ก่อนจะถึง 30 ปี : ดาบลุงหม่องเป ตอนที่ 1

ก่อนจะถึง 30 ปี : ดาบลุงหม่องเป ตอนที่ 1

เมื่อปี 2549  ลุงหม่องเป หยิบดาบเล่มนี้ออกมาจากห้องในบ้านไม้กระดาน พร้อมทั้งออกปากขอมีดอรัญญิก ที่เป็นมีดเหน็บเดินป่าที่ผมใช้งานตั้งแต่เมื่อเริ่มทำงานร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผมใช้มีดเล่มนี้ตัดไม้ เจียดฟืน เวลาเดินเข้าป่าไปสำรวจข้อปัญหาของชุมชนกลางป่าที่มักมีกรณีความขัดแย้งกับการอนุรักษ์ป่าแบบราชการ ที่มีกฎหมายข้อบังคับเข้มงวดครอบทับคนในป่าเสมอมา การเดินทางที่ผมได้แลกมีดกับลุงหม่องเป ช่างตีเหล็กอันดับหนึ่งแห่งทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก


ผมได้ยินกิติศัพท์ร่ำลือถึงช่างเหล็กชาวกะเหรี่ยงชื่อลุงหม่องเป บ้านทิไล่ป้ามาตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงาน ตามประสาคนเริ่มทำงานในป่า การเที่ยวหามีดได้ดาบ มาพกเล่นโก้ ๆ ได้ฟันไม้ตัดฟืนบ้าง นั้นเป็นเรื่องปกติที่พวกเราหลายคนชอบอยู่แล้ว ในฤดูแล้งที่เคยขับรถผ่านบ้านลุงเห็นมีดเห็นดาบ ที่ลุงตีใช้ยังเคยคิดว่าถ้าของซื้อลงมาไว้อวดเพื่อนสักเล่มคงเท่ไม่น้อย

จำได้ดีว่า การเดินทางครั้งนั้นเกิดขึ้นจากงานสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนที่เป็นไร่ข้าวหมุนเวียน ของเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เป็นเด็กหนุ่มชาวบ้านป่าชะงักกลางคันเนื่องจากเด็กหนุ่มดีกรีปริญญาตรีคนแรกของหมู่บ้านจะแกกลางป่าลึกเปลี่ยนใจจากการทำงานชุมชนกับผมไปสมัครเป็นครูโรงเรียนกลางป่าที่เขาเรียนจบมาเสียแล้ว ทำให้ผมปรึกษาหารือกับชาวบ้านที่เราประสานงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ของชุมชนที่ทับซ้อนอยู่กับการอนุรักษ์ป่าในขอบเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าว่าจะต้องปรับขบวนกันใหม่ ผ่านอาสาสมัครในหมู่บ้านที่เห็นด้วยกับแนวทางการสำรวจข้อมูลพื้นที่ไร่หมุนเวียนตามประเพณีเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการหาข้อตกลงที่เป็นไปได้กับส่วนราชการ ในการบริหารจัดการพื้นที่ความขัดแย้งร่วมกัน

พี่หลงขิ่งโพ หนุ่มใหญ่ชาวกะเหรียงโผล่วที่เป็นอาสาสมัครงานชุมชนบ้านกองม่องทะชวนผมเดินป่ากลางฤดูฝนเพื่อไปคุยกับพี่น้องในชุมชน จากหมู่บ้านกองม่องทะ ผ่านไปยังหมูบ้านเกาะสะเดิ่งโดยมีบ้านลุงหม่องเป ที่บ้านทิไล่ป้า เป็นจุดหมายสำคัญที่จะแวะไปหารือกับปราชญ์อาวุโสที่เป็นทั้งช่างเหล็ก และผู้รู้เรื่องไร่หมุนเวียน ก่อนที่จะเลยไปที่จุดหมายปลายทางที่บ้านจะแก หมู่บ้านลึกที่สุดในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่หากใช้เวลาเดินต่ออีกค่อนวันก็จะทะลุไปยังเขตแดนจังหวัดตาก ที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

จำได้ว่าเราต้องเดินราว ๆ 20 กิโลเมตรกว่าจะถึงบ้านเกาะสะเดิ่ง และต้องเดินเท้าอีกราว ๆ 50 กิโลเมตร กว่าจะถึงบ้านทิไล่ป้า และเดินต่ออีกราว 30 กิโลเมตรก็จะถึงบ้านจะแก

และนั่นหมายถึงผมจะได้มีประสบการณ์เดินในป่าด้วยเท้าในระยะ 100 กิโลเมตร ยังไม่รวมที่ต้องเดินกลับมาอีกรอบหนึ่ง นับเป็นการตัดสินใจที่ไม่รู้ชะตากรรมครั้งสำคัญของชีวิตทีเดียวเมื่อหวนระลึกภารกิจในครานั้น

ปกติแล้วผมเดินป่าระยะใกล้ ๆ ในระยะเดินครึ่งวันค่อนวันอยู่บ่อย ๆ เคยมีประสบการเดินไกลเป็นวันมาก็ไม่น้อย ค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถเอาตัวรอดไปกับพี่หลงขิ่งโพ่ได้อย่างไม่เสียฟอร์ม หรือเป็นภาระให้ต้องหามออกมา ที่สำคัญคือเมื่อต้องเดินทางไกลแบบนี้อดีตนักเรียนธรณีวิทยาอย่างผม ก็ติดนิสัยมาตลอดว่า เราก็ผ่านมาไม่น้อยกว่าใคร

โดยไม่ปรึกษาหารือใคร ผมจัดเป้โครงเหล็กเดินป่าใบย่อม ๆ พร้อมทั้งเสื้อผ้าที่มีกางเกงยีนส์อีกตัวนอกจากที่ใส่ไป เสื้อยืดอีกสามสี่ตัว ถุงเท้าหลายคู่ กางเกงขาสั้น และกางเกงเลใส่นอน พร้อมอุปกรณ์สารพัดไฟฉาย ขวดยา เชือก มีดเดินป่า และของจิปาถะสารพัด ยังไม่นับเครื่องเคราอาบน้ำอีกถุง ระหว่างขับรถมาเป้นี้เพิ่มข้าวสารอีกกิโลและมาม่าอีกหลายห่ออัดลงไปเต็มแน่น ยังไม่นับอุปกรณ์ทำงานอย่างกล้องถ่ายรูป แผนที่ เอกสารอื่น ๆ รวมถึงเข็มทิศ และ GPS อีกเครื่อง

ผมจำตัวเองในชุดกางเกงยีนส์ เสื้อยืดพร้อมเสื้อคลุมอย่างเท่ และเป้ใบนั้น กับรองเท้าผ้าใบคู่เก่ง เดินนำพี่หลงขิ่งโพในชุดเสื้อยืดคอปกเรียบร้อย และกางเกงผ้าบางกับรองเท้ายางพื้นเรียบ และเป้ใบเล็ก ขึ้นเขาหลังโรงเรียนกองม่องทะอย่างคุ้นเคย เพราะเส้นทางเดินนี้ผมเคยเดินขึ้นมาแล้วสองสามครั้งไปยังหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง

แค่ไม่ถึงร้อยเมตรแรก อากาศที่แดดร้อนจัด ก็ทำให้ผมหอบแฮก พี่หลงเตือนว่าเดินแบบอาจารย์นี่ผมเดินตามไม่ทันนะ คำเตือนของแกยิ่งทำให้ผมนึกว่าตัวเองเดินเก่งแข็งแรง จ้ำอ้าวขึ้นไปรอหอบอยู่เป็นระยะก่อนถึงสันเขาที่เป็นพื้นราบยอดตัด ผมกวักน้ำใสในธารน้ำเล็ก ๆ ดื่มอย่างกระหาย พี่หลงเดินมาพร้อมเด็ดใบไม้ จีบเป็นกระทงตักน้ำให้กิน พลางบอกว่ากินน้ำแบบผมเดี๋ยวจุกตาย ผมเห็นความตั้งใจที่แกทำให้ ก็ยอมใช้กระทงใบไม้ค่อย ๆ ตักน้ำดื่ม แปลกว่ามันค่อยดับกระหาย และทำให้ผมเลิกหอบเหนื่อย

เรานั่งพักเหนื่อยด้วยกันใต้ต้นไม้ จากนั้นก็ชักชวนเดินทางต่อ ความรู้สึกแรกที่เดินเริ่มรู้สึกว่าโคนขาหนีบเริ่มเจ็บจากกางเกงยีนส์ที่สีต้นขา ข้อเท้าเริ่มเจ็บ โครงเหล็กที่เป้โดนหลังจนรำคาญ และอื่นใดคือเมื่อมาเดินพื้นราบที่แฉะน้ำ รองเท้าผ้าใบของผมไม่เกาะพื้นและไถลไปสองสามครั้ง

นี่เป็นเพียงสองสามชั่วโมง กับระยะกิโลเมตรแรกที่ไต่ขึ้นเขาชัน ในกำหนดการเดินทางไกลในระยะ 100 กิโลเมตร ขาไปที่ต้องเดินราว ๆ สามวันครึ่ง ยังไม่นับเที่ยวกลับอีกเท่าตัว ดีที่เส้นทางต่อจากนั้นถึงหมู่บ้านเกาะสะเดิ่งที่เป็นจุดหมายคืนแรกไม่ไกลมากนัก มีลำบากก็แค่ทางลงเขา ที่เหลือก็เป็นทางราบที่ยังไม่เฉอะแฉะมากนัก ทำให้ผมเดินสบายๆคุยงานกับพี่หลงขิ่งโพ่ ไปจนถึงในพลบค่ำ

อาหารชาวบ้านง่าย ๆ น้ำพริกกะเหรี่ยง และผักเสี้ยนดอง ที่บ้านชาวบ้านเติมแรงให้เราอย่างดี เพื่อเตรียมการเดินทางต่อไปในวันพรุ่ง

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ


เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เนื้อหาส่วนใหญ่เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ไฟป่า” ในนิตยสาร a day ปี 2558 และรวมเล่มในหนังสือ “ไฟป่า” โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี 2560