน ชาวกะเหรี่ยงจะเว้นไว้ให้เป็นคลังพันธุกรรม สมุนไพร และ เห็ดอาหาร รวมถึงเป็นที่ซึมซับน้ำ
ทั้งหมดล้วนลงตัวและสมดุล แต่ทำให้คนเมืองรักป่าอย่างเราต้อง “ทำใจ” และ “ทำความเข้าใจ” ยามถึงเวลาที่กะเหรี่ยงต้องขออาศัยโค่นฟัน เผาต้นไผ่ เพื่อทำไร่ข้าว
แต่อย่างไรก็ตามก่อนจะถางไผ่ ก็ต้องของขมาอภัยกันเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่จะขอใช้ที่ดินอยู่ดี มีพิธีในวิถีมากมายที่ควบคุมการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืน ที่ดินรอบหมู่บ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ของใครแต่เป็นที่ทำกินของชุมชนไม่มีเจ้าข้าวเจ้าของ ใช่หรือไม่ว่านี่คือสภาพสังคมในอุดมการณ์
“คนกะเหรี่ยงไม่ได้รักษาป่า วัฒนธรรมของเราต่างหากที่รักษาป่า”
นี่คือคำพูดของลุงเนเส่ง จากค่ำคืนที่สะเนพ่อง คณะของพวกเรามาคุยกับผู้ใหญ่บ้านและผู้เฒ่าปราชญ์ชุมชนอย่างลุงเนเส่งที่บ้านกองมองทะ ก่อนเดินขึ้นเขาดูการเตรียมพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านผ่านไร่ซาก ป่าแก่ มาจนลงอีกฟากเขาถึงบ้านเกาะสะเดิ่ง ทั้งหมดล้วนยืนยันวิถีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของชุมชน
ถนนใหญ่โตที่กำลังสร้างทางผ่านมายังหมู่บ้านกองมองทะ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้คนอาจไม่สามารถรักษาวิถีพอเพียงเช่นนี้ไว้ได้ เพราะเมื่อถนนดี เงินย่อมเผยอิทธิพลของมันได้เต็มที่ เมื่อนั้นรายได้จากพริกแห้งก็คงไม่พอ
แผงโซลาร์เซลล์ที่ทางการนำมาติดให้ทุกบ้านก็คงเป็นอีกปัจจัยที่ทำลายไร่ข้าวชาวกะเหรี่ยง
นอกจากพวกเราที่เดินทางมาบนถนนนี้แล้ว แน่นอนว่าคนที่ตามเรามาก็คงเป็นพ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและพืชเชิงพานิชอื่นๆ หลังจากนี้ไร่ซากก็คงถูกปรับเป็นไร่ข้าวโพดที่ต้องเติมปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า และเติมพลังงานชาวไร่ที่ตอบสนองกับวิถีแห่งทุน
ต่อจากนั้นไม่กี่ปีกะเหรี่ยงก็คงเป็นหนี้ปุ๋ย ยา และเมล็ดพันธุ์ ไร่ข้าวโพดที่เป็นไร่ประจำคงถูกขยายหาเงินเพิ่ม และถูกจับจองขายให้คนเมืองแปลงเป็นสวนส้ม รีสอร์ท และโรงงาน
ผืนป่าระดับมรดกโลก อย่างทุ่งใหญ่นเรศวรที่เป็นที่อาศัยของชุมชนเล็กๆที่ชาญฉลาด มีศีลธรรม และความพอเพียง อย่างกะเหรี่ยงย่อมดำรงอยู่ได้ หากมีความเข้าใจและการจัดการที่เหมาะสมในวิถีการยอมรับวัฒนธรรม
แต่ปัญหาใหญ่ของเราก็คือ พวกเราคนเมืองไม่มีวัฒนธรรมพอกระมั่ง ที่จะไปเข้าใจและรักษาวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยง นี่อาจเป็นความคิดของผมคนเดียว ?
——– แล้วจะรักษาให้ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ เสืออยู่ได้ กันได้อย่างไร ——–
หมายเหตุ : ตั้งแต่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเริ่มทำงานเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนในผืนป่าตะวันตกตั้งแต่ต้นปี 2546 ปัจจุบันไร่หมุนเวียนได้รับการยอมรับมากขึ้นและมีการสำรวจขอบเขตพื้นที่ในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่ในผืนป่าตะวันตก และการทำงานชุมชนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำไปสู่การสำรวจขอบเขตชุมชนกว่าหนึ่งร้อยชุมชนในป่าตะวันตกและได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างชุมชนและหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 17 พื้นที่ รวมถึงเป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายและข้อกฎหมายให้เกิดมาตราในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ยอมรับให้ชุมชนอยู่ในป่าอนุรักษ์ได้อย่างมีกฎกติการ่วมกันทั่วประเทศ
ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า
อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ
เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ
บันทึกและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันต้นปี 2547 และรวมเล่มในหนังสือ “ผมทำงานให้พี่สืบ” สำนักพิมพ์อินสปายร์ ในเครือนานมีบุ๊คส์ พ.ศ.2557