ผมจำบรรยากาศเช้าวันที่ออกเดินจากหมู่บ้านเกาะสะเดิ่งไปหาลุงหม่องเปที่บ้านทิไล่ป้า ในพื้นที่ป่าใหญ่ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้ดีโดยเฉพาะความล้าและเจ็บกล้ามเนื้อขาจากการที่เดินเท้าแบกเป้ขึ้นภูเขามากับพี่หลงขิ่งโพ่ตั้งแต่บ่ายเมื่อวาน ผมแทบไม่ได้หยิบอะไรออกมาจากเป้โครงเหล็กใบใหญ่นอกจากผ้าขาวม้า และชุดเปลี่ยนนอน ข้าวสาร มาม่า ยังไม่ได้ใช้งานเพราะบ้านหนุ่มกะเหรี่ยงชื่อไทยว่า น้ำ และภรรยาสาว ชื่อแป้ง ต้อนรับขับสู้ด้วยข้าวไร่หอมฟุ้ง น้ำพริกกะเหรียงแตงเปรี้ยวรสเผ็ดจัด กับผักเสี้ยนดอง ที่รสชาติเข้ากับน้ำพริกอย่างไม่มีอะไรเกิน ผมกินข้าวจนลืมอิ่มตั้งแต่มื้อเย็น และนอนหลับไปหลังวงสนทนาเรื่องสัพเพเหระตามประสาคนป่ามาเจอคนเมือง
น้ำพริกกะเหรี่ยง และผักเสี้ยนดอง เป็นอาหารที่ผมยังปลาบปลื้มรสชาติจนถึงมื้อเช้า และได้รับห่อข้าวสวย และน้ำพริกเป็นเสบียงการเดินทางไปต่อมื้อกลางวัน ผมหยิบย่ามที่เตรียมมาออกจากเป้ใบใหญ่ ใส่ห่อข้าว มีดเดินป่า แผนที่ GPS กล้องถ่ายรูป เสื้อกันฝน ออกมาใส่ย่าม ยกเป้ขึ้นหลัง และสะพายย่ามออกเดิน
พี่หลงพาผมเดินข้ามลำห้วยโรคี่ ผ่านสะพานไม้ไผ่ของชาวบ้าน ที่มัดเชือกต่อๆพาดกับคาคบไม้ ลำห้วยกว้างสามสี่สิบเมตรเบื้องล่างมีน้ำเชี่ยว ปะทะแก่งหินแตกเป็นฟองขาว ดีที่ยังมี ราวไม้ไผ่ให้จับประคองตัว พอลงสะพานเราก็ต้องมุดป่าริมห้วยไปอีกไกลกว่าจะตัดขึ้นทางไปทำไร่ของชาวบ้าน
ทางจากบ้านเกาะสะเดิ่ง เป็นทางชันขึ้นเขา ฝนและหมอกเริ่มปกคลุมเส้นทางขาว น้ำค้างที่ตกบนดินเปียกทำให้ผมรู้สึกถึงความยากลำบากในการเดินตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก ข้อเท้าผมเจ็บไล่มาถึงน่องที่ตึงเกร็ง กล้ามเนื้อต้นขาเจ็บแปลบ ที่เหนืออื่นใดคือกางเกงยีนส์ตัวเก่งที่เสียดสีกับขาหนีบ มิพักต้องคิดถึงความรำคาญโครงเหล็กที่หลังที่กระแทกเอว
ผมสะดุดรากไม้ และล้มลงสองสามครั้ง พี่หลงขิ่งโพ่ ดึงมีดเดินป่าเล่มเล็กของแก ไปตัดไม้ไผ่ลำสวย ยาวเมตรกว่าๆมายื่นให้ผมทำไม้เท้า พลางสอนวิธีเดินโดยใช้ไม้เท้าช่วยปักยึดดินไว้ ผมไม่มีแรงเดินลิ่วนำแกแบบเมื่อวานอีกแล้ว ลีลานักท่องเที่ยวเดินป่าผู้ช่ำชองเมื่อวานเปลี่ยนเป็นเดินกระหย่องกระแย่ง ถึงไม้เท้าปักดินกันลื่น ประคองตัวไม่ให้ล้มกลิ้งยาวขึ้นเขาลงเนิน
พี่หลงออกปากขอเป้มาแบกเอง และแลกกับเป้ใบเล็กของแก ผมไม่เคยอายอะไรเท่านี้ ทำหน้าแฉล้มยิ้มสู้ปฏิเสธความหวังดีด้วยหัวใจที่ยังไหว พาร่างกายเจ็บปวดและน้ำหนักที่ดูเหมือนมันจะทวีขึ้นทุกๆ เขาที่เดินขึ้น พี่หลงเดินมาเดินข้างๆ บอกให้ผมเดินช้าลง หายใจลึกๆ พร้อมกับก้าวไปทีละก้าวให้สม่ำเสมอ เดินช้าๆเท่ากับจังหวะที่หายใจ ค่อยๆพาตัวเดินขึ้นเขาไปทีละก้าวๆ แปลกที่ไม่นาน ผมก็พาตัวเองขึ้นมาบนยอดเนินได้โดยไม่เหนื่อยอะไรมากนัก ตลอดเช้านั้นผมนั่งพักคุยกับแกเป็นระยะ ควันยาเส้นกะเหรี่ยงมวนใบกระโดนที่พี่หลงแบ่งปันให้ผมสูบไล่แมลงที่เริ่มบินมากัด
แต่ควันยาเส้นที่เราช่วยกันพ่นไล่แมลงกันทากหลายตัวที่ติดรองเท้าไต่ขึ้นมาถึงขาไม่ได้ ต้องคอยจับออกเป็นระยะๆ แต่หลายตัวก็ผ่านไปได้ถึงขา กางเกงยีนส์ที่ดึงขึ้นตรวจยาก และปากเบาๆของมันก็ทำให้ได้บริจาคเลือดให้ระบบนิเวศป่าทุ่งใหญ่ไปหลายแผล
ผมกับพี่หลงเดินทางสิบกว่ากิโลไมจนถึงปลายเนินแห่งหนึ่ง มีห้วยใสไหลผ่าน มีร่องรอยคนแวะพัก มีเศษถุงขนม กระป๋องน้ำอัดลมทิ้งอยู่ พี่หลงชวนผมพักกินข้าว
ผมไม่รู้ว่าแกแอบไปตัดต้นอะไรไม่รู้สีแดงๆมากำใหญ่ ตัดใบเหมือนข่าทิ้ง เหลือแต่ต้นแดงๆ แกวางมันบนใบไม้สีเขียว แล้วเราก็เอาข้าวห่อใบไม้ของเราออกมา พี่หลงรู้ว่าผมมีมาม่ามาด้วย แกขอเวลาก่อไฟแป๊บเดียว ผมเพิ่งเคยเห็นเทคนิคการเดินป่าแบบนี้เป็นครั้งแรก เมื่อพี่หลงไปเก็บกระป๋องน้ำอัดลมที่มีคนทิ้งไว้ไปล้าง กรอกน้ำห้วยใสเต็มกระป๋องนำมาวางข้างฟืนกองไฟ น้ำทั้งกระป๋องเดือดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ระหว่างรอน้ำเดือด เหมือนเนรมิตขึ้นมาในมือ พี่หลงตัดไม้ไผ่บ้องใหญ่สองฉั่วะ ผ่าครึ่ง ให้ผมเอามาม่าเท น้ำเดือดพอดีที่แกใช้ผ้าขาวม้าจับกระป๋องร้อนมาเทราดมาม่า กลิ่นหอมฟุ้งจนน้ำลายสอ
ข้าวที่เราห่อมา น้ำพริกแตงเปรี้ยว ผักเสี้ยนของน้องแป้ง เสริมด้วยต้นสีแดงๆที่พี่หลงไปตัดมากำหนึ่ง ซึ่งมีรสเปรี้ยวชื่นใจ เรากินข้าวห่อ ซดน้ำมาม่าในชามไม้ไผ่กันอย่างมีความสุข ข้างลำห้วยใสที่พี่หลงบอกว่าชื่อห้วย ช่องกะเตาะ
น้ำในลำห้วยช่องกระเตาะถูกแบ่งขึ้นมาใส่กระป๋องใบเดิม เพื่อต้มกาแฟ ถ้วยไม่ไผ่ที่พี่หลงทำให้ผมกับกาแฟในป่าถ้วยนั้น เป็นกาแฟที่อร่อยที่สุดของชีวิตแก้วหนึ่งจริงๆ
หลังมื้อข้าวแห่งความสุข เราพักกันอีกไม่นาน พี่หลงชวนผมเดินต่อ บอกว่าเรามาได้เกือบครึ่งทางแล้ว ตอนบ่ายๆคงต้องเร่งฝีเท้าและพักให้น้อยลง
บ่ายวันนั้น อุปสรรคใหญ่ของการเดินคือการขึ้นเขาสูงที่สุดบนเส้นทางเท้าที่ชาวบ้านใช้เดินถึงกัน นั่นคือทางขึ้น เขายูง ผมกางแผนที่ภูมิประเทศที่นำมาด้วยดูก็พบว่าเขาลูกนี้ทางขึ้นที่เราจะไปชันยาวเป็นกิโล พี่หลงเดินนำขึ้นไปก่อน ผมพาขาที่เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ขาหนีบที่สีกับกางเกงจนแทบไม่อยากก้าว ตามขึ้นไป ยังดีที่ใจยังสั่งการให้พาร่างและสัมภาระให้ขึ้นที่สูง ผมนึกถึงข้อเขียนที่เคยอ่านว่า บางทีการเดินขึ้นเขานี่อาจจะเป็นบททดสอบจิตใจของคนที่หนักที่สุดอย่างหนึ่งว่าใจเราจะพาเราขึ้นสูง หรือจะย่อมพ่ายกลับไปที่ต่ำ
ทางเดินขึ้นเขายูงหยุดพักไม่ได้ เพราะสองข้างทางที่เป็นพงต้นไม้ มีทากชูคอสลอนรอให้เราไปบริจาคเลือด นับว่าทากเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ผมเดินดุ่ม ปักไม้เท้าบนดินแข็งลื่นขึ้นไปเรื่อยๆ บนลมหายใจที่พี่หลงสอนมาตลอดทาง
เมื่อลมหายใจและร่างกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หัวใจที่ยังสู้ก็พาเราขึ้นสูงได้
พี่หลงนั่งสูบยาอยู่บนยอดเนินสูง มีรากไม้ใหญ่ที่คาดว่าใครๆก็ต้องมาพักเหนื่อยอยู่ รอยยิ้มของแก ทำให้ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่ยังมาได้ถึงตรงนี้
แกบอกว่า ขึ้นเขายูงได้ยังไงก็ไปถึง
ทางเดินต่อไปทุลักทุเลขึ้นเรื่อยๆ มีฝนตกปรอยเป็นระยะ ดีที่ไม้เท้าไม้ไผ่ท่อนนั้นยังช่วยพยุงชีวิตให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ตามจังหวะ ความเจ็บปวดที่ขาหนีบมากขึ้นแต่เริ่มคุ้นเคยจนลืมๆไปบ้าง อุปสรรคที่เผชิญใหม่คือช่วงผ่านป่าละเมาะที่พี่หลงพาตัดออกจากเส้นทางเพื่อลัดระยะ มีแอ่งปลักโคลนเป็นหย่อมๆให้เห็น คงใกล้ถึงหมู่บ้านแล้ว ร่องรอยว่าชาวบ้านบ้านทิไล่ป้า คงปล่อยควายมาเลี้ยงถึงนี่ ผมได้เรียนรู้ว่าที่แบบนี้นอกจากทากจะกัดขาแล้ว ตัวแมลงเรือดไร ตัวใหญ่กว่ายุงยังชุมและกัดได้กระทั่งที่หัว จนเจ็บคัน เลือดออกไปหลายแผล
พี่หลงพาผมมุดออกจากดงเรือด ตอนค่ำพอดี บอกว่าเราเริ่มเข้าเขตหมู่บ้านแล้ว แต่ต้องขึ้นเนินยาวอีกสามเนิน อาหารมื้ออร่อย ถูกใช้เป็นพลังงานหมดไปนานแล้ว ทางเดินช่วงนี้เป็นดินแข็งมาก พื้นรองเท้าบางๆที่สัมผัสดินแข็งสะท้านขึ้นมาถึงบ่าที่น้ำหนักเป้กดทับ ผมก็ไม่รู้ว่าพลังอะไรที่พาผมมาไกลถึงขนาดนี้ ดูในแผนที่พบว่าวันนี้เราเดินในระยะราบหลายสิบกิโลเมตร ถ้านับทางที่ขึ้นเนินลงเนินคงไกลกว่าระยะแผนที่หลายกิโลเมตร
ทางช่วงนั้นที่พี่หลงบอกเข้าเขตบ้านทำให้ผมจ้ำฝีเท้าเร็วขึ้น แต่จริงๆแล้วเราต้องเดินอีกสองชั่วโมง จึงเข้าถึงบ้านหลังแรกในหมู่บ้าน และเป็นทางอีกหลายร้อยเมตรกว่าจะถึงบ้านลุงหม่องเป ที่อีกฟากของห้วยทิไล่ป้า
คนเฒ่าร่างผอมเกร็งนั่งอยู่บนบ้านไม้กระดานหลังใหญ่ แกรู้จักผมอยู่ก่อนแล้ว เราทักทายกันก่อนที่ผมจะกระย่องกระแย่งเดินไปอาบน้ำที่ลำห้วยกับพี่หลงขิ่งโพ่
เมื่อถอดถุงเท้าออก เลือดจากแผลทากกัด ที่ติดมาหลายตัวก็คงไหลออกจากร่างกายที่เต็มไปด้วยรอยแผล ขาหนีบที่สีมากับกางเกงแสบจี๊ดเมือโดนน้ำเย็นเจี๊ยบ
หมู่บ้านกลางป่ากลางคืนมืดมิด ผมแช่ร่างที่เจ็บปวดลงในน้ำห้วย รอบตัวมีแต่ความมืด
ผมถามตัวเองว่า มาทำอะไรที่นี่
ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า
อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ