แถลงการณ์แสดงความห่วงใย ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. ประเด็นการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่าอนุรักษ์
ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขล่าสุด ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 และร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขล่าสุด ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้พิจารณาแล้ว และขอแสดงความห่วงใยในส่วนของการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่าอนุรักษ์ ตามร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ….. มาตรา 52 และร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. มาตรา 107
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความต้องการแก้ไขปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์มีสามเรื่องที่ต้องพิจารณาและปฏิบัติ โดยการยึดหลักความ เป็นจริง เป็นธรรม และ เป็นไปได้ ดังนี้
1. เป็นจริง คือ ชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์จริง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมควรมีกฎหมายยอมรับว่ามีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และต้องบริหารจัดการบนพื้นฐานการรักษาคุณค่าของระบบนิเวศและพอสมควรกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน
2. เป็นธรรม คือ การให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ควรมีสิทธิในการอยู่อาศัย แต่ชุมชนที่ได้สิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าต้องไม่บุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม รัฐต้องมีกระบวนการทำงานกับชุมชนอย่างเป็นมิตร ทำข้อตกลงอย่างมีส่วนร่วมให้อยู่กันอย่างสงบสุข ตกลงแนวเขตบนพื้นฐานของข้อมูลที่สมเหตุสมผล โดยต้องไม่ทำลายหรือกระทบระบบนิเวศป่าไปมากกว่าเดิม
3. เป็นไปได้ คือ ทั้งสองข้อที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องมีข้อกฎหมายและการบริหารจัดการที่เป็นไปได้นั่นคือ ต้องยอมรับสภาพความจริงที่มีชุมชนอยู่เกินมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เป็นจำนวนมาก แต่การที่จะให้ชุมชนอยู่โดยมิมีขอบเขตจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว ต้องเปิดโอกาสให้มีการสำรวจแนวเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างข้อตกลงที่สามารถให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ป่าและร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป
ดังนั้น การไปจำกัดสิทธิชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในการอยู่อาศัยหรือทำกินเป็นการชั่วคราว โดยต้องไม่เกินยี่สิบไร่ต่อครอบครัว และมีกำหนดเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินยี่สิบปี จะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบมากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา ทั้งจากฝ่ายชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเห็นว่าการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่าอนุรักษ์ ตามร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว อาจนำไปสู่การไม่ยอมรับและไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้จริง และควรต้องเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยเร็ว
1 กุมภาพันธ์ 2560
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร