ราวปี 2548 ผมทำงานใกล้ชิดกับผู้พิทักษืป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากเป้นพิเศษ มีหมู่บ้านในป่าลึกให้เราเข้าไปช่วยทำงานแก้ไขปัญหาชุมชนในป่า ซึ่งผมได้รับความร่วมมือที่ดีอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเขตงานนี้ เราบุกป่าเข้าไปทำงานกันหลายเรื่องจนดูเหมือนว่าชุมชนในป่ากับเจ้าหน้าที่น่าจะมีอนาคตี่ดีในการอยู่ร่วมกันได้ แต่วันหนึ่งเมื่อออกมาจากพื้นที่ทุรกันดารมาพักค้างที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พวกเขาก็ปรับทุกข์ให้ฟังว่างานที่พวกเขาทำงานกันมาหลายปีในระบบเดิม ๆ ที่หัวหน้าเขตเป็นคนคัดเลือกลูกจ้างพิทักษ์ป่าโดยใช้ตำแหน่งลูกจ้างรายวันก็จริงแต่พวกเขาก็เหมือนได้รับการว่าจ้างต่อเนื่องมายาวนาน และทำงานกันเหมือนเป็นข้าราชการประจำ รู้จักพื้นที่ และทำงานทุ่มเท หากไม่ใช่คนเหล่านี้ที่อาจจะเป็นคนแถวนี้ หรือคนมาจากต่างจังหวัดแต่ก็อยู่ป่าแถวนี้มาจนเจนจัดพื้นที่ ก็ไม่น่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลขณะนั้นกำลังมีนโยบายหาเอกชนมาว่าจ้างเหมาลูกจ้างมาทำงานแทนพวกเขา
ผมบันทึกเรื่องราวครั้งนั้นไว้ว่า
……………………………………………………….
ปีที่สองที่ผมลาออกจากการสอนหนังสือมหาวิทยาลัย ผมต้องพบปัญหาที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องสถานภาพความมั่นคงของบุคลากรที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ ที่ในปี 2548 ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศทุนนิยมเสรีเต็มรูป ผลักดันทุกอย่างให้เป็นไปในระบบที่เอกชนมารับเหมาผลประโยชน์จากรัฐบาล ไม่เว้นกระทั่งการจ้างลูกจ้างพิทักษ์ป่า
ป่าอนุรักษ์ที่มีการดูแลเข้มข้นในเมืองไทยมีอยู่ไม่ถึง 20 % ของพื้นที่ประเทศไทย เวลามีพายุฟ้า พายุฝนมาแต่ละครั้งคนที่เข้าใจระบบธรรมชาติจะใจหายใจคว่ำอยู่เสมอว่าวันใดน้ำจะบ่าลงมาจากภูเขา วันใดจะมีดินถล่มโคลนไหลมาท่วมทับบ้านเรือน เวลาลมฝนกระหน่ำป่าไม้ปะทะตั้งแต่แรงลม ห่าฝน ซับซึมเป็นแหล่งเก็บน้ำให้รินไหลในหน้าแล้ง ก่อนคุณสืบ นาคะเสถียร ตาย เคยพูดไว้ว่า
เรามีป่าเหลือน้อยจนไม่ต้องคิดว่าจะใช้ป่าอย่างไรแล้ว ต้องเก็บไว้รักษาสมดุลเรื่องภูมิอากาศและเป็นแหล่งซับน้ำ
ความสัมพันธ์ระหว่างผืนป่ากับลำห้วยเป็นเรื่องเข้าใจยาก เชื่อยาก หากคุณเป็นคนเมืองที่เคยชินว่าน้ำมาจากก็อก แต่หากเดินเข้าป่าหน้าฝนจะรู้กระจ่างใจในทันทีที่เห็นลำห้วยน้อยใหญ่มีน้ำกระหน่ำไหล หากไม่มีป่าปริมาณฝนมหาศาลย่อมท่วมทะลักสู่บ้านเรา ดังนั้นถ้าเกิดน้ำท่วมดินถล่มก็อาจจะทำให้คนเห็นด้วยกับความคิดของคุณสืบเมื่อเกือบ 20 ปี่ที่แล้วว่าเราคงต้องเก็บป่าไว้เป็นปราการภัยต้านธรรมชาติ และที่สำคัญคือจำเป็นเหลือเกินที่ต้องมีคนเฝ้าป่าให้พ้นจากการถูกคุกคามจากผู้คนที่เห็นแก่ตัวจะเอาผืนป่ามาใช้ส่วนตัว
ก่อนคุณสืบตายเรื่องหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญและอึดอัดใจมากคือเรื่องความเสี่ยงชีวิตและ
สวัสดิภาพสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ที่เป็นเพียงลูกจ้างรายปี ที่มีอัตราจ้างวันละร้อยกว่าบาท ที่มีหน้าที่เดินลาดตระเวนดูแลป่า ยิงต่อสู้กับผู้ทำลายทรัพยากรส่วนรวม และทำหน้าที่อื่นอีกสารพัดในผืนป่า ตั้งแต่ทำแนวกันไฟไปจนถึงขุดทางลาดตระเวน ดังนั้นหลังจากที่คุณสืบเสียชีวิตงานหนึ่งที่มูลนิธิสืบพยายามทำก็คือส่งเสียดูแลลูกหลานเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยหวังว่าสักวันผู้คนเหล่านี้จะได้รับการดูแลให้ดีขึ้นมากกว่าที่เราช่วยได้แค่นี้ เพราะความสำคัญของหน้าที่ที่ต้องเสี่ยงชีวิตและต้องทำด้วยจิตวิญญาณ
จากการที่พวกเราทำงานใกล้ชิดเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำให้เราสัมผัสได้ว่า ไม่ว่าภาพลักษณ์ทั่วไปของหน่วยงานจะดีเลวอย่างไร แต่ผู้พิทักษ์ป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนมีความจริงใจและทุ่มเทเสียสละมากกว่าอัตราจ้างอย่างมากมายมหาศาล
โดยปกติแล้วแม้ว่าลูกจ้างเหล่านี้จะมีการจัดจ้างปีต่อปี แต่ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติงานก็รู้ว่าเมื่อขึ้นปีงบประมาณใหม่แต่ละพื้นที่อนุรักษ์ก็จะต้องจ้างพวกเขาทำงานต่อเนื่อง จากสิ่งที่เขาทำให้นั้น ไม่ใช่ว่าจะให้ใครก็ได้มาทำเพราะสิ่งที่รัฐบาลจ้างเขา ไม่ใช่แค่เพียงแรงงานและความรับผิดชอบชั่วเวลาราชการ แต่เขาแทบจะขาย “ ชีวิต ” ให้ทีเดียวเมื่อเทียบกับความเสี่ยงสารพัดในพื้นที่
ปกติแล้วในพื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่เท่ากรุงเทพและแน่นไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ จะมีข้าราชการประจำเป็นหัวหน้าอยู่คนหนึ่ง มีผู้ช่วยอีก 2-3 คน นอกนั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ว่า บางคนดีหน่อยที่ได้บรรจุเป็นพนักงานของรัฐหรือที่เมื่อก่อนเรียกว่าเป็นลูกจ้างประจำ เชื่อไหมว่าพื้นที่ขนาดนี้มีคนดูแลแค่ร้อยกว่าคนเท่านั้นเอง เมื่อแยกเป็นหน่วยพิทักษ์ป่า ก็เหลือคนอยู่หน่วยละไม่กี่คนดูแลพื้นที่ใหญ่กว่าอำเภอเสียอีก
เมื่อรัฐบาลมีแนวคิดเชื่อในระบบการจ้างทำโดยบริษัทธุรกิจ และมีความเชื่อฝังหัวว่าใช้เงินทำงานแทนได้ทุกอย่าง วันนี้ก็ออกนโยบายมาว่าจะให้เอกชนมาจ้างเหมาเฝ้าป่าแทนลูกจ้างเหล่านี้ และทันทีที่เรื่องนี้เป็นที่เปิดเผยก็รู้กันว่าหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติก็ไม่มีใครกล้าให้คำมั่นกับลูกน้องที่ร่วมเป็นร่วมตายได้ว่าจะมีการจ้างเขาต่อหรือไม่ ถามว่างานที่ต้องใช้ชีวิตเข้าเสี่ยงแบบนี้ และไม่มีเวลาหยุดเป็นเรื่องเป็นราวจะทำระบบจัดจ้างด้วยเอกชนได้ดีหรือ และหากไม่ใช่คนที่มีใจเหล่านี้ ทรัพยากรป่าไม้ของเราจะมีสถานภาพเป็นอย่างไร ทุกคนเชื่อว่าอัตรากำลังที่มีไม่พออยู่แล้ว คงจะต้องลดลงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
โดยหลักการแล้วไม่มีใครปฏิเสธการบริหารงานที่กระชับ กระฉับกระเฉงของระบบธุรกิจ
แต่เรื่องบางเรื่องก็ต้องค่อยๆ ทำให้มีความพร้อมเพราะเมื่อป่าเสียหายมักไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ง่ายๆ เชื่อไหมว่าบางคนเพิ่งรู้ว่าจะตกงานเดือนนี้นี่เอง
คนที่ชอบป่าไปเที่ยวอุทยานฯ กันบ่อยๆ คงรู้ว่าลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้มีความสำคัญเพียงใดในกลไกการรักษาป่าของบ้านเรา หากให้ใครก็ไม่รู้เข้ามาทำงานจะมาเสี่ยงชีวิตแบบนี้หรือไม่ แน่นอนว่าหลักการที่จะเอาคนเก่าเข้าก่อนก็ได้พูดกัน แต่แน่นอนว่าในระบบจ้างแบบธุรกิจผลการประกอบการย่อมมาก่อนจิตวิญญาณ
ระบบทุนนิยมเสรีค่อย ๆ เอาระบบธุรกิจธุรกรรมเข้ามาแทรกแซงชีวิต แทรกแซงวิญญาณในทุกๆ รูปแบบ วันนี้ถึงคิวการเช่าเหมาดูแลป่าส่วนรวมโดยเถ้าแก่เอกชนแล้วครับ วันที่ดินถล่ม น้ำท่วม มากขึ้นมากขึ้น กลไกในการต่อสู้รักษาป่าก็อ่อนแอลง และทำเป็นเรื่องบริหารกำไรขาดทุนแค่นั้นเอง
ระบบจ้างเหมาตัดตอน ตัดความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่อเนื่องที่ต้องดูแลคนระยะยาว เป็นเรื่องที่รับได้ในแง่ธุรกิจ แต่รับไม่ได้ในด้านน้ำจิตน้ำใจที่ลูกจ้างเฝ้าป่าเคยเข้าใจ และสาธารณชนก็รู้กันดีว่าเรื่องแบบนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงผลประโยชน์การรับเหมาจ้างงานตามเส้นสายกลไกของบริษัทพวกพ้อง เมื่อผลประโยชน์ลงตัวคนรับประโยชน์ก็คือผู้บริหารระดับสูงและนายหน้าค้าแรงงาน ส่วนคนเล็กคนน้อยก็เป็นเพียงปัจจัยทางธุรกิจที่พร้อมจะเพิ่มลดตามสถานการณ์
เวลาพญาช้างสารชนกันไม่รู้ใครแพ้ใครชนะ แต่ที่แน่ๆ คือหญ้าแพรกต้องแหลกราญ
หมายเหตุ : หลังจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ รวมถึงพยายามอธิบายความสำคัญในเรื่องนี้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะช่วยแสดงความคิดเห็นต่อฝ่ายรัฐบาลแนวคิดดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด
เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ
บันทึกและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันต้นปี 2548 และรวมเล่มในหนังสือ “ผมทำงานให้พี่สืบ” สำนักพิมพ์อินสปายร์ ในเครือนานมีบุ๊คส์ พ.ศ.2557