การพัฒนาที่ยั่งยืน บนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

การพัฒนาที่ยั่งยืน บนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ในบทบาทการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนทั่วไปอาจมองแค่บริบทการทำงานในผืนป่าตะวันตกเพียงอย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงมูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำงานด้านชุมชนในป่า โดยหาแนวทางจัดการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จากการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอดทำให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีมิติในการมองการพัฒนาประเทศที่แตกต่าง พบว่า ความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กับแนวทางพัฒนาประเทศควรจะเดินไปให้สอดคล้องกันอย่างไร

เรื่องที่ควรถอดรหัสมองเป็นอย่างแรก คือ ทรัพยากรป่าไม้ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีแผนหลากหลายยุทธศาสตร์ กฎหมาย แต่ผลที่ออกมากลับสะท้อนภาพให้เห็นว่า วิธีคิดกับวิธีปฏิบัติไปด้วยกันได้ยาก เหตุเกิดจากคุณภาพบุคลากรส่วนมากยังคงไม่มีความพร้อม

สิ่งสำคัญคือควรนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพราะคนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเข้ามาจัดการได้ ซึ่งต้องเป็นวิธีปรับปรุงแนวคิด ทัศนคติของคนในประเทศ การปรับแผน และวิธีปฏิบัติ จะอาศัยแต่การเพิ่มกฎหมายให้รุนแรงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ก็คงไม่มีผลหากวิธีคิดยังไม่ปรับตาม

แท้จริงแล้วควรเปลี่ยนโจทก์เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนจะตรงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

เหตุผลที่ให้ความสำคัญต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ เพราะโลกปัจจุบันมีเพียง 2 ระบบใหญ่ คือ ระบบทุนนิยม และสังคมนิยม เศรษฐกิจพอเพียงควรจะเป็นระบบทางเลือกที่ทั่วโลกสามารถนำไปปรับใช้ รวมทั้งประเทศที่ล้มเหลวจาก ระบบสังคมนิยม และทุนนิยม เป็นสิ่งที่ควรต้องหยิบยกขึ้นมาเพราะว่าสามารถจับต้องได้จริง

THAILAND 4.0 คือกับดักของตัวเลขรายได้ประชากรที่ต้องการให้รวยขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะนำมาสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ได้อย่างไร เพราะเป็นกระบวนการใช้ทรัพยากรของชาติให้หมดไป เพื่อที่จะได้มาซึ่งระบบเศรษฐกิจที่ดี ส่วนปัญหาปากท้องความยากจนนั้น มองเป็นอันดับสองในรูปแบบการกระจายรายได้จากโครงการใหญ่ๆ ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมมองเป็นเรื่องสุดท้าย หากเป็นอย่างนี้พื้นที่ป่าไม้ของไทยคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทรัพยากรป่าไม้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยมีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และภาคประชาชนมีส่วนสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และเข้ามาร่วมในการฟื้นฟูพัฒนาประเทศ รัฐต้องมีกลไกการมีส่วนร่วมให้คนเข้ามาร่วมรักษาในรูปแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพราะชาวบ้านจะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมดูแลอย่างแท้จริง

สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่อยากจะเสนอให้ทำมากที่สุดอาจเกี่ยวพันกับหน่วยงานต่างๆ อย่างการรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เป็นเรื่องแรกที่จะต้องทำ เป็นเรื่องของการรักษาและฟื้นฟูให้คงอยู่ให้ได้

อีกทั้งการกระจายการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม หมายถึงมีกติกาให้ทุกคนเข้าใช้ประโยชน์และร่วมกันการดูแลปกป้องในรูปแบบต่างๆ อย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ใครคนใดเพียงคนหนึ่งเป็นเจ้าของ

รวมถึงใช้ฐานของคนส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มองว่าควรทำให้คนเกิดการรับรู้ เพราะจะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ ส่วนความมั่งคั่งมีอยู่แล้วคือทรัพยากร

สิ่งที่อยากจะชวนให้ร่วมกันทำ คือ (1) ระดมสรรพกำลัง และความร่วมมือ ในการร่วมกันฟื้นฟูดูแลทรัพยากร หน่วยงานรัฐต้องเปิดกว้างมากกว่านี้ จะได้เป็นประชารัฐเต็มรูปแบบ (2) ลดการปลูกพืชเชิงเดียว และการใช้เคมีไม่ให้ขยายเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ (3) ฟื้นคืนชีวิตให้ผืนดิน เป็นการมองว่าเราใช้ประโยชน์จากดินเราควรบำรุงรักษา (4) ป้องการการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปราบปรามการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เพราะเป็นปัญหาระดับชาติ

(5) ปรับปรุงคุณภาพผืนป่า และพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งชุมชนและในเมือง หน่วยงานอย่างกรมป่าไม้ควรดูแลป่าสงวนให้มากกว่าเดิม และลดภารกิจของหัวหน้าป่าสงวนลง และมาป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง (6) การใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและยุติธรรม หาสมดุลระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอำนาจ ทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม (7) ยุติการลดลงของพื้นที่ป่า และเพิ่มพื้นที่ป่า


ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร