งานลาดตระเวน ความเสี่ยงที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต

งานลาดตระเวน ความเสี่ยงที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต

23 ตุลาคม 2561 มีข่าวของทีมค้นหาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ถูกน้ำป่าพัดหายไปขณะเดินทางกลับจากการลาดตระเวนว่า ได้พบศพของนายปกรณ์ ปักกะฐิน ห่างจากจุดเกิดเหตุไป 5 กม. ยังความเสียใจมาสู่เพื่อร่วมงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสาธารณชนที่เอาใจช่วยให้เขาปลอดภัย หลังจากที่มีข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนป่าของห้วยขาแข้งถูกน้ำป่าพัดพาร่างลอยหายไป 1 นาย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา

ปกรณ์ ปักกะฐิน หรือนิ่ม พนักงานราชการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นชาวจังหวัดบึงกาฬ เป็นชายหนุ่มที่สนใจงานอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงมาสมัครเป็นพนักงานพิทักษ์ป่าในพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่สำคัญ อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี กว่าหลายสิบปี ปกรณ์ ยังคงทำหน้าที่เดินลาดตระเวนป่ามาโดยตลอด

ด้วยวัย 34 ปี และยังไม่มีครอบครัว ปกรณ์ใช้ชีวิตอยู่ในผืนป่ามาโดยตลอด จนได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพื้นที่คนหนึ่ง ในการเดินลาดตระเวนทุกครั้งเขาจึงรับหน้าที่เป็นชุดระวังหน้า เดินนำเพื่อนๆในทีมอีก 4 ชีวิต

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้นำระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ในการป้องปรามผืนป่ามากว่า 10 ปี โดยมีสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (WCS) เป็นผู้สนับสนุนงานพัฒนาระบบพัฒนาบุคลากรและสนับสนุนการเดินลาดตระเวน

ระบบนี้มีส่วนสำคัญในการปกป้องรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่รวมถึงข้อมูลที่เก็บได้จากการลาดตระเวนยังสามารถนำมาใช้วางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งการบริหารจัดการพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะแบ่งออกเป็น 4 เขตจัดการ ปกรณ์ สังกัดอยู่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได ในเขตจัดการที่ 4 โซนล่างของห้วยขาแข้ง

บริเวณที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได จะอยู่ตรงจุดที่ลำห้วยแม่ดีไหลมาจากพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านนอกเขตอนุรักษ์ทางด้านทิศตะวันออก ไหลลงมาทางด้านทิศตะวันตก จนมาบรรจบกับลำห้วยขาแข้ง ลำน้ำสายหลักของผืนป่าอนุรักษ์แห่งนี้ และไหลมารวมกับแม่น้ำแม่กลองที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ 

ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม เป็นต้นมา เกิดฝนตกหนักบริเวณตำบลแก่นมะกรูด ได้พัดพามวลน้ำ ท่อนไม้ และดินโคลนเป็นจำนวนมากลงสู่ลำห้วยแม่ดี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ระหว่างเดินทางกลับมาที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได ระหว่างทางจะต้องว่ายน้ำข้ามลำห้วย 2 สาย คือ ลำห้วยขาแข้ง จากนั้นจะใช้แพไม้ไผ่ข้ามต่อ เมื่อมาถึงฝั่งสามแยกห้วยขาแข้งกับห้วยแม่ดี จึงได้วางเป้ลง เพื่อเดินหาจุดข้ามน้ำห้วยแม่ดีมายังหน่วยพิทักษ์ฯ ซึ่งจุดข้ามอยู่ห่างจากจุดวางเป้ ประมาณ 150 เมตร

เมื่อมาถึงบริเวณจุดที่คาดว่าจะว่ายน้ำข้ามได้ ซึ่งในขณะนั้นน้ำในห้วยแม่ดีไหลเชี่ยว และมีปริมาณน้ำมาก ปกรณ์ เป็นคนแรกที่กระโดดลงไป เพื่อนของเขาที่อยู่ในชุดลาดตระเวนเล่าว่า สังเกตเห็น ปกรณ์ ถูกน้ำตีกลับเข้ามาในฝั่งแต่ยังเห็น ปกรณ์ลอยตัวอยู่ในน้ำ จึงกระโดดตามลงไป แต่เมื่อขึ้นฝั่งหน่วยพิทักษ์ป่าแม่ดี กลับมองไม่เห็นปกรณ์จึงได้ร่วมกันค้นหา แต่บริเวณดังกล่าวมีปริมาณน้ำมาก และไหลเชี่ยว ไม่สามารถลงไปค้นหา จึงออกเดินหาในพื้นที่ใกล้เคียงแต่ไม่ก็พบ เลยรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาให้ทราบ

จนวันที่ 23 ตุลาคม จึงพบร่างไร้ชีวิตของปกรณ์ บริเวณริมลำห้วย ห่างจากจุดเกิดเหตุถึง 5 กม.

จากข้อมูลสำรวจการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก ที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากหลากหลายประเทศเมื่อปี 2559 พบว่าเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมีโอกาสพบความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการเดินลาดตระเวน และสัตว์ป่าทำร้าย สูงถึง 35% จากที่ตอบแบบสอบถามเรื่องนี้ 63%

 

 

วันนี้ เหตุการณ์ของปกรณ์เป็นภาพตัวแทนของคนทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ยังคงมีเสี่ยงระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลาการมอบหลักประกันในการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าทั้งประกันชีวิต และสวัสดิการต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้มีความเสี่ยงเกิดความอุ่นใจเมื่อต้องออกปฏิบัติหน้าที่

แต่เรื่องสำคัญที่ต้องทำให้มากขึ้นคือการพัฒนาศักยภาพคนทำงานให้มีความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดอัตราการสญญเสียให้มากที่สุด

จะทำอย่างไรให้คนทำงานลดความเสี่ยงได้มากที่สุด คือเป้าหมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกันคิดและแก้ไข ในส่วนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเองก็จะวางไว้เป็นเป้าหมายในการดำเนินการต่อไปในอนาคตเช่นกัน

 


เรื่อง ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ้างอิง Ranger Perception: Asia